สำหรับผู้สนใจ
ของศักดิ์สิทธิ์มีพลังมากขึ้นนั้น ต้องอาศัย"หัวใจของผู้บูชา"ด้วยเช่นกัน
***เคล็ดความศักดิ์สิทธิ์***
จะให้ของศักดิ์สิทธิ์มีพลังมากขึ้นนั้น ต้องอาศัย"หัวใจของผู้บูชา"ด้วยเช่นกัน
จะให้ของศักดิ์สิทธิ์มีพลังมากขึ้นนั้น ต้องอาศัย"หัวใจของผู้บูชา"ด้วยเช่นกัน
ยิ่งศรัทธามากเท่าไหร่ ยิ่งขลังมาก!!!
ยิ่งมากคนบูชา ยิ่งมากความศักดิ์สิทธิ์
พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร) วัดถ้ำผาปล่อง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
พระญาณสิทธาจารย์
|
(หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)
|
วัดถ้ำผาปล่อง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
|
โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๑๒
|
จัดพิมพ์เป็นธรรมบรรณาการ
|
สำหรับผู้ร่วมบริจาค
|
กองทุนพระมหาธาตุมณฑปอนุสรณ์บูรพาจารย์
|
และโครงการหนังสือบูรพาจารย์
|
วัดป่าอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต)
|
บ้านแม่กอย ต.เวียง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
|
เรียบเรียงโดย รศ.ดร.ปฐม -รศ.ภัทรา นิคมานนท์
|
เดือนมกราคม ๒๕๕๐
|
โดยได้รับอนุญาตจากผู้เรียบเรียง
|
ท่านเจ้าคุณพระญาณสิทธาจารย์ หรือ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโรแห่งสำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระมหาเถราจารย์ที่มีศีลาจารวัตรงดงามอย่างเสมอต้นเสมอปลายตลอดสายในชีวิตการเป็นนักบวชของท่าน
หลวงปู่เป็นศิษย์รุ่นอาวุโสของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน
หลวงปู่มั่นได้เคยพูดถึงหลวงปู่สิม สมัยยังเป็นพระน้อยพระหนุ่ม ต่อหน้าพระเถระบางรูป ในเชิงพยากรณ์และด้วยความชื่นชมว่า “...ท่านสิม เป็นดอกบัวที่ยังตูมอยู่ เบ่งบานเมื่อใดจะหอมกว่าหมู่...”
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงยกย่องหลวงปู่สิม ว่า “เป็นผู้มีศีลงดงาม” โดยมีพระลิขิตดังนี้ : -
“ท่านเจ้าคุณพระญาณสิทธาจารย์ (สิม พุทฺธาจาโร) เป็นผู้มีศีลงดงาม บรรดาผู้รู้จักท่านย่อมเห็นชัด ว่าชีวิตของท่านรับรองพุทธศาสนสุภาษิตที่อัญเชิญไว้เบื้องต้น อย่างชัดเจน “
สำหรับพุทธภาษิตที่ท่านเจ้าประคุณ สมเด็จฯ ทรงอัญเชิญมาอ้างอิงนี้ ความว่า : -
“สีลํ เสตุ มเหสกฺโข สีลํ คนฺโธ อนุตฺตโรสีลํ วิเลปนํ เสฏฐํ เยน วาติ ทิโส ทิสํศีลเป็นสะพานอันมีศักดิ์ใหญ่ ศีลเป็นกลิ่นที่ไม่มีกลิ่นอื่นยิ่งกว่าศีลเป็นเครื่องลูบไล้อันประเสริฐ ซึ่งขจรไปทั่วทุกทิศ”
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงอธิบายขยายความพุทธภาษิตข้างต้นต่อไปว่า : -
“ศีลเป็นสะพานทอดนำไปสู่ฐานะที่สูง คนทั้งหลายไม่ว่าตนเองจะมีศีลหรือไม่ ใจก็ย่อมยกย่องนับถือผู้มีศีล
ท่านเจ้าคุณพระญาณสิทธาจารย์เป็นผู้มีศีล ศีลที่นำท่านสู่ฐานะที่สูงขึ้นเป็นลำดับ ไม่เพียงสูงขึ้นด้วยสมณศักดิ์ที่ได้รับพระราชทานเลื่อน แต่สูงขึ้นด้วยฐานะในความรู้สึกนึกคิดจิตใจของผู้ที่รู้จักท่าน แม้เพียงโดยกิตติศัพท์โดยชื่อ
ศีลมีกลิ่นหอมไกลยิ่งกว่ากลิ่นใดอื่น กลิ่นเครื่องร่ำน้ำหอมหรือกลิ่นบุปผามาลัยใดๆ ก็ตาม ก็มีอยู่ในขอบเขตและกาลสมัยใกล้เคียง แต่กลิ่นศีลหามีเวลามีขอบเขตไม่ ข้ามน้ำข้ามทวีปข้ามกาลเวลา ข้ามยุคสมัย ไกลเท่าไกลได้ทั้งสิ้น
ท่านเจ้าคุณพระญาณสิทธาจารย์ เป็นผู้มีศีล ชื่อเสียงของท่านเป็นที่รู้จักอย่างดียิ่ง ในนามหลวงปู่สิม ผู้งดงามด้วยความปฏิบัติเคร่งครับในศีล ขจรไกลไปทั้งในหมู่ผู้ที่ไม่เคยพบเคยเห็นท่านเลย
ศีล เป็นเครื่องลูบไล้อันดีเลิศ เครื่องประทิ่นทั้งหลายไม่ทำให้เกิดคุณค่าเสมอศีล เพราะเครื่องประทิ่นทั้งหลายย่อมคลายคุณสมบัติได้ในเวลาไม่นาน
แต่ตลอดกาล ศีลที่มีประจำใจจะส่งประกายใสสว่างอย่างงดงามครอบคลุมอยู่
ความเป็นผู้สงบงดงามเป็นปกติด้วยกิริยาวาจานั้น เกิดจากความมีศีลที่ใจ
ท่านเจ้าคุณพระญาณสิทธาจารย์ นั้นเป็นที่รู้ไกล ว่ามีศีลเครื่องลูบไล้อันประเสริฐ กิริยาท่านสงบเป็นปกติ วาจาท่านสงบเป็นปกติผู้ได้พบได้เห็นได้สนทนาวิสาสะ ย่อมประจักษ์แจ้งใจในคุณอันควรอนุโมทนาสาธุการของท่าน”
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
และพระพุทธพจนวราภรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่สิม
|
หลวงพ่อ พระพุทธพจนวราภรณ์ แห่งวัดเจดีย์หลวงวรวิหารเชียงใหม่ สมัยดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมดิลก ได้เขียนถึงคุณธรรมของ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ไว้อย่างครอบคลุม ด้วยข้อเขียนเพียงสั้นๆ สองหน้ากระดาษ ภายใต้ชื่อเรื่องว่า “หลวงปู่ผู้ทรงคุณ”
ผมขออัญเชิญข้อเขียนของหลวงพ่อ มาเสนอ ณ ที่นี้อย่างเต็มๆ โดยไม่มีการตัดทอนเลย ดังต่อไปนี้ : -
“บรรดาพระเถระกัมมัฏฐานที่มีปฏิปทาตามสาย หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต มีอยู่หลายรูป อาทิ หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว เชียงใหม่ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณานิคม สกลนคร หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล อำเภอหนองบัวลำภู อุดรธานี (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดหนองบัวลำภู) พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท) วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ อุบลราชธานี พระราชนิโรธรังสี (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี) อำเภอศรีเชียงใหม่ หนองคาย พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง อุดรธานี หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต วัดภูจ้อก้อ อำเภอคำชะอี (ปัจจุบัน อำเภอหนองสูง) มุกดาหาร พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร) สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อำเภอเชียงดาว เชียงใหม่
พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร) เป็นพระมหาเถระผู้ใหญ่มีอายุพรรษามาก ปฏิปทาหลักของหลวงปู่สิม คือ พระกัมมัฏฐาน หรือ พระธุดงค์
ท่านจะจาริกแสวงหาความสงบวิเวกไปในถิ่นต่างๆ ตามชนบทป่าเขา ณ ที่ใดให้ความสงบสงัด ก็จะพักอยู่เพื่อปฏิบัติธรรม และโปรดญาติโยมด้วยการจาริกออกบิณฑบาต พร้อมกับเทศนาสั่งสอนเผยแผ่หลักธรรมวินัย เป็นการให้แสงสว่างทางใจ ให้ชาวชนบทรู้จักบุญ รู้จักบาป รู้จักคุณ รู้จักโทษ
หลวงปู่ มีความขยันในการเทศนาสั่งสอน ทุ่มเทเสียสละในการเผยแผ่พระธรรม โดยสม่ำเสมอตลอดมา
คำสอนของหลวงปู่ จะตักเตือนให้เกิดความสำนึกในเรื่องความไม่ประมาท เช่นสอนว่า ชีวิตของคนเราแค่ลมหายใจเข้า-ออก สูดเข้าไปแล้วออกมาไม่ได้ก็ตาย ออกมาแล้วสูดเข้าไปไม่ได้ก็ตาย ผู้ใดไม่นึกถึงความตายที่จะมาถึงตน ผู้นั้นชื่อว่าเป็นคนประมาท
คำสอนของหลวงปู่บางประโยค ก็เป็นปรัชญา ที่ชวนให้คิด เช่น สอนว่า ใจเราไปติดกิเลส ไม่ใช่กิเลสมาติดอยู่ในใจของเรา
และ สอนว่า ...จึงหลงศีล หลงธรรม หลงคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่าอยู่ที่อื่น ความจริงอยู่ที่กาย วาจา จิต ของคนเราทุกคน
หลวงปู่สิม นอกจากจะมีปฏิปทาหนักไปในทาง ธุดงควัตร แสวงหาความสงบสงัดตามป่าเขาแล้ว ท่านยังมีผลงานในทางสร้างสรรค์ศาสนาวัตถุ ศาสนสถานด้วย ผลงานในด้านนี้ คือ วัดสันติธรรม ณ หมู่บ้านสันติธรรม อำเภอเมือง เชียงใหม่
หลวงปู่ ได้เป็นประธานสร้างวัดขึ้นในบริเวณนั้นก่อน ขณะที่เริ่มสร้างวัด ที่ดินบริเวณนั้นยังเป็นไร่เป็นนา มีบ้านอยู่ไม่กี่หลัง
เมื่อหลวงปู่สร้างวัดแล้ว ได้ตั้งชื่อว่า วัดสันติธรรม หมู่บ้านจึงได้ตั้งชื่อตามวัดว่า หมู่บ้านสันติธรรม
เมื่อมีวัดมีพระสงฆ์สามเณรอยู่เป็นหลักฐาน หลวงปู่ก็จัดให้มีการศึกษาพระปริยัติธรรม มีการเปิดสอนนักธรรมตรี โท เอก และสอนแผนกบาลีไวยากรณ์ ขึ้นโดยลำดับ
วัดสันติธรรม นอกจากจะเป็นวัดที่เน้นหนักในการให้การศึกษาอบรมธรรมปฏิบัติ แก่พระสงฆ์สามเณรและพุทธบริษัทที่ใฝ่ปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานแล้ว ยังเป็นสำนักเรียนที่มีผลงานในด้านการศึกษาปริยัติธรรมอีกสำนักหนึ่งในปัจจุบัน
แสดงว่า หลวงปู่สิม ท่านส่งเสริมการศึกษาธรรมวินัยคู่กันไปกับการปฏิบัติธรรม บำเพ็ญเพียรทางจิตใจ
เมื่อวัดสันติธรรม ได้ทำการพัฒนาเจริญขึ้นโดยลำดับ หลวงปู่จึงมอบการบริหารวัดให้แก่ พระครูสันตยาธิคุณ (สมณศักดิ์สุดท้าย คือ พระนพีสีพิศาลคุณ - หลวงพ่อพระมหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต) ซึ่งเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ รับผิดชอบบริหารสืบต่อมา
ส่วนหลวงปู่ได้ออกจาริกเดินธุดงค์ไปตามสถานวิเวกในป่าเขา จนกระทั่งปี พ ศ ๒๕๑๐ หลวงปู่ได้ไปปฏิบัติเจริญสมณธรรมที่ถ้ำผาปล่อง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
ถ้ำผาปล่อง ดอยหลวงเชียงดาว สมัยนั้น เป็นป่าพงรกทึบเป็นที่อาศัยอยู่ของสิงสาราสัตว์ ผู้มีจิตหวั่นไหว ไม่รักสงบ ไม่ทุ่มเทเพื่อคุณธรรมเบื้องสูงแล้ว ก็ยากที่จะอยู่ในที่สงบสงัดและเสี่ยงต่ออันตรายเช่นนั้นได้
ด้วยปฏิปทาที่สงบแนวแน่ มุ่งสู่กระแสธรรม ด้วยพลังใจที่ยิ่งใหญ่ด้วยการเสียสละที่สูงส่งของหลวงปู่
กาลเวลาผ่านไปไม่กี่ทศวรรษ ผู้ทำให้ถ้ำผาปล่อง กลายเป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่สำคัญยิ่ง เป็นศาสนสถานที่สวยงาม ก่อให้เกิดศรัทธาปสาทะแก่ผู้ที่ได้เห็นได้สัมผัส นับเป็นบุญสถาน บุญเขต ที่อำนวยประโยชน์แก่สาธุชนทุกถ้วนหน้า
ทั้งนี้ เนื่องด้วยบุญญาบารมีของหลวงปู่ ที่ได้ทุ่มเทเสียสละร่างกายและชีวิต อุทิศแด่พระศาสนาอย่างแท้จริง นั่นเอง
สมกับที่หลวงปู่สอนไว้ว่า “มรรคผลนิพพาน ก็ไม่ต้องไปหาที่อื่น มันอยู่ที่ความเพียร ความขยัน ความอดทน ความหมั่น ในการภาวนาไม่ขาด”
สำหรับท่านเจ้าคุณพระสุธรรมคณาจารย์ หรือหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ แห่งวัดอรัญบรรพต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย สหธรรมิกผู้เคยร่วมธุดงค์กับหลวงปู่ ได้เขียนคำไว้อาลัย ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ มีใจความดังนี้ :-
“เมื่อปี พ ศ ๒๔๘๒ ข้าพเจ้าได้พบกับหลวงปู่สิม ที่วัดโรงธรรม (วัดโรงธรรมสามัคคี) อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
ท่านมีพรรษาแก่กว่าข้าพเจ้าสามพรรษา ท่านมีนิสัยใจคอเยือกเย็นดี ถูกนิสัยกันกับข้าพเจ้า
เคยได้เที่ยวธุดงค์ด้วยกันตามถ้ำ ภูเขา ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้จำพรรษาร่วมกับท่านสามพรรษา
นับว่าท่านเป็นบัณฑิตผู้หนึ่งในพุทธศาสนานี้ และก็นับว่าท่านมีอายุยืนรูปหนึ่ง ท่านมรณภาพอายุได้ ๘๓ ปี
หลวงปู่บุดดา ถาวโร
|
หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
|
ควรที่กุลบุตรผู้บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาจะถือเอาเป็นเยี่ยงอย่างในทางประพฤติพรหมจรรย์
การจากไปของท่านหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ในครั้งนี้ (วันศุกร์ที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕) ย่อมเป็นที่อาลัยของสานุศิษย์ทั้งหลายโดยแท้ แม้ข้าพเจ้าก็อาลัยถึงท่านเหมือนกัน
แต่เมื่อมาพิจารณาถึงสังขารธรรมทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วก็ปลงลงได้ว่า ทุกคนต้องตายด้วยกันทั้งหมด ต่างแต่ก่อนและหลังกันเท่านั้น
แต่ข้อสำคัญก็คือ การละชั่วแล้วทำดีให้สูงขึ้นไปโดยลำดับนั้นแหละ เราจะได้ความอุ่นใจในเวลาจวนจะสิ้นชีพทำลายขันธ์ฉะนี้แลฯ”
พระมหาเถระอีกองค์ที่เขียนคำไว้อาลัย ไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ ก็คือ หลวงปู่บุดดา ถาวโร แห่งวัดกลางชูศรีเจริญสุข อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี
หลวงปู่บุดดา ได้กล่าวถึงความตายโดยกลางๆ ทั่วไปว่า : -
“เป็นคนเป็นสัตว์ มันก็มีเกิดมีตาย
ธรรมะ ไม่เกิด ไม่ตาย มีแต่เกิด-ดับ
กิเลส ตายไปแล้ว ไม่มาอีก
เหลือแต่ นิโรโธ นิพพานัง”
เป็นอันว่าในตอนเริ่มเรื่อง คือหัวข้อที่ ๑ นี้ ผมได้คัดลอกข้อเขียนของพระมหาเถระ ครูบาอาจารย์ ๔ องค์ มานำเสนอไว้อย่างครบถ้วน เพราะผมเองไม่มีวิธีเขียนเริ่มเรื่องอย่างใดที่จะครอบคลุม และสมบูรณ์มากยิ่งไปกว่านี้ได้แล้วครับ
หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร จัดเป็นเพชรน้ำเอกองค์หนึ่งในวงพระกรรมฐาน ศิษย์พระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต
องค์หลวงปู่มั่น เคยได้ปรารภกับศิษย์รุ่นใหญ่ของท่านในเชิงเป็นการพยากรณ์ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร เมื่อครั้งยังเป็นพระหนุ่มร่วมอยู่ในกองทัพธรรม ว่า
“...ท่านสิมเป็นดอกบัวที่ยังตูมอยู่ เบ่งบานเมื่อใดจะหอมกว่าหมู่”
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ก็เคยกล่าวถึงคำพยากรณ์ของพระอาจารย์ใหญ่เหมือนกัน ก่อนที่จะเดินทางจากเชียงใหม่กลับไปพำนักประจำที่จังหวัดนครพนม บ้านเกิดของท่าน ในปี พ ศ. ๒๕๑๖ ก่อนท่านมรณภาพเพียง ๑ ปี
หลวงปู่ตื้อ ได้ไปเยี่ยม หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ช่วงที่ท่านยังพำนักที่ วัดโรงธรรมสามัคคี อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ในปี๒๕๑๖ ดังกล่าว
ในการปราศรัยสนทนากันช่วงหนึ่ง หลวงปู่ตื้อได้บอกกับหลวงปู่สิม ว่า
“...ผมมีความลับจะบอกท่านอยู่เรื่องหนึ่ง ผมรักษาเอาไว้ ๓๔ ปีนี่แล้ว เมื่อครั้งที่หลวงปู่มั่นยังอยู่ที่เชียงใหม่ ก่อนท่านจะกลับไปอุดร ท่านได้พยากรณ์ไว้ว่า ศิษย์รุ่นต่อไปที่จะมีชื่อเสียงโด่งดัง คือท่านสิม กับท่านมหาบัว...”
ท่านสิม ก็คือ พระญาณสิทธาจารย์ หรือ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร แห่งสำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อำเภอเชียงดาว เจ้าของประวัติในหนังสือเล่มนี้
ส่วน ท่านมหาบัว ก็คือ พระธรรมวิสุทธิญาณ หรือ หลวงตาพระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งพวกเราต่างก็ตระหนักถึงกิตติศัพท์กิตติคุณของท่านเป็นอย่างดีแล้ว
สำหรับองค์หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร จัดเป็นศิษย์รุ่นแรกๆของหลวงปู่มั่น ท่านมีบทบาทสำคัญยิ่งในการเผยแผ่ธรรมะปฏิบัติสู่พุทธศาสนิกชนจนเป็นที่เคารพศรัทธาอย่างกว้างขวาง
เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของหลวงปู่สิม คือ การพานั่งขัดสมาธิเพชรและการยกมรณานุสติกรรมฐานไว้เป็นกรรมฐานชั้นเอก
หลวงปู่เน้นย้ำเสมอว่า “การนั่งสมาธิภาวนา ใจต้องเด็ด นั่งขัดสมาธิเพชรนี่แหละ จะช่วยให้จิตใจอาจหาญขึ้นมาได้ โดยน้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งก่อนตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงนั่งขัดสมาธิเพชรใต้ต้นโพธิ์ เอาชีวิตเป็นเดิมพัน แลกกับการตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ”
หลวงปู่สอนว่า “การปฏิบัติจะให้ได้ผลต้องปล่อยวางร่างกายลงไป ปล่อยวางความมั่นหมายในรูปร่างกาย อันเป็นก้อนเกิด ก้อนแก่ ก้อนเจ็บ ก่อนตาย อันนี้
ทั้งต้องระลึกถึงความตายให้ได้ทุกลมหายใจเข้าออกจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท”
ด้วยปฏิปทาที่เด็ดเดี่ยวอาจหาญของหลวงปู่ ด้วยลีลาการเทศนาธรรมที่ยังดวงจิตดวงใจของผู้ฟังธรรมให้เข้าสู่ความสงบระงับได้อย่างรวดเร็ว และด้วยรอยยิ้มที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมอันบริสุทธิ์ สานุศิษย์ของท่านจึงเพิ่มมากขึ้น มากขึ้นเรื่อยๆ จนนามของท่านเป็นที่รู้จักและกล่าวขานกันทั่วไปในหมู่ผู้สนใจในธรรมปฏิบัติทั่วทั้งประเทศ
หลวงปู่จึงเป็นเสมือนเพชรน้ำเอก ในหมู่พระกรรมฐาน สมดัง
คำพยากรณ์ของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ดังกล่าวมาแต่ต้นแล้วว่า : -
“...ท่านสิมเป็นดอกบัวที่ยังตูมอยู่ เบ่งบานเมื่อใด จะหอมกว่าหมู่...”
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่
| |
หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร
|
หลวงตาพระมหาบัว
ญาณสมฺปนฺโน |
ท่านผู้อ่านครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของผมเอง ที่บังอาจแต่งตั้งหรืออุปโลกน์ตัวเองว่าเป็น “ศิษย์” ของหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ทั้งๆ ที่มีโอกาสได้กราบองค์ท่านแค่ ๓ ครั้งเท่านั้นเอง
ท่านผู้อ่านที่ไม่แน่ใจว่า เมื่ออ่านเรื่องนี้แล้ว “ต่อมหมั่นไส้” อาจเกิดการกำเริบได้ ก็ขอให้ข้ามไปอ่านตอนอื่นได้นะครับ
ผมได้กราบ องค์หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ที่ถ้ำผาปล่องครั้งแรกในปี ๒๕๒๔ ต้องเดินทางไปจากกรุงเทพฯ ถึงสองครั้งจึงได้กราบองค์ท่านดังประสงค์
ไปครั้งแรกต้องชวดการกราบหลวงปู่ด้วยอาการ “ปรามาส” องค์ท่านเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จริงๆ
ต้องขออนุญาตเล่าเรื่องส่วนตัวเพื่อย้อนเรื่องสักนิดนะครับ คือผมไปทำปริญญาโท (ใบที่สอง) ที่ประเทศอังกฤษอยู่ปีครึ่ง กลับมาเมืองไทยระยะหนึ่ง แล้วก็ไปทำปริญญาเอกที่ประเทศแคนาดาอีกสามปีครึ่ง
ระหว่างอยู่ต่างประเทศก็เริ่มสนใจธรรมะ และฝึกทำสมาธิได้ผลดีพอสมควรแล้ว แต่ไม่ค่อยรู้จักพระสงฆ์ที่เป็นครูบาอาจารย์ในเมืองไทย
ปีแรกที่ผมกลับจากประเทศแคนาดา คือปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ผมมีโอกาสเดินทางไปเชียงใหม่ ไปเก็บข้อมูลที่ อำเภอพร้าว มีลูกศิษย์ที่ทำงานที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเชียงใหม่เป็นมัคคุเทศก์ผู้นำทาง
ผมเป็นหัวหน้าทีม มีลูกศิษย์ปริญญาโทจากกรุงเทพฯไปด้วย ๔-๕ คน ในเชียงใหม่ได้อาศัยรถยนต์ของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเชียงใหม่ เป็นพาหนะเดินทางตลอดรายการ
นอกจากเก็บข้อมูลเพื่องานวิจัยแล้ว ผมบอกลูกศิษย์ผู้นำทางว่า ต้องการไปกราบพระด้วย ซึ่งตอนนั้นผมรู้จัก (เคยได้ยิน) พระเชียงใหม่เพียงองค์เดียว คือ หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ แห่งวัดดอยแม่ปั๋ง ซึ่งท่านมรณภาพแล้ว
ส่วนพระดังอีกองค์ก็คือ พระอาจารย์นิกร แห่งดอยนางแล ตอนนั้นท่านกำลังดังมาก หากโชคดีผมคงได้ถวายตัวเป็นลูกศิษย์ก็ได้ ความตั้งใจเป็นอย่างนั้นจริงๆ
ลูกศิษย์ก็ยินดีพาไปตามความประสงค์ของผม แต่เธอได้แนะนำผมว่า “อาจารย์ไม่ไปกราบหลวงปู่สิม ที่ถ้ำผาปล่องด้วยหรือ ท่านกำลังดังในขณะนี้” พร้อมทั้งเสนอแนะเส้นทางว่าเราควรไปทางอำเภอเชียงดาว กราบหลวงปู่สิมก่อน แล้วจึงไปทางอำเภอพร้าวก็สามารถไปได้ภายในวันเดียว
ผมขอสารภาพว่าตอนนั้น ผมไม่เคยได้ยินชื่อหลวงปู่สิมจริงๆ จึงเป็นการพูดในลักษณะปรามาสท่านว่า “ไม่เป็นไรหรอก ไปทางอำเภอพร้าวก่อน แล้วจึงมาทางเชียงดาว จะได้กราบหลวงปู่สิมหรือไม่ก็ไม่ว่าอะไรหรอก”
ดูซีครับ ผมเลือกไปกราบ พระอาจารย์นิกร แทนการไปกราบ หลวงปู่สิม
เอาเป็นว่าผมและคณะได้แวะไปกราบบารมีหลวงปู่แหวน ที่ดอยแม่ปัง แล้วไปทำธุระทางราชการจนเสร็จในเวลาที่รวดเร็ว แล้วก็ไปดอยนางแล ด้วยความหวังเต็มเปี่ยมว่าจะได้กราบพระอาจารย์นิกร
แต่ผมต้องผิดหวัง เพราะพระอาจารย์นิกรท่านไม่อยู่ จึงไม่มีโอกาสถวายตัวเป็นศิษย์ และก็มีอันแคล้วคลาดไม่เคยได้พบหน้าท่านเลยแม้แต่ครั้งเดียว เราคงไม่มีบุญพอที่จะได้เป็นลูกศิษย์ของพระดังแห่งยุค !
ออกจากอำเภอพร้าว ขับรถลัดเลาะไปตามเขาเพื่อไปอำเภอเชียงดาว ตอนนั้นถนนเส้นนั้นเพิ่งตัดใหม่ๆ ยังเป็นถนนลูกรังอยู่ เราเดินทางด้วยฝุ่นคลุ้งไปจนถึงบ้านสันปิงโค้ง แล้วเลี้ยวลงใต้เพื่อไปเชียงดาว
พวกเราไปถึงเชียงดาว ประมาณ ๔ โมงเย็น มีเวลามากพอที่จะไปถ้ำผาปล่อง สถานที่ที่องค์หลวงปู่สิม พำนักอยู่
ท่านผู้อ่านเชื่อไหมครับ ราว ๔ โมงเย็น รถยนต์ของพวกเราไปจอดเสียอยู่ที่ ทางแยกไปถ้ำผาปล่อง พยายามหาทางแก้ไขจนกระทั่งเกือบสองทุ่ม จึงซ่อมรถเสร็จ
เป็นอันว่าเที่ยวนั้นผมอดไปกราบหลวงปู่สิม แต่ก็ไม่ได้นึกเสียใจหรือผิดหวังอะไรเลย เพราะเรายังไม่รู้จักท่าน !
เมื่อกลับถึงกรุงเทพฯ แล้ว จึงได้มารู้มาได้ยินกิตติศัพท์และทราบเรื่องราวของหลวงปู่ จึงรู้สึกว่าคราวที่แล้วเราพลาดด้วยความไม่รู้จริงๆ
เมื่อมีโอกาสผมจึงเดินทางขึ้นเชียงใหม่อีกครั้ง คราวนี้ไปรถตู้ เป้าหมายหลักคือเจาะจงไปกราบหลวงปู่สิมที่ถ้ำผาปล่องจริงๆ ส่วนไปที่อื่นๆ เป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น
ท่านผู้อ่านครับ ผมเดินขึ้นถ้ำผาปล่อง ด้วยใจมุ่งมั่น ต้องการกราบองค์หลวงปู่ให้ได้
แต่...เมื่อไปถึงถ้ำ ได้พบป้ายประกาศเขียนไว้ชัดเจนว่า
“หลวงปู่อาพาธ หมอแนะนำให้พักผ่อน ห้ามรบกวน”
เอาซีครับ หลวงปู่ท่านอยู่ แต่งดรับแขก !
แต่ไหนๆ ก็มาถึงถ้ำผาปล่องแล้ว หลังจากกราบพระแล้วผมก็ลงมือนั่งหลับตาทำสมาธิทันที ในใจไม่รู้สึกว่าผิดหวังอะไร โอกาสหน้าค่อยมาใหม่ยังได้ แต่ต้องมาอีกอย่างแน่นอน
ผมนั่งอยู่นานราวครึ่งชั่วโมง ได้ยินเสียงเหมือนมีคนจัดของหยิบสิ่งนั้น วางสิ่งนี้ ก๊อกแก๊กๆ แล้วได้ยินเสียงกระแอมน้อยๆ พร้อมกับได้ยินเสียง ซึ่งไม่แน่ใจว่าหูแว่วไปหรือไม่ว่า “เออ! มันเอาจริง”
ผมลืมตาขึ้นน้อยๆ เพื่อจะดูว่าเสียงอะไรอยู่ข้างหน้าเรา
ปลื้มสุดปลื้มครับ ! หลวงปู่ท่านนั่งอยู่บนเก้าอี้นวม อยู่ข้างหน้าเรานี่เอง
มีหลวงปู่อยู่องค์เดียวจริงๆ !
ผมลุกขึ้นนั่งคุกเข่าทั้งๆ ที่ขายังชา ก้มกราบท่านด้วยความเคารพอย่างสูงสุด
ดูองค์หลวงปู่ท่านหนักแน่น สงบเย็น ยิ้มด้วยเมตตา ท่านเอ่ยถามพอได้ยินว่า “มาจากกรุงเทพฯ หรือ? “
ท่านพูดสอนสั้นๆ ว่า “ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นของจริง ต้องทำต้องปฏิบัติเอาด้วยตัวของเราเอง จึงจะพบของจริง”
ผมคลานเข้าไปใกล้ ขอให้หลวงปู่ เป่ากระหม่อมให้ (ตามแบบที่ใครๆ เขาก็นิยมทำกัน)
หลวงปู่ได้เมตตาลูบหัวผมเบาๆ พร้อมทั้งเป่ากระหม่อมให้ด้วย !
พอดีคณะที่ไปด้วยกันได้เข้ามาสมทบ ต่างก้มกราบหลวงปู่ด้วยความชื่นอกชื่นใจ แล้วก็รีบพากันทราบลา เพราะไม่อยากจะรบกวนท่านมากไปกว่านั้น
ผมได้กราบองค์หลวงปู่อีก ๒ ครั้ง คือได้ฟังธรรม และฝึกนั่งสมาธิเพชรกับท่านครั้งหนึ่ง คราวที่ท่านมาโปรดที่ซอยนภาศัพท์ พระโขนง กรุงเทพฯ
อีกครั้งก็ได้พาคณะไปทอดผ้าป่าที่ถ้ำผาปล่อง ในปีถัดมา
ต่อจากนั้นก็ได้มางานพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่
หลังจากหลวงปู่มรณภาพแล้ว ก็ได้พาคณะมาทอดผ้าป่าที่ถ้ำผาปล่องอีกราว ๒ ครั้ง
และมาคราวนี้ เมื่อคณะของเราได้มีโอกาสช่วย หลวงพ่อจำรัส จิรวํโส สร้าง พระมหาธาตุมณฑปบูรพาจารย์ ที่วัดป่าอาจารย์มั่น ทำให้เกิดโครงการหนังสือบูรพาจารย์ ครั้งนี้ขึ้น
ท่านผู้อ่านก็ทราบกันดีแล้วว่า วัดป่าอาจารย์มั่นแห่งนี้ สามารถเรียกได้อย่างเต็มปากว่า เป็นวัดของหลวงปู่สิม เพราะองค์ท่านให้ความอุปถัมภ์วัดนี้มาตั้งแต่ต้น
เริ่มจากการส่งพระลูกศิษย์ คือ หลวงพ่อทองสุก อุตฺตรปญฺโญ มาเป็นผู้ริเริ่มตั้งวัด ตามคำขอของญาติโยมชาวเมืองพร้าว
หลวงปู่ได้ให้ความช่วยเหลือเรื่องการซื้อที่ดินที่ก่อสร้างวัดในปัจจุบัน ช่วยเหลือด้านการสร้างศาลาการเปรียญ รวมทั้งได้มาพำนักอยู่ที่วัดป่าอาจารย์มั่น บางครั้งบางคราวในช่วงเริ่มต้นการก่อสร้าง จนกระทั่งกลายเป็นวัดโดยสมบูรณ์มาตราบเท่าปัจจุบัน
เรื่องราวของวัดป่าอาจารย์มั่น ผมได้นำเสนอโดยละเอียดในหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๗ : พระกรรมฐานสู่ล้านนา ตอน ๒ ไปแล้วนะครับ
ที่เขียนมายืดยาวก็เพียงเพื่อจะอวดอ้างเอาว่า “เราก็เป็นศิษย์ของหลวงปู่ด้วยเหมือนกัน” ดูจะเขียนเข้าข้างตัวเองอย่างมากทีเดียว
ก็ต้องกราบขออภัยด้วยครับ !
๑. มณฑปและทางเดินจงกรมหลวงปู่มั่น
|
๒. ศาลาใหญ่
|
วัดป่าอาจารย์มั่น บ้านแม่กอย อ พร้าว จ เชียงใหม่
| |
๓. หลวงพ่อทองสุก อุตฺตรปญฺโญ
|
๔. ประตูทางเข้าวัด
|
พระญาณสิทธาจารย์ หรือ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร เกิดที่บ้านบัว ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ ศ. ๒๔๕๒ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีระกา เวลาประมาณ ๒๑.๐๐ น.
บิดาของท่านชื่อ นายสาน วงศ์เข็มมา มารดาชื่อ นางสิงห์คำ วงศ์เข็มมา
หลวงปู่ เป็นบุตรคนที่ห้า ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๑๐ คน เป็นชาย ๕ คน หญิง ๕ คน เรียงตามลำดับดังนี้
๑. เด็กชาย (ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเล็ก)
๒. นางสาวบง วงศ์เข็มมา
๓. นางสาวบาง วงศ์เข็มมา
๔. นางแก้ว สมรสกับ นายถา ทุมกิจจะ
๕. หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร
๖. นายกลม วงศ์เข็มมา
๗. พระอาจารย์คำดี (มรณภาพที่จังหวัดเลย)
๘. นางมาลี สมรสกับ นายสอน ภานาดา
๙. นางจำปี สมรสกับ นายอินตา ทุมกิจจะ
๑๐. นายจำไป วงศ์เข็มมา
หมู่บ้านบัว ที่หลวงปู่ถือกำเนิดนี้ เป็นหมู่บ้านภูไท หมายถึงว่า หลวงปู่ มีเชื้อสายเป็นชาวภูไท
บรรพบุรุษรุ่นคุณปู่ ของหลวงปู่ อพยพมาจากเมืองบก เมืองวัง ประเทศลาว เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ยังดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้รับพระบรมราชโองการจาก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ให้ยกทัพไปตีเวียงจันทน์ และรวบรวมหัวเมืองลาวไว้ในพระราชอาณาจักรสยามได้ทั้งหมด
ชาวภูไทที่เป็นบรรพบุรุษของหลวงปู่ได้อพยพเข้ามาทางฝั่งไทย ได้ย้ายแหล่งที่ทำมาหากินหลายครั้ง และมีกลุ่มของ “พรานเครือ” ได้พาชาวภูไท ๘ ครอบครัว มาตั้งรกรากที่บ้านบัว ในปัจจุบัน
เหตุที่ชื่อ บ้านบัว เพราะบริเวณนั้นแต่เดิมมีสระบัวอยู่ ๒ สระ จึงได้ถือเอา ดอกบัว เป็นมงคลนามสำหรับชื่อของหมู่บ้าน
สำหรับสกุล “วงศ์เข็มมา” ของหลวงปู่นั้น เป็นสกุลเก่าแก่สกุลหนึ่งของบ้านบัว ผู้เป็นต้นสกุลคือ ขุนแก้ว กับน้องชายชื่อ อินทปัญญา และขุนแก้วท่านนี้ก็คือ คุณปู่ของหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร นั่นเอง
ในปีที่หลวงปู่ ถือกำเนิดขึ้นมา คือปี พ.ศ. ๒๔๕๒ นั้น เป็นปีที่ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล ฝนไม่มากไปไม่น้อยไป มีน้ำอุดมสมบูรณ์ เป็นปีที่ทำนาได้ผลดี
ปกติในฤดูทำนา ชาวบ้านที่มีที่นาห่างไกลหมู่บ้าน มักจะไปพักที่กระต๊อบที่อยู่ในที่ใกล้ๆ กับที่นานั้น เพื่อจะได้ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการเดินทางไป-กลับทุกวัน
กระต๊อบของ นายสาน-นางสิงห์คำ วงศ์เข็มมา อยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านบัว ออกไปประมาณ ๔ กิโลเมตร
ฤดูทำนาในปีนั้น นางสิงห์คำ ได้ตั้งครรภ์บุตรคนที่ ๕ นางจึงพักที่กระต๊อบนั้นตลอดฤดูการทำนา
ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นเดือนเกิดของหลวงปู่นั้น ฟ้าฝนหยุดตกแล้ว เป็นช่วงต่อระหว่างปลายฝนกับต้นหนาว น้ำยังเจิ่งนองทุ่งนา ต้นข้าวเริ่มตั้งท้องพร้อมที่จะเกิดเป็นรวงข้าว อากาศเริ่มหนาวเย็นขึ้นมาบ้างแล้ว
ในคืนที่หลวงปู่ถือกำเนิดลืมตาขึ้นมาดูโลก คือคืนวันศุกร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒ นั้น นางสิงห์คำ ได้เริ่มเจ็บครรภ์ตั้งแต่ตอน เย็น
พอถึงเวลาประมาณ ๑ ทุ่ม อาการเจ็บครรภ์ทุเลาลง นางจึงได้เคลิ้มหลับไป และก็ได้ฝันเห็นพระสงฆ์รูปหนึ่งมีรัศมีกายสุกสว่างเปล่งปลั่ง แลดูเย็นตาเห็นใจยิ่งนัก
พระสงฆ์รูปนั้นได้ลอยเลื่อนลงมาจากท้องฟ้า ลงมาสู่กระต๊อบกลางทุ่งนาที่นางพักอยู่
ต่อมา เวลาประมาณ ๓ ทุ่ม นางสิงห์คำ ให้กำเนิดทารกเพศชายผิวขาวสะอาด
และจากนิสิตที่ นางสิงห์คำ ได้เล่าให้นายสาน ผู้สามีฟังโดยละเอียด ตามความทรงจำที่ชัดเจนเหมือนกับได้เห็นด้วยตาจริงๆ
นายสาน ผู้สามีเป็นคนมีจิตใจใฝ่บุญใฝ่กุศลอยู่แล้ว ได้เกิดความยินดีกับความฝันของภรรยาเป็นอย่างยิ่ง ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับทารกผู้เกิดใหม่อย่างแน่แท้
จึงได้ตั้งชื่อทารกน้อยตามศุภนิมิตนั้นว่า “สิม” ซึ่งภาษาอิสานแปลว่า โบสถ์ อันมีใบเสมาแสดงขอบเขตหรือปริมณฑลที่คณะสงฆ์ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
ชื่อ สิม จึงบ่งบอกถึงความใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนา และในกาลต่อมา เด็กชายสิม วงศ์เข็มมา ก็ได้ครองผ้ากาสาวพัสตร์ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยรุ่นสืบต่อมา ได้บำเพ็ญสมณธรรมอย่างต่อเนื่อง ใช้ชีวิตที่ขาวสะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่อง จนตลอดชั่วอายุขัยของท่าน คือ เป็น หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ที่พวกเราให้ความเคารพและศรัทธาที่สูงยิ่งองค์หนึ่งนั่นเอง
๖. ฉายแววแต่เยาว์วัย
ในหนังสือ พุทฺธาจารปูชา ซึ่งเป็นหนังสือที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ ได้เขียนถึงเรื่องราวในวัยเด็กของหลวงปู่ภายใต้หัวข้อว่า ฉายแววแต่เยาว์วัย ดังนี้ : -
ประกายแห่งสติปัญญาและลักษณะแห่งความเป็นผู้นำในตัวเด็กชายสิม วงศ์เข็มมา ได้ฉายแววให้เป็นที่ประจักษ์แก่เพื่อนพ้องมาตั้งแต่ในวัยเด็กแล้ว
โดยเมื่อเรียนจบชั้นประถมปีที่ ๒ ก็ได้ทำหน้าที่ช่วยครูใหญ่สอนหนังสือ
ซึ่ง หลวงปู่แว่น ธนปาโล พระเถระซึ่งเป็นญาติผู้น้องและมีวัยอ่อนกว่าหลวงปู่เพียงปีเดียว ก็เคยเป็นลูกศิษย์ท่านในครั้งนั้นด้วย
ครั้งหนึ่ง น้องชายของเด็กชายสิม เล่นซนปีนขึ้นต้นไม้ตามประสาเด็ก ผู้ใหญ่ก็กลัวจะพลาดพลั้งตกลงมาเป็นอันตราย แต่เรียกให้ลงอย่างไรก็ไม่ยอมลง จนผู้ใหญ่หมดปัญญา
เด็กชายสิมจึงออกอุบายให้หลอกว่า บนต้นไม้มีผี น้องชายซึ่งกลัวผีขนาดหนัก ก็รีบลงมาจากต้นไม้ทันที
หน้าที่ของเด็กในครอบครัวชาวนาในชนบทไทย เห็นจะหนีไม่พ้นการช่วยเลี้ยงควาย
หลวงปู่เคยเล่าว่า : -
“เรามีควายตู้อยู่ตัวหนึ่ง มันอยากจะชนกับเขาอยู่เรื่อย แต่ชนทีไรแพ้ทุกที เพราะมันไม่มีชั้นเชิงเอาเสียเลย ได้แต่ก้มหน้าก้มตาเอาหัวงัดลูกเดียว ไม่กี่ทีก็หันหลังวิ่งหนีแล้ว”
(ควายตู้ หรือ ควายเขาตู้ เทียบภาษาภาคกลางว่า เขาทู่ คือควายที่มีเขาสั้นหงิกเข้ามาหาหู ไม่สามารถจะขวิดตัวอื่นให้เป็นอันตรายได้)
ด้วยเหตุนี้เอง หลวงปู่จึงเปรียบเทียบคนไม่มีปัญญา ว่าเหมือนกับควายเขาตู้ ซึ่งท่านได้นำไปเปรียบเทียบกับการภาวนา ว่า : -
“ต้องรู้จักเลือกอุบายภาวนา พิจารณาอุบายที่ถูกจริต อาศัยความเพียรอย่างเดียว บ่ได้
เหมือนคนกินอาหาร ต้องรู้จักเลือกกินปลา กินไก่บ้าง ไม่ใช่กินเนื้ออยู่นั่นแล้ว
กิเลสมันพลิกแพลงเก่ง ต้องตามให้ทัน
คนรู้จักพิจารณาก็ได้บรรลุธรรมเร็ว อย่างสาวกในครั้งพุทธกาล ตั้งใจจะบวชเพื่อปลงผม ผมตกลงมาเท่านั้นแหละ ท่านก็ปลงกรรมฐานได้เลยว่า ผมไม่ใช่ของใคร ปล่อยวางทุกอย่างก็ได้บรรลุธรรมเลย
แล้วแต่สติปัญญาของคนจะพิจารณา บางองค์นั่งฟังเทศน์ก็ได้บรรลุเลย อย่างนั้นปัญญาท่านมาก”
คนที่ปฏิบัติธรรมไปอย่างทื่อๆ ตรงๆ ไม่รู้จักพลิกแพลงให้เหมาะสม หลวงปู่จึงเรียกคนประเภทนี้ว่า ควายเขาตู้ ด้วยประการฉะนี้แล
เด็กชายสิม วงศ์เข็มมา หรือ หลวงปู่สิม ของพวกเรานับได้ว่าเป็นผู้มีบุญกุศลหนุนนำมาดี จึงทำให้เป็นผู้รู้จักเตือนตนเองให้อยู่ในทางที่ชอบที่ควร
เป็นผู้ที่มีใจฝักใฝ่ในทางธรรมตั้งแต่ยังเด็ก เป็นผู้มีความกตัญญูสูง มีความขยัน มานะอดทน มีน้ำใจเสียสละ มีวาจาไพเราะ สุภาพอ่อนโยน จึงเป็นที่รักของบิดามารดา และหมู่เพื่อน
ตลอดจนได้รับความไว้วางใจจากบิดามารดาของเด็กในละแวกบ้านนั้นว่า ถ้าลูกของตนมาคลุกคลีกับเด็กชายสิมละก็ เป็นอันหมดกังวลในข้อที่จะชวนกันไปในทางเสียหาย
นอกจากนี้ บิดาของท่านก็เป็นไวยาวัจกรของวัดศรีรัตนาราม จึงทำให้เด็กชายสิม พร้อมด้วยเพื่อนๆ วัยเดียวกัน ได้มีโอกาสติดตามผู้ใหญ่ไปช่วยงานที่วัดอย่างขยันขันแข็ง และมักไปคลุกคลีอยู่ที่วัดเป็นประจำ
หลวงปู่จึงมีความใกล้ชิดกับวัด ใกล้ชิดกับพระศาสนามาตั้งแต่เด็ก
ทั้งชื่อเรื่องและเนื้อเรื่องเขียนไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ ดังต่อไปนี้: -
เมื่อเด็กชายสิมเริ่มเข้ารุ่นหนุ่ม อายุ ๑๕ - ๑๖ ปี ก็มีความสนใจในดนตรีพื้นบ้านอยู่ไม่น้อย
หลวงปู่แว่น ธนปาโล
|
หลวงปู่แว่น ธนปาโล (ญาติผู้น้องของหลวงปู่) แห่งวัดถ้ำพระสบาย อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เล่าว่า ตัวหลวงปู่แว่นเองเป็นหมอลำ ส่วนหลวงปู่สิมนั้นเป็นหมอแคน เป่าแคนจนแคนหักไปหลายอัน
หลวงปู่แว่นได้กรุณาเล่าต่อไปว่า ในเรื่องสตรีเพศนั้นหลวงปู่สิมไม่ใคร่ให้ความใส่ใจเหมือนเด็กหนุ่มทั่วๆไป แต่หากมีหนุ่มต่างบ้านมาเกี้ยวสาวบ้านบัวแล้วละก็ อาจเจอ “ไม้บิน” ของหลวงปู่สิมเข้าบ้างก็ได้
หลวงปู่สิมท่านเคยเล่าถึงตอนสมัยเป็นหนุ่มว่า ท่านเคยเที่ยวไปล่ากระต่ายกระแตบ้างเหมือนกัน รู้สึกการครองชีพตามวิสัยชาวโลกนั้นหลีกเลี่ยงต่อการทำบาปได้ยาก
หลวงปู่พูดถึงสิ่งที่บันดาลใจให้ท่านอยากจะบวชได้แก่ ความสะดุ้งกลัวต่อความตาย
หลวงปู่ได้เล่าเรื่องนี้ว่า “ตั้งแต่ยังเด็กแล้ว เมื่อได้เห็น หรือได้ข่าวคนตาย มันให้สะดุ้งใจทุกครั้ง แล้วว่าเราจะตายเสียก่อนได้ออกบวช”
ความหมายข้อความข้างต้นหมายถึงว่า มรณานุสติ ได้เกิดขึ้นในใจของหลวงปู่อยู่ตลอดเวลา เฝ้าย้ำเตือนให้ท่านไม่ประมาทในชีวิต ไม่ประมาทในวัย ไม่ประมาทในความตาย
เป็นเพราะหลวงปู่ได้กำหนด “มรณํ เม ภวิสฺสติ” ของท่านมาแต่ไหนแต่ไรแล้วนั่นเอง ตั้งแต่ท่านยังไม่ได้ออกบวช มาในระยะหลังหลวงปู่ก็ยังคงใช้อุบายธรรมข้อเดียวกันนี้ อบรมลูกศิษย์ลูกหาเป็นประจำ
อาจกล่าวได้ว่า หลวงปู่เทศน์ครั้งใด มักจะมี “มรณํ เม ภวิสฺสติ” เป็นสัญญาณเตือนภัยจากพญามัจจุราชให้ลูกศิษย์ลูกหาตื่นตัวอยู่เสมอทุกครั้งไป
หลวงปู่สิมถ่ายรูปกับหลวงปู่แว่น
และหลวงปู่หลวง ณ วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ (พ.ศ. ๒๕๐๘)
|
ผมลืมเรียนท่านผู้อ่านว่า ข้อมูลเกี่ยวกับหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโรที่เขียนมาแต่ต้น ผมนำมาจากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ ที่มีชื่อหนังสือว่า “พุทฺธาจารปูชา”
สำหรับผู้เขียนหนังสือเล่มที่ว่านี้ ไม่มีการบอกกล่าวเอาไว้ว่าเป็นท่านผู้ใด แต่แน่นอนต้องเป็นลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดหลวงปู่อย่างแท้จริง
แม้ไม่ทราบชื่อผู้เขียน ผมก็ต้องกราบขอบพระคุณและขออนุญาตอ้างอิงพร้อมทั้งคัดลอกมาโดยตรงจนตลอดทั้งเล่มเลย และรับรองว่าผมจะทำด้วยความตั้งใจ รอบคอบ และทำด้วยความเคารพอย่างแท้จริง
อ้อ ! ขอคุยหน่อยว่า หนังสือ “พุทฺธาจารปูชา” และหนังสือเล่มอื่นๆ อีกหลายเล่ม ผมได้รับจากการไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ด้วยตนเอง และได้อยู่ร่วมปฏิบัติธรรมตลอดทั้งคืนโดยไม่ได้หลับนอนเลย เป็นการถือ “เนสัชชิก” ครั้งแรกในชีวิตครับผม !
ขออนุญาตกลับมาที่ประวัติของหลวงปู่กันต่อไปนะครับ ในหนังสือ “พุทฺธาจารปูชา” ได้ใช้หัวข้อเรื่องว่า “สามเณรสิม” แล้วดำเนินเรื่องดังต่อไปนี้ : -
“เมื่อท่านอายุได้ ๑๗ ปี จึงได้ขอบิดาบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดศรีรัตนาราม ซึ่งเป็นวัดมหานิกาย ณ บ้านบัว นั้นเอง ในวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๔๖๙ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรง โดยมีพระอาจารย์สีทอง เป็นพระอุปัชฌาย์”
หลังจากบรรพชาแล้ว สามเณรสิม วงศ์เข็มมา ได้พักจำพรรษาที่ วัดศรีรัตนาราม บ้านบัว บ้านเกิดของท่าน
ในระหว่างที่จำพรรษานั้น มีเหตุการณ์ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอุตสาหะของสามเณรสิม โดยที่พระอาจารย์สีทอง พระอุปัชฌาย์ได้เล่าว่า
... ครั้งหนึ่งที่วัดมีการขุดสระ สามเณรสิม ก็ไปช่วยขุด และขุดจนกระทั่งใครต่อใครเขาทิ้งงานกันไปหมด เนื่องจากขุดลงไปลึกถึงสิบเอ็ดสิบสองวาแล้วก็ยังไม่มีน้ำ
เมื่อพระอุปัชฌาย์ของท่านถามว่า “จะขุดไปถึงไหนกัน” สามเณรสิมตอบว่า “ขุดไปจนสุดแผ่นดินนั่นแหละ”
นอกจากนี้ สามเณรสิมยังได้แสดงออกให้เห็นถึงปรีชาญาณด้วยการขึ้นแสดงธรรมแต่ครั้งเป็นสามเณร
สามเณรสิม วงศ์เข็มมา จึงเป็นที่ชื่นชมรักใคร่ของครูบาอาจารย์ของท่านเป็นอย่างมาก
หลวงปู่แว่น ธนปาโล
|
หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร
|
หลวงปู่หลวง กตปุญโญ
|
สามพระอริยสงฆ์ ผู้ถือกำเนิดที่บ้านบัว อ พรรณานิคม จ สกลนคร
|
ในปีเดียวกันกับที่หลวงปู่บรรพชาเป็นสามเณร คือปี พ.ศ. ๒๔๖๙ นั้น ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญที่พลิกผันชีวิตของหลวงปู่ให้หันเข้าสู่วงการพระกรรมฐาน หรือพระป่า อย่างที่พวกเราเรียกขานกัน
ในหนังสือเขียนไว้ดังนี้ :-
ต่อมา คณะกองทัพธรรม ของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้เดินธุดงค์มาจากจังหวัดหนองคาย เพื่อมาเผยแพร่ธรรมปฏิบัติแก่ประชาชน โดยเดินทางมาถึงวัดศรีสงคราม (วัดป่าบ้านสามผง) ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
สามเณรสิม วงศ์เข็มมา จึงได้มีโอกาสเดินทางไปฟังธรรมทั้งจากท่านพระอาจารย์ใหญ่ คือ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม และท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล
สามเณรสิม โดยปกติเป็นผู้ที่มีความละเอียด จดจำสิ่งต่างๆ ได้แม่นยำ ช่างคิดช่างพิจารณาอยู่แล้ว เมื่อได้เฝ้าสังเกตข้อวัตรปฏิบัติของท่านพระอาจารย์มั่น ท่านพระอาจารย์สิงห์ และท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ก็ยิ่งบังเกิดความเลื่อมใสอย่างมาก
จึงตัดสินใจขอถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น และได้ขอญัตติใหม่มาเป็นธรรมยุติกนิกาย
จากหนังสือในโครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่มก่อนๆ ท่านผู้อ่านคงจะจำได้ว่า ในปีนั้นได้มีการทำญัตติกรรมครั้งใหญ่ มีพระเณรเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยมีการทำพิธีที่โบสถ์น้ำ หรืออุทกกุกเขปสีมา หรือ อุทกสีมา อยู่กลางหนองน้ำบ้านสามผง
และสามเณรสิม วงศ์เข็มมา ได้เข้าพิธีญัตติกรรมเปลี่ยนมาสังกัดคณะธรรมยุติกนิกายในครั้งนั้นด้วย
ในหนังสือเล่มที่ผมคัดลอกมา บันทึกเหตุการณ์ไว้ ดังนี้ :-
...แต่โดยที่ขณะนั้น ยังไม่มีโบสถ์ของวัดทางฝ่ายธรรมยุตในละแวกนั้น การประกอบพิธีกรรมจึงต้องจัดทำที่โบสถ์น้ำ ซึ่งแบบแผนนี้ท่านพ่อลี ธมฺมธโร อดีตเจ้าอาวาสวัดอโศการาม ก็เคยใช้มาแล้วเมื่อตอนอุปสมบทหมู่ ๒๕ พุทธศตวรรษ เนื่องจากช่วงนั้นยังมิได้สร้างพระอุโบสถขึ้นเป็นการถาวร
การญัตติเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุตของสามเณรสิม ได้กระทำพิธีที่โบสถ์น้ำ ซึ่งทำจากเรือ ๒ ลำ ทำเป็นโป๊ะลอยคู่กัน เอาไม้พื้นปูตรึงเป็นแพแต่ไม่มีหลังคา โดยสมมุติเอาเป็นโบสถ์
หลวงปู่มั่น เป็นประธาน และมีท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์
พิธีนี้จัดขึ้นที่ วัดป่าบ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
หลังจากทำพิธีญัตติกรรมใหม่แล้ว สามเณรสิม ก็ได้ไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านข่า อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
พวกเราคุ้นเคยกับชื่อของหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และหลวงปู่พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล พระเถระสองที่น้อง แม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรม
แต่ข้อมูลและเรื่องราวของหลวงปู่ทั้งสององค์นี้มีน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์น้อง คือ หลวงปู่พระมหาปิ่น แทบจะหาอ่านไม่ได้เลย
ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่าน รวมทั้งผมเอง ก็คงอยากทราบประวัติและเรื่องราวของท่านใช่ไหมครับ?
ในหนังสือ “พุทฺธาจารปูชา” เล่มที่ผมกำลังคัดลอกอยู่นี้ได้เขียนถึง “เกร็ดประวัติ” ของหลวงปู่พระมหาปิ่น แทรกไปกับเรื่องราวการทำญัตติกรรมของสามเณรสิม วงศ์เข็มมา
อย่ากระนั้นเลย ผมก็ขอคัดลอกเกร็ดประวัติ ของหลวงปู่พระมหาปิ่น มาไว้ตรงนี้ด้วยก็น่าจะให้ประโยชน์น้อยสำหรับท่านที่สนใจ
ในหนังสือเขียนไว้ดังนี้ : -
สำหรับตัวท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล นั้น มีเกร็ดประวัติที่น่าสนใจ กล่าวคือ ตัวท่านเป็นน้องชายของท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งจัดว่าเป็นศิษย์องค์สำคัญ เปรียบได้กับมือขวาของท่านพระอาจารย์ใหญ่ คือ หลวงปู่มั่น ทีเดียว
แต่ด้วยความที่ตัวท่านพระอาจารย์มหาปิ่น เป็นพระนักปริยัติและเป็นพระนักเทศน์ด้วย
ท่านพระอาจารย์สิงห์ เห็นว่า พระน้องชายมุ่งแต่ปริยัติ มรรคผลมิได้เกิดมิได้มีขึ้นที่ใจเจ้าของ จะเสียทีกลายเป็น “เถนใบลานเปล่า “
ท่านจึงคิดหาหนทางทรมาน ปลูกฝังสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้นแก่พระน้องชาย ทั้งด้วยการปรารภธรรมเป็นครั้งคราว และทั้งการสอนด้วยการปฏิบัติให้ดู จนเห็นว่าพระน้องชายคลายทิฏฐิมานะลง จึงได้ชวนไปภาวนาอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น
ท่านอาจารย์พระมหาปิ่น นี้ เมื่อแรกมาก็ให้รู้สึกขัดเคืองใจด้วยถูกท่านพระอาจารย์มั่นตำหนิติติงไปเสียทุกเรื่อง จนรู้สึกอึดอัดและเสียหน้ามาก
ซึ่งเรื่องนี้ สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับปฏิปทาของพระป่าหรือพระกรรมฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายท่านพระอาจารย์มั่นด้วยแล้วย่อมทราบดีถึงความละเอียดลออ ทั้งทำข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ด้วยความรวดเร็ว เรียบร้อย แต่ไร้เสียง
ทำให้พระอาจารย์พระมหาปิ่น แม้กลับมาที่กุฏิที่พักแล้วก็ตามก็ยังครุ่นคิดนินทาหลวงปู่มั่นอยู่ไม่แล้ว
ทันใดนั้น หลวงปู่มั่นก็เดินมาหยุดที่ด้านนอกกุฏิ แล้วเอาไม้เคาะฝากุฏิ พร้อมกับกล่าวว่า “เอ๊า ! ท่าน มัวแต่คิดตำหนิ ปรามาสครูอาจารย์อยู่นั่นแหละ “
ทำเอาท่านพระอาจารย์มหาปิ่นตกใจกลัวจนตัวสั่น
นับแต่นั้น จึงได้ยอมรับนับถือในตัวท่านพระอาจารย์มั่น และตัวพระพี่ชาย คือ ท่านพระอาจารย์สิงห์ เป็นอันมาก สามารถปรับทิฏฐิให้ตรง เพียรเจริญในอริยมรรค จนได้มาเป็นครูอาจารย์ที่พร้อมด้วยภูมิปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ที่สำคัญองค์หนึ่ง
รวมทั้งได้ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้แก่หลวงปู่สิมในกาลต่อมาอีกด้วย
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
|
เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)
|
พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม
|
หลวงปู่พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล
|
ผมขอเขียนย้อนหลังไปนิดหนึ่ง เพื่อให้เรื่องเชื่อมโยงกัน กล่าวคือ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ หลังจากที่สามเณรสิม วงศ์เข็มมา เข้าญัตติเป็นธรรมยุตแล้ว ก็ได้ไปพักจำพรรษาที่วัดป่าบ้านข่า อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม (ในหนังสือไม่ได้บอกว่าท่านไปอยู่ปฏิบัติกับพระอาจารย์องค์ใด แต่ผมเข้าใจว่าท่านไปอยู่กับ หลวงปู่สิงห์ ขนตยาคโม ครับผม )
ส่วนท่านพระอาจารย์ใหญ่ คือ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ยังพักจำพรรษาอยู่ที่ วัดป่าบ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม และบรรดาศิษย์ท่านอื่นๆ ก็แยกย้ายจำพรรษาในที่ต่างๆ กัน แถวจังหวัดสกลนคร นครพนม อุดรธานี และหนองคาย
ศิษย์สำคัญอีกองค์หนึ่ง คือ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ได้จำพรรษาที่ บ้านดอนแดงคอกช้าง อำเภอท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอนาหว้า) จังหวัดนครพนม
พอออกพรรษาปี ๒๔๖๙ นั้นแล้ว หลวงปู่มั่นได้นัดพระลูกศิษย์ของท่านที่จำพรรษาในท้องที่แถบนั้นประมาณ ๗๐ รูปให้ไปประชุมพร้อมกันที่บ้านดอนแดงคอกช้าง สถานที่หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่กู่ ธมฺมทินฺโน และหลวงปู่เกิ่ง อธิมุตฺตโก จำพรรษาอยู่
เมื่อพระภิกษุสามเณรศิษย์ของหลวงปู่มั่น มาพร้อมเพรียงกันแล้วก็ได้จัดประชุมที่ศาลาโรงฉัน
เรื่องที่หลวงปู่มั่นยกขึ้นมาพูดในที่ประชุมครั้งนั้น เบื้องแรกท่านได้ให้โอวาทตักเตือนสั่งสอนเพื่อให้ศิษย์มีกำลังใจ ท่านแสดงธรรมปลุกใจให้ลูกศิษย์ลุกขึ้นต่อสู้กับกิเลสที่ครอบงำจิตใจให้อ่อนแอ ให้ง่วงเหงาหาวนอน ขี้เกียจขี้คร้าน ฟุ้งซ่านเถลไถลไม่มีความอดทน พยายามบำเพ็ญเพียรภาวนา
ต่อจากนั้น หลวงปู่มั่นได้ปรารภในที่ประชุมว่า.
“...ในท้องที่ ๔-๕ จังหวัด คือ จังหวัดเลย สกลนคร อุดรธานี นครพนม หนองคาย พวกเราได้ออกเดินธุดงค์ทำความเพียรบำเพ็ญภาวนา วกไปเวียนมาอยู่ในภูเขาแถบนี้ก็เป็นเวลาหลายปีแล้ว ปีนี้พวกเราควรไปทางไหนกันดี
สำหรับผม จำต้องพาคุณโยมแม่ให้ไปอยู่กับพวกน้องสาวที่เมืองอุบลฯ เพราะท่านชราภาพมาก อายุ ๗๘ ปีแล้ว จะพาทุลักทุเลอยู่ดงอยู่ป่าคงจะไปไม่ไหว...”
หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม กับพระน้องชายคือ หลวงปู่พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ได้รับรองจะพาคุณโยมแม่ของหลวงปู่มั่น ไปส่งให้ถึงเมืองอุบลฯ แต่ต้องไปด้วยเกวียน จะให้ท่านเดินเท้าไปคงไม่ไหว เพราะท่านชราภาพมาก ไม่มีกำลังพอ
ที่ประชุมตกลงขอตามหลวงปู่มั่นลงไปเที่ยวธุดงคกรรมฐานแถบท้องที่จังหวัดอุบลราชธานีหมดด้วยกันทุกองค์ คือมีมติเป็นเอกฉันท์
หลังจากการประชุมสิ้นสุดลงแล้ว พระเณรก็แยกย้ายกันออกธุดงค์ไปเป็นหมู่ๆ ถ้าใครองค์ใดไปพบสถานที่เหมาะสมดีสบาย มีความสงัด จะพักอยู่ปฏิบัติฝึกหัดเพื่อให้ได้กำลังใจเพิ่มยิ่งๆ ขึ้นอีกก็อยู่ได้ แต่ให้มีจุดหมายไปพบกันที่เมืองอุบลฯ
ด้วยเหตุนี้ สามเณรสิม วงศ์เข็มมา จึงได้ออกธุดงค์ร่วมไปกับคณะกองทัพธรรมไปยังจังหวัดอุบลราชธานี
ในหนังสือ พุทฺธาจารปูชา บันทึกเหตุการณ์เพียงสั้นๆ ภายใต้หัวข้อ “ออกธุดงค์แต่ครั้งเป็นสามเณร” ว่า :-
ในปี พ ศ. ๒๔๗๐ สามเณรสิม ได้ร่วมขบวนธุดงค์ติดตามท่านพระอาจารย์มั่น จากจังหวัดนครพนม ไปยังจังหวัดอุบลราชธานี โดยเริ่มจากอำเภอท่าอุเทน ไปยังบ้านดอนแดงคอกช้าง กิ่งอำเภอนาหว้า ต่อไปยังบ้านเดียว บ้านหัววัว อำเภอกุดชุม ตามลำดับ จนกระทั่งถึงบ้านหนองขอน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
และในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ท่านจึงย้ายมาจำพรรษาที่วัดป่าท่าวังหิน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
เมื่อศึกษาข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ แล้ว ผมมั่นใจว่าสามเณรสิม ยังคงติดตามปฏิบัติอยู่กับ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และ หลวงปู่พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ครับผม
(จากซ้าย) หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
หลวงปู่พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล
และหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม
สามแม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรม
|
ในช่วงปี พ ศ. ๒๔๗๐-๒๔๗๑ สามเณรสิม วงศ์เข็มมา ได้ออกธุดงค์จากจังหวัดนครพนม ไปจังหวัดอุบลราชธานี และพักจำพรรษาที่วัดป่าท่าวังหิน อำเภอเมืองอุบลฯ กับพระอาจารย์ของท่าน คือ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และหลวงปู่พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
ในช่วงที่สามเณรสิมพำนักที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้เกิดมีเหตุการณ์สำคัญในวงการพระป่าสายกรรมฐาน ๒ เหตุการณ์ที่ควรนำมากล่าว ณ ที่นี้
ความจริง ผมได้กล่าวถึงหลายครั้งแล้วในหนังสือบูรพาจารย์เล่มก่อนๆ โดยเฉพาะในเล่ม ๕ : หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล และ เล่ม ๑๑ : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านที่ต้องการทบทวนเหตุการณ์เชิญย้อนกลับไปอ่านได้ครับ
เหตุการณ์สำคัญที่ว่านั้น เหตุการณ์แรก ได้แก่ความกระทบกระทั่งกันของพระเถระผู้ใหญ่ คือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) แม้จะเป็นพระในฝ่ายธรรมยุตด้วยกัน แต่สมเด็จฯ ท่านมาทางด้านปริยัติ คือการเรียนหนังสือ ท่านจึงไม่เห็นด้วยกับพระสายกรรมฐานที่หลีกเร้น ไปหลับหูหลับตาอยู่ตามป่าเขาห่างไกลจากผู้คน และทำตัวเป็นพระจรจัด ทำตัวห่างไกลจากความเจริญ
สมเด็จฯ ท่านมีคำสั่งให้ขับไล่พระกรรมฐานศิษย์ของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล และ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ให้ออกไปจากจังหวัดอุบลฯ ต่อมาภายหลังสมเด็จฯ ท่านคลายทิฏฐิ และเปลี่ยนมายอมรับพระป่า เห็นว่าการทำกรรมฐานภาวนาเป็นการเข้าถึงธรรมะตามวิธีการของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง
สมเด็จฯ ท่านเปลี่ยนมาให้การสนับสนุนพระป่า อาศัยพระป่าเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่ธรรมไปสู่ประชาชน และองค์ท่านเองก็มาฝึกนั่งสมาธิภาวนาอย่างจริงจังอีกด้วย
เป็นอันว่าเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันก็จบลงเอยด้วยดี นี้ผมเล่าเฉพาะใจความเนื้อๆ เพียงย่อๆ เท่านั้นนะครับ
เหตุการณ์ที่สอง เป็นเรื่องของ ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต โดยตรง
เรื่องย่อมีว่า องค์หลวงปู่มั่น ท่านบรรลุพระอนาคามีตั้งแต่คราวบำเพ็ญเพียรที่ถ้ำสาริกา น้ำตกสาริกา จังหวัดนครนายก ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๖
ต่อจากนั้นท่านก็เดินทางกลับอิสาน ให้การฝึกฝนอบรมแก่ลูกศิษย์ลูกหาเป็นเวลาติดต่อกันนานถึง ๑๔ ปี จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๐ องค์ท่านก็ตระหนักว่าการบำเพ็ญเพียรของท่านยังไม่บรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดที่ชาวพุทธตั้งไว้เป็นหลักชัย คือการบรรลุถึงพระอรหันต์ ผู้พิชิตกิเลสได้อย่างราบคาบ
หลวงปู่มั่น จึงได้สลัดภาระหนักที่ท่านรับมาตลอด ๑๔ ปี ปลีกองค์ออกจากบรรดาศิษย์ ออกเที่ยววิเวกแสวงหาโมกขธรรมตามลำพังองค์เดียว
ในปี ๒๔๗๐ หลวงปู่มั่นจึงได้มอบภาระในการบริหารและอบรมศิษย์ให้แก่ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ศิษย์อาวุโสสูงสุด แล้วองค์ท่านเดินทางเข้ากรุงเทพฯ พักจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม เขตปทุมวัน ๑ พรรษา
ต่อจากนั้นก็ได้ติดตาม พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ไปบูรณะวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่
หลวงปู่มั่นได้ปลีกวิเวกออกบำเพ็ญเพียรตามป่าเขาที่ห่างไกลผู้คนในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอเชียงดาว และอำเภอพร้าว และท่านบรรลุธรรมถึงเป้าหมายสูงสุดคือบรรลุพระอรหันต์ที่ถ้ำดอกคำ ตำบลน้ำแพร่ อำเภอพร้าว ตามความประสงค์ของท่าน
หลวงปู่มั่นเที่ยววิเวกอยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่นานถึง ๑๒ ปี จนถึงกลางปี พ.ศ. ๒๔๘๒ คณะศิษย์ นำโดยท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ได้เดินทางไปนิมนต์ให้หลวงปู่มั่น กลับไปโปรดลูกศิษย์ลูกหาทางภาคอิสาน
หลวงปู่มั่นอยู่โปรดลูกศิษย์ลูกหาทางภาคอีสานรวม ๑๐ ปี จนกระทั่งถึงมรณภาพในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ตามที่ท่านผู้อ่านคงทราบกันดีแล้ว
ที่ผมเขียนเหตุการณ์อย่างย่อชนิดยืดยาวนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่าช่วงปี พ.ศ. ๒๔๗๐-๒๔๗๑ ที่สามเณรสิม วงศ์เข็มมา พำนักอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งท่านก็ยังคงปฏิบัติติดตามพระอาจารย์ของท่าน คือ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และหลวงปู่พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล
หลังออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๗๑ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้เรียกประชุมพระเณรคณะกองทัพธรรม ศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโตที่พำนักในจังหวัดอุบลฯ ประมาณ ๗๐ รูปมาประชุมกันที่ที่พักสงฆ์บ้านหัววัว (อำเภออำนาจเจริญ ในขณะนั้น)
สาระของการประชุมเป็นการร่วมปรึกษาหารือเกี่ยวกับการไปช่วยอบรมธรรมให้กับประชาชนในจังหวัดขอนแก่น
ที่ประชุมตกลงทันว่า “พวกเราควรออกเดินธุดงค์ไปเผยแพร่การประพฤติปฏิบัติธรรมแก่ประชาชนชาวจังหวัดขอนแก่น เพื่อช่วยท่านเจ้าคุณพระพิศาลอรัญเขต (จันทร์ เขมิโย) ซึ่งท่านได้ไปรับตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น ฝ่ายธรรมยุต”
เมื่อตกลงถูกต้องพ้องกันแล้ว จึงได้แยกย้ายกันออกเดินธุดงค์ไปคนละทิศคนละทาง แต่ก็ได้นัดหมายให้ไปรวมกันที่จังหวัดขอนแก่น ก่อนเข้าพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๗๒
จากการประชุมข้างต้น หลังออกพรรษาปี พ ศ ๒๔๗๑ แล้ว สามเณรสิมจึงได้ติดตาม หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และคณะกองทัพธรรม ออกเดินธุดงค์โดยมีจุดหมายปลายทางที่จังหวัดขอนแก่น
เมื่อคณะพระกรรมฐาน กองทัพธรรม ได้เดินทางมาถึงจังหวัดขอนแก่นครบหมดทุกชุดแล้ว ก็มอบหมายให้แยกย้ายกันออกไปตั้งวัดป่าสายธรรมยุตตามหมู่บ้านที่มีสถานที่เป็นป่า มีความร่มเย็นสงบสงัด เพื่อมุ่งปฏิบัติธรรมบำเพ็ญภาวนาแสวงความวิเวก พร้อมกับเผยแพร่ธรรมสู่ประชาชน ให้เลิกนับถือภูตมีต่างๆ แล้วหันมาเข้าถึงพระไตรสรณาคมน์เป็นสรณะต่อไป
บรรดาพระกรรมฐานที่อาวุโสรองๆ ลงมา ได้แยกย้ายกันไปตั้งวัดในท้องที่ต่างๆ ของจังหวัดขอนแก่น ส่วน หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม กับ หลวงปู่พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ได้ก่อตั้งสำนักสงฆ์ที่ป่าช้าบ้านเหล่างา ในเมืองขอนแก่น ซึ่งต่อมากลายเป็น วัดป่าวิเวกธรรมวิทยาราม จนปัจจุบันนี้
สำนักสงฆ์ป่าช้าบ้านเหล่างา จึงเป็นเสมือนศูนย์บัญชาการของกองทัพธรรมในครั้งนั้น
และ...สามเณรสิม วงศ์เข็มมา ก็ติดตาม หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม มาพำนักที่สำนักสงฆ์ป่าช้าบ้านเหล่างา ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ด้วยประการฉะนี้ครับ
พระญาณวิศิษฏสมิทธิวีราจารย์จารย์ (สิงห์ ขนฺตยาคโม)
เจ้าอาวาสองค์แรก วัดป่าสาลวัน
| ||
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
|
พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล
|
ตอนที่ ๒ : ตระเวนแถบอิสาน
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ นี้เอง สามเณรสิม วงศ์เข็มมา อายุครบบวชพอดี จึงได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดศรีจันทราวาส ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๗๒ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเส็ง โดยมีท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย) เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูพิศาลอรัญญเขต เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดขอนแก่น เป็นพระอุปัชฌาย์และมีหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัดดวงจันทร์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “พุทฺธาจาโร”
หลังจากอุปสมบทแล้ว หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ของพวกเราก็กลับไปจำพรรษาที่ สำนักสงฆ์ป่าช้าบ้านเหล่างา อยู่กับ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม พระอาจารย์ของท่านดังเดิม
ขออนุญาตทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านนิดหนึ่งว่า สำหรับพระสายป่านั้น ตามปกติท่านจะอยู่ประจำที่เฉพาะในช่วงฤดูกาลเข้าพรรษาเท่านั้น ส่วนนอกฤดูพรรษาท่านมักจะเที่ยววิเวกไปตามป่าเขาที่สงบสงัดเพื่อบำเพ็ญเพียรอยู่เป็นนิจ
สำหรับพระภิกษุสิม พุทฺธาจาโร ซึ่งเป็นพระนวกะ คือ พระบวชใหม่ ก็ได้ติดตามครูอาจารย์ออกท่องธุดงค์หลายแห่งในท้องที่จังหวัดขอนแก่น
น่าเสียดายว่า ไม่สามารถหารายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ท่องธุดงค์ขององค์หลวงปู่สิมที่เป็นเรื่องแปลกๆ สนุกๆ มาเสนอพวกเราได้ ก็เสียใจด้วยนะครับ
พระเทพสิทธาจารย์
(จันทร์ เขมิโย)
พระอุปัชฌาย์ของ
หลวงปู่สิม | |
หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม
พระกรรมวาจาจารย์ของหลวงปู่สิม
|
ป่าช้าบ้านเหล่างา หรือ วัดป่าวิเวกธรรมวิทยาราม อำเภอเมือง ขอนแก่น ในสมัยแรกเริ่มนั้น คงจะมีสภาพชวนสยดสยองเกินกว่าที่พวก
เราสมัยนี้จะนึกจินตนาการไปถึงได้
หลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก พระเถระผู้ครองวัดป่าวิเวกธรรมฯ องค์ปัจจุบัน ได้เล่าถึงสภาพของวัดในอดีตว่า : -
“...วัดป่าวิเวกธรรมฯ เดิมเป็นป่าช้า ชาวบ้านเรียกวา ป่าช้าบ้านเหล่างา หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม มาสร้างไว้ตั้งแต่ปี พ ศ ๒๔๗๑ ครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายองค์ล้วนแต่เคยมาพำนักอยู่วัดนี้
ตรงกันข้ามกับวัดจะเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ซึ่งจะมีคนไข้จากจังหวัดใกล้เคียงกับจังหวัดขอนแก่นเข้ารับการรักษา เมื่อเสียชีวิตลง ญาติจะไม่สามารถนำศพกลับไปยังบ้านเกิดได้ ก็จะนำมาฝังในวัดนี้
บางครั้งศพมีจำนวนมาก การฝังก็ไม่เรียบร้อย สุนัขก็จะคุ้ยศพลากเศษอวัยวะออกมา...
บางครั้งพระลงศาลาฉัน สุนัขก็จะลากอวัยวะศพผ่านไป เป็นที่อุจาดตา...”
บรื๋อ ! สุดสะอิดสะเอียนใช่ไหมครับ?
หลวงปู่บุญเพ็ง เล่าต่อไปว่า เมื่อท่านมาอยู่ปกครองวัดเป็นเจ้าอาวาสแล้ว ท่านได้พยายามรวบรวมปัจจัยจากลูกศิษย์ลูกหาในกรุงเทพฯ ก่อสร้างเมรุเผาศพขึ้นมา ทำให้ปัญหาดังกล่าวลุล่วงไปได้ และบริเวณป่าช้าก็มีใช้ประโยชน์น้อยลง
พอดีกับวิทยาลัยเทคนิคฯ ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัด ขาดสถานที่ที่จะก่อสร้างสนามฟุตบอล จึงมาขอเมตตาหลวงปู่ท่าน ซึ่งท่านก็เมตตาด้วยเห็นแก่เยาวชนซึ่งต้องการสถานที่ออกกำลังกาย ท่านว่าดีกว่าให้เขาไปติดยาเสพติด
ดังนั้น “ในปัจจุบัน มุมด้านตะวันออกของวัดจึงมีสนามฟุตบอลอยู่ เด็กที่มาเล่นฟุตบอลส่วนใหญ่คงไม่ทราบว่า ข้างใต้นั้นมีซากศพกองอยู่จำนวนมาก !!”
สำหรับองค์ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ได้เมตตาเล่าถึงประสบการณ์ในพรรษาแรกเมื่อครั้งเป็นหลวงพี่หนุ่ม ให้ฟังว่า
มีอยู่วันหนึ่ง ฝนต้นฤดูกาลตกลงมาอย่างหนัก ชาวบ้านร้านตลาดออกมารองน้ำและเล่นน้ำฝนกัน เกิดฟ้าผ่าเปรี้ยงลงมาที่ท่อรองน้ำ เป็นผลให้มีคนตาย ๒-๓ คน เขาก็เอาศพมาฝังที่ป่าช้าอย่างกะทันหัน
พอฝังไปได้ ๓-๔ วัน ท่านพระอาจารย์สิงห์ก็ออกอุบายพาพระเณรไปขุดศพขึ้นมา...
หลวงปู่สิม ได้เล่าด้วยเสียงกลั้วหัวเราะว่า : -
“ขุดขึ้นมาใส่กองไฟ เขียวอื๋อเลยละ เขียวเหมือน เทา* สภาพศพกำลังเน่า หนังตอนนั้นยังเหนียวอยู่ ยังไม่แตก”
(เทา คือสาหร่ายน้ำจืดสีเขียวชนิดหนึ่ง)
พูดง่ายๆ ว่าศพกำลังขึ้นอืดบวมเป่งจวนจะปะทุแตกอยู่รอมมะร่อ ! หลวงปู่ ได้เล่าด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ถ้าส่งใจไปตามก็จะเห็นภาพอย่างชัดเจน แล้วท่านบอกต่อไปว่า
“...เหม็นไม่ต้องบอกละ เต็มจมูกทุกองค์ ได้อสุภะกันหมด ถ้าได้สักศพเอามาเผาที่ถ้ำผาปล่อง เณรน้อยน่ากลัวจะไม่ยอมอยู่ละ !”
“นี้แหละร่างกาย” หลวงปู่พูดด้วยน้ำเสียงราบเรียบ ปราศจากความรู้สึกรัก - ชังโดยสิ้นเชิงว่า “ บางคราวบางสมัยมันก็ต้องดม ครูบาอาจารย์เพิ่นทำ เราจะหลบไปทางอื่นก็ไม่ได้ ก็ต้องดมไปด้วยกัน”
หลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก
วัดป่าวิเวกธรรมวิทยาทม
(วัดป่าบ้านเหล่างา)
อ .เมือง จ.ขอนแก่น
|
อีกตอนหนึ่ง หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ได้เมตตาเล่าประสบการณ์ที่ท่านได้อสุภกรรมฐานจากการพิจารณาซากศพ สมัยพำนักอยู่ที่สำนักสงฆ์ป่าช้าบ้านเหล่างา (วัดป่าวิเวกธรรมวิทยาราม) จังหวัดขอนแก่น ว่า :-
“ศพที่เก็บไว้ ๔-๕ วันก่อนจะเผานั้น ถ้าสมณะนักบวชเรายังไม่เคยเห็นก็อาจจะไม่รู้สึกอะไร
แต่ผู้ที่เคยดูศพอย่างนั้นมาแล้วจะนึกได้ว่า พอเปิดฝาโลงเท่านั้นแหละ จะเห็นน้ำท่วมเอ่อขึ้นมาตั้งครึ่งโลง
แมลงวันไม่รู้มาจากไหน ไม่ต้องมีใครเชื้อเชิญละ มาจับสบงจีวร
เต็มไปหมด
เวลาไปชักบังสุกุลเสร็จ ดมซากศพเสียไม่รู้ว่ากี่ลมหายใจ...”
“.อันกลิ่นเหม็นอสุภะของน้ำเหลืองน้ำหนองคนเรานั้น มันไม่เหมือนเนื้อสัตว์อย่างอื่น มันเหม็น...” หลวงปู่เว้นช่วงนิดหนึ่ง ด้วยคงไม่รู้จักเปรียบเทียบกับอะไรดี “...เหม็นเหมือนแบบ. ที่ไม่ชอบนะ คือร่างกายมนุษย์คนเรามันก็ดูจะชอบกัน มันดูดกันได้ ดูดเอากลิ่นเหม็นเข้ามาอยู่ในคนที่ไม่เหม็น เลยเหม็นไปด้วยกัน”
“นี่แหละร่างกายนั้น พระพุทธองค์ท่านจึงทรงสอนให้กำหนดเป็นอสุภกรรมฐาน อย่าไปเห็นว่ารูป ไม่ว่ารูปหญิง รูปชาย ให้เข้าใจว่าเป็นอันเดียวกัน ไม่มีใครสวยใครงามกว่ากัน”
“สมมติโลกว่าสวยว่างาม สมมติธรรมมันไม่มีสวยงาม อสุภํ มรณํ ทั้งนั้น
ถึงมันจะยังไม่ตายตอนเด็กตอนหนุ่มก็เถอะ ไม่นานละเดี๋ยวมันก็ทยอยตายไปทีละคนสองคน หมดไป สิ้นไปไม่เหลือ...”
สาธุ! แล้วจะโลภเอาอะไรกัน ใช่ไหมครับ?
หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ได้อธิบายถึง การไปเยี่ยมป่าช้า ซึ่งเป็นธุดงควัตรข้อหนึ่งในจำนวน ๑๓ ข้อ ดังนี้ : -
“โสสานิกังคะ ไปเยี่ยมป่าช้า ไปนอนป่าช้า เป็นธุดงควัตรข้อหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ เป็นอุบายภาวนา
ผู้ภาวนาในทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะผู้มาบวชเรียนแล้ว ให้เข้าใจออกห่างจากอารมณ์ที่ว่าสวยว่างามให้ได้ ให้มาเห็นว่าเป็นก้อน อสุภ กรรมฐาน
คล้ายกับว่าเราเดินไปเห็นคนเขาถ่ายกองอสุภะไว้ข้างทาง คือบางคนเขาไม่ไปไกล
ถ้าเราเห็นเราก็ว่าเป็นอสุภะ คือว่าไม่งาม
แท้จริงมันไปจากคนเราตัวเราด้วย เมื่อถ่ายออกไปแล้วก็ว่าเป็นปฏิกูล อยู่ในท้องเราว่าเป็นของดิบของดี เพราะว่าเราไม่พิจารณา ถ้าพิจารณาแล้ว มันเต็มไปด้วยก้อนอสุภะ...”
ในหนังสือ “พุทฺธาจารปูชา” ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ช่วงที่ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร พักจำพรรษาอยู่ที่ ป่าช้าบ้านเหล่างา ไว้สองตอนสั้นๆ ดังนี้ :-
ตอนแรก :-
“ที่วัดป่าเหล่างานี้เอง ที่ภิกษุสิม พุทฺธาจาโร ได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมอย่างใกล้ชิดกับท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นเวลา ๓-๔ปี
ทั้งมีโอกาสมักคุ้นกับพระกรรมฐานองค์สำคัญๆ หลายองค์ เช่น หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านพ่อลี ธมฺมธโร ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน และพระอาจารย์กว่า สุมโน เป็นต้น”
อีกตอนหนึ่ง ในตอนเริ่มต้นของหนังสือ เป็นการสรุปสถานที่จำพรรษาของหลวงปู่ ตั้งแต่ครั้งบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙ เรียงลำดับเป็นปีๆ ไป จนถึงปีสุดท้ายแห่งอายุกาลของท่าน คือปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่ถ้ำผาปล่อง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
สำหรับในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๔๗๖ ช่วงพำนักที่วัดป่าเหล่างา มีดังนี้
ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ (พรรษาที่ ๒) ออกพรรษาแล้วได้ธุดงค์ไปอำเภอชนบท (จังหวัดขอนแก่น) แต่ได้กลับมาจำพรรษาที่วัดป่าวิเวกธรรม (วัดป่าเหล่างา) อีก
ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ (พรรษาที่ ๓) ธุดงค์ไปอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ตั้งใจจะไปจำพรรษาที่ถ้ำพระเวส แต่อาพาธด้วยไข้มาเลเรียเลยจำพรรษาที่วัดป่าบ้านนาแก
ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ (พรรษาที่ ๔) กลับมาจำพรรษาที่วัดป่าวิเวกธรรม
ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ (พรรษาที่ ๕) ธุดงค์ไปจำพรรษาที่ภูระงำ จังหวัดขอนแก่น โดยผ่านบ้านเหล่านาดี อำเภอมัญจาคีรี และอำเภอชนบท จนกระทั่งออกพรรษาจึงได้ไปยังภูหัน อำเภอพล (จังหวัดขอนแก่น)
น่าเสียดายว่าไม่สามารถหารายละเอียดถึงประสบการณ์การออกธุดงค์แต่ละแห่งของหลวงปู่ในช่วงนี้ได้ ก็ขอผ่านไปดูตอนต่อไปกันครับ
หลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี | หลวงปู่ฝั้น อาจาโร | หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ |
ใน “ปฏิทินพรรษา” ของหลวงปู่ กล่าวเพียงย่อๆ ว่า
“ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ (พรรษาที่ ๖) ธุดงค์ไปจำพรรษาที่วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา ผ่านบ้านหนองหัวฟาน อำเภอบัวใหญ่ อำเภอขามสะแกแสง อำเภอโนนไทย
ปีพ.ศ. ๒๔๗๘ (พรรษาที่ ๗) สร้างวัดขึ้นที่อำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา และจำพรรษาที่วัดสร้างใหม่นี้”
รวมความว่า หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร พักจำพรรษาอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา ๒ พรรษา ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ และ ๒๔๗๘ เป็นพรรษาที่ ๖ และ ๗ ของท่าน
ผมขออนุญาตเขียนย้อนถึงเหตุที่หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ได้มาอยู่จำพรรษาที่จังหวัดนครราชสีมาอย่างย่อๆ พอให้ต่อเรื่องติดก็แล้วกัน ทั้งๆ ทีเขียนเล่ามาหลายครั้งแล้วในหนังสือบูรพาจารย์ เล่มก่อนๆ
เรื่องราวมีว่า ขณะที่หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และกองทัพธรรมกำลังเผยแพร่ธรรมแก่ประชาชนในจังหวัดขอนแก่นนั้น ก็ได้มีคำสั่งของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ให้หลวงปู่สิงห์ และคณะพระกรรมฐานในจังหวัดขอนแก่น เดินทางไปยังจังหวัดนครราชสีมา เพื่อทำการเผยแพร่ธรรมอบรมสั่งสอนประชาชน
สมัยนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) เมื่อยังเป็นพระพรหมมุนี ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลอิสาน ได้ย้ายจากเมืองอุบลฯ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา ในเมืองจังหวัดนครราชสีมา
หลวงปู่สิงห์ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะ จึงได้พาลูกศิษย์พระกรรมฐานพร้อมด้วยบริษัทบริวารเป็นจำนวนมาก ออกเดินธุดงค์จากจังหวัดขอนแก่นมายังจังหวัดนครราชสีมา เพื่ออบรมสั่งสอนธรรมให้แก่ประชาชนตามคำบัญชาของท่านเจ้าคณะมณฑล ดังกล่าวแล้ว
และ หลวงปู่สิม ซึ่งยังเป็นพระหนุ่ม อายุพรรษา ๕ จึงได้ติดตามหลวงปู่สิงห์ พระอาจารย์ของท่านเดินทางเข้านครราชสีมาด้วย
ครั้งแรกหลวงปู่สิงห์และคณะมาพักที่วัดสุทธจินดา ในเมืองนครราชสีมา คุณหลวงชาญนิคมเขต ผู้บังคับกองตำรวจกองเมืองนครราชสีมา มีศรัทธายกที่ดินถวายเป็นสำนักพระกรรมฐาน อยู่หลังกองช่างกลรถไฟนครราชสีมา ซึ่งก็คือวัดป่าสาลวันในปัจจุบันนี้เอง
ส่วนพระกรรมฐานที่อาวุโสรองๆ ลงมา ได้แยกย้ายกันออกไปตั้งวัดกรรมฐานในท้องที่อำเภอต่างๆ เพื่อเป็นฐานในการอบรมสั่งสอนประชาชน
สำหรับหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ก็ได้พักปฏิบัติอยู่กับพระอาจารย์ของท่าน ที่วัดป่าสาลวัน ดังกล่าวมาแล้ว
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) |
ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ปีแรกที่ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร มาพักจำพรรษาที่วัดป่าสาลวัน ในเมืองนครราชสมา ได้มีเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมือง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ คือเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ตามที่พวกเราทราบกันดีอยู่แล้ว
เหตุการณ์วุ่นวายที่ว่าคือ กรณี “กบฏบวรเดช” ส่งผลให้บริวารของพระองค์เจ้าบวรเดชถูกจับกุมทั่วประเทศ
หลวงปู่ เล่าว่า คุณหลวง โยมอุปัฏฐากคนสำคัญซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ถวายให้สร้างวัดป่าสาลวันขึ้นนั้น ก็ถูกรวบตัวหลังจากวันทอดกฐินนั่นเอง และถูกนำตัวไปคุมขังไว้ที่คุกบางขวาง
เมื่อหลวงปู่ลงไปกรุงเทพฯ ก็ได้แวะเยี่ยมให้กำลังใจ พอไปเห็นนักโทษในห้องขังแล้วก็ได้ปลงธรรมสังเวช
หลวงปู่ เล่าว่า : -
“ตอนนั้นนึกถึงพวกที่ชอบเอานกมาใส่กรงขังเลี้ยงไว้จริงๆ เขาขังนักโทษไว้ในสองเล็กๆ มองแล้วเหมือนนกในกรงไม่มีผิดเลย”
หลังออกพรรษาแล้ว หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ก็ออกท่องธุดงค์แสวงวิเวกไปยังที่ต่างๆ ตามธรรมเนียมของพระธุดงค์ในสมัยนั้น
เมื่อหลวงปู่กลับมาที่วัดป่าสาลวันอีกครั้งในฤดูแล้ง ได้มีเหตุการณ์ที่หลวงปู่เล่าว่า ทำให้ท่านได้เห็นอานิสงส์ของการให้ “ทาน” ทันตาจริง ๆ
เรื่องมีอยู่ว่า คราวหนึ่ง หลวงปู่พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล มีกิจนิมนต์ไปจังหวัดอุบลราชธานี เดินทางโดยทางรถไฟ
หลังจากนั้นเกิดพบเห็นธนบัตรใบละสิบบาทปลอม สืบสาวหากับใครไม่ได้ พนักงานเก็บเงินบนรถไฟก็เลยมาทวงถามเอากับโยมอุปัฏฐากของท่าน
โยมอุปัฏฐากก็ว่า “ถ้าเป็นของท่านอาจารย์จริง ทำไมไม่ทักท้วงเสียตั้งแต่ตอนนั้น แต่นี่จับใครไม่ได้ก็มาโทษท่านอาจารย์ อย่างนี้ไม่ถูกต้อง”
บรรดาญาติโยมของหลวงปู่พระมหาปิ่นก็ไม่มีใครยอมรับผิดชอบในเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่รถไฟคนนั้นก็เป็นทุกข์เป็นร้อนมาก จึงได้ไปปรารภให้หลวงปู่สิมฟังว่า ถ้าเขาไม่ได้เงินสิบบาทคืนให้หลวง ก็จะถูกไล่ออกจากราชการ ลูกเมียก็จะพลอยลำบาก
หลวงปู่ได้ฟังก็เกิดจิตเมตตาคิดจะช่วยเหลือ แต่ท่านเองไม่มีเงินพอ จึงให้ลูกศิษย์วัดไปรวบรวมเงินพระเณรวัดป่าสาลวันหมดทั้งวัดได้เพียง ๔ บาทเท่านั้น
ยังขาดอยู่อีก ๖ บาท หลวงปู่จึงได้ออกปากขอยืมจากคุณนายผู้มีอันจะกินท่านหนึ่ง
ได้เงินครบแล้ว ก็มอบให้เจ้าหน้าที่รถไฟคนนั้น ดูเขาดีอกดีใจเหลือเกิน มีอาการเหมือนได้ยกภูเขาออกจากอก
หลวงปู่เล่าว่า หลังจากนั้นไม่นาน อานิสงส์ก็ส่งผลให้ท่านได้รับกิจนิมนต์ไปสวดบ้าง ไปเทศน์บ้าง ไม่เท่าไรก็ได้เงินมากกว่า ๑๐ บาท
เห็นไหมครับ เป็นตามที่พระท่านสอนว่า “อยากรวยต้องทำทาน อยากสวยต้องรักษาศีล และอยากมีปัญญาต้องภาวนา” สามารถพิสูจน์ตรวจสอบได้ด้วยตัวเราเองครับ
หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ฉันจังหัน ณ โรงเรียนปริยัติธรรม |
๒๑. ทานละเอียดบริสุทธิ์
เรื่องของการให้ทานนี้ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโรได้สอนอย่างละเอียดลออ
ทานที่หลวงปู่ย้ำเสมอคือ “อภัยทาน”
ท่านบอกว่า : -
“คนเราจะอยู่ด้วยกันได้อย่างนานที่สุดก็ไม่เกินร้อยปีหรอก เพราะฉะนั้น อย่าไปโกรธแค้นอาฆาต คิดจองเวร คิดเบียดเบียนหรือทำร้ายกันเลย ให้อภัยเสียเถอะ
ยังไงเขาก็จะตายเองอยู่แล้ว เราไม่ต้องไปลงมือหรอก ตัวเราเองก็จะต้องตายเองด้วยเหมือนกันนั่นแหละ”
ท่านผู้อ่านจะว่าอย่างไรครับ? ถ้าทุกคนเชื่อหลวงปู่กันหมด ข่าวฆ่ากันก็ไม่มีจะให้ลงหนังสือพิมพ์ แล้วจะไม่จืดชืดไปหรือ!
หลวงปู่ได้สอนถึงการให้ทานต่อไปว่า...แม้กระทั่งสัตว์เดรัจฉานที่ตัวเล็กกว่ายุง เช่น ริ้น ไร และลอด หลวงปู่ก็ยังสอนให้พวกเราให้ทาน
ตัว ลอด นี่ หน้าตาเป็นยังไงก็ไม่รู้ ท่านบอกว่าตัวมันเล็กจน
ลอดรูผ้าเข้าไปกัดเราได้นั่นแหละ
และหลวงปู่ก็ยกย่องว่า การที่เราให้ทานน้ำเลือดน้ำเหลืองในตัวเราแก่พวกนี้ เป็นทานบริสุทธิ์เสียด้วย “ทานํ เม ปริสุทฺธํ นิพฺพานํปรมํ สุขํ” นั่นทีเดียว
“เวลาเรากินสัตว์อื่น เรากินทั้งเลือดทั้งเนื้อหนัง ตับไตไส้พุง แม้กระทั่งกระดูก แต่พวกนี้กินเราก็แค่มาดูดน้ำเลือดน้ำเหลือง เลือดเนื้อเชื้อไขในตัวของเรา ได้มาจากพ่อแม่ ไม่ได้ไปซื้อไปหามาจากไหน
ปล่อยให้เขากัดไปเถอะ ตั้งใจให้เป็นทานไป เป็นทานละเอียดบริสุทธิ์ “
หน้าพระประธานภายในถ้ำผาปล่อง |
นอกจากให้ธรรมะเป็นท่าน อันเป็นกิจประจำวันของ หลวงปู่สิมพุทฺธาจาโร แล้ว มีวัตถุท่านอะไร พ่อจะให้ได้ หลวงปู่เป็นแจกไม่อั้นไม่ว่าจะเป็นเหรียญปลุกเสก ผ้าพุทโธ รูปถ่าย ฯลฯ
ก็ด้วยเมตตาไม่มีประมาณของหลวงปู่นี้เอง ทำให้ท่านไม่ค่อยขัดใจใคร
ถ้าเป็นคำขอที่ไม่ผิดกาละเทศะ หลวงปู่มักจะอนุโลมให้เสมอโดยเฉพาะผู้ที่กำลังมีทุกข์
แต่ไม่ว่าจะแจกอะไรก็ตาม หลวงปู่จะกำชับให้ภาวนาพุทโธอยู่เสมอ
ครั้งหนึ่ง ระหว่างพรรษา คุณหมอท่านหนึ่งจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปกราบนมัสการหลวงปู่ ที่ ถ้ำผาปล่อง และได้เอ่ยปากขอเทปพระธรรมเทศนา
หลวงปู่ตอบว่า “ไม่มีแล้วก๊า ทั้งเทปทั้งหนังสือ ทำมาเท่าไรๆ ก็ไม่พอคน ยังเหลือแต่ พุทโธ เอาไหม แจกเท่าไหร่ๆ ก็ไม่หมด”
ของแจกอีกอย่างหนึ่งที่คนชอบ คือ “ลมปาก” ของหลวงปู่นั่นเอง แจกจนลูกศิษย์ใกล้ชิดห่วงว่าจะหมดลงในเร็ววัน
ใครไปใครมา ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย เด็กเล็กหรือผู้ใหญ่เฒ่าชะแรแก่ชรา มักจะชอบให้หลวงปู่เป่าหัวให้
โดยเฉพาะโยมผู้ชายมักจะได้สิทธิพิเศษเหนือโยมผู้หญิง
นอกจากเป่าให้แล้ว หลวงปู่มักจะลูบหัวแถมให้ด้วย ซึ่งเจ้าตัว
ก็จะปลื้มใจเป็นนักหนา
ครั้งหนึ่ง หลวงปู่ได้รับนิมนต์ไปเทศน์ที่สนามหลวง ก็ในกรุงเทพฯ มหานครของพวกเราชาวเทวดานี้แหละครับ
ขณะที่หลวงปู่กำลังนั่งพักผ่อน ก็มีญาติโยมเข้าไปขอให้ท่านเป่าหัวให้ ๒-๓ ราย
หลวงปู่ก็อนุเคราะห์เป่าให้แล้วๆ ไป
แต่พอมีรายต่อๆ ไปไหลตามกันเข้ามา หลวงปู่คงเห็นท่าจะเป็นเรื่องราว ท่านก็เลยรีบท้วงขึ้นด้วยสำเนียงภาคเหนือปนอิสานของท่านว่า
“เอ๊าๆ เพิ่นมาเทศน์เน้อ บ่ใช่มาเป่าหัว”
นั่นแหละครับ กระแสคลื่นคนจึงได้ไหลกลับ
ถ้าเป็นผม ที่คงจะต้องรวมอยู่ในกระแสนั้นด้วยอย่างแน่นอนแม้แต่ตอนที่หลวงปู่ เป่าหัวให้ผมครั้งแรกเมื่อปี พ ศ. ๒๕๒๔ ผมก็ยังชื่นใจมาจนบัดนี้เลย !
“ปฏิทินพรรษา” ของ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร สำหรับปี พ.ศ. ๒๔๗๘ และ ๒๔๗๙ เขียนไว้ดังนี้ : -
“ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ (พรรษาที่ ๗) สร้างวัดขึ้นที่อำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา และจำพรรษาที่วัดสร้างใหม่นี้
ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ (พรรษาที่ ๘) จำพรรษาที่วัดบรมนิวาสกรุงเทพ ฯ “
ส่วนเหตุการณ์ที่หลวงปู่ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ มีเขียนไว้ในหนังสือ “พุทฺธาจารปูชา” ในหัวข้อ “มุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ” มีเนื้อหาดังนี้
ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ (พรรษาที่ ๘) เมื่อสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) แห่งวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมเยือน พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ที่วัดป่าจักราช เพราะท่านสมเด็จฯ กับครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต นี้ มีความรู้จักคุ้นเคยกันมาก
กับบางคราวท่านได้ไปฝึกอบรมพระกรรมฐานจากหลวงปู่มั่นบ้าง จากพระอาจารย์สิงห์บ้าง แม้พระอาจารย์สิงห์จะเป็นสัทธิวิหาริกในสมเด็จฯ เนื่องด้วยสมเด็จฯ เคยเป็นอุปัชฌาย์บวชให้
แต่มาภายหลัง สมเด็จฯ ท่านก็ยอมรับในข้อวัตรปฏิบัติของท่านพระอาจารย์สิงห์ รวมทั้งพระกรรมฐานทั้งหลายอีกด้วย
ในระหว่างที่สมเด็จฯ กับท่านพระอาจารย์สิงห์พบกันและได้ปฏิสันถารกันอยู่นั้น สมเด็จฯ ท่านก็แลเห็นจริยาวัตรของหลวงปู่สิมขณะทำหน้าที่อุปัฏฐากรับใช้ และเกิดชื่นชอบถูกอกถูกใจขึ้นมา ถึงกับปรารภจะชวนให้หลวงปู่ไปอยู่ด้วยกับท่าน จึงเอ่ยปากขอตัวหลวงปู่สิมกับท่านพระอาจารย์สิงห์ ว่า : -
“พระองค์นี้มีลักษณะเป็นผู้มีบุญบารมี ผมจะขอตัวให้ไปอยู่ด้วยจะขัดข้องหรือเปล่า?”
เมื่อพระอาจารย์สิงห์ได้ยินดังนั้น ท่านก็มิได้ขัดข้อง ด้วยเห็นเป็นวาสนาบารมีของหลวงปู่สิมที่จะได้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดกับพระเถระผู้ใหญ่เยี่ยงท่านสมเด็จฯ นี้
ทั้งจะได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมวินัยให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป ท่านจึงตกลงตามที่สมเด็จฯ บัญชาทุกประการ
หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร จึงได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ด้วยเหตุเช่นนี้แล.
อุโบสถและพระเจดีย์ วัดบรมนิวาส |
การเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ของ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ มีเขียนไว้ดังนี้ -
...ดังนั้น วันเดินทางกลับกรุงเทพฯ (ของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร จึงได้ร่วมเดินทางมากับสมเด็จฯ
ที่วัดบรมนิวาส มาจำพรรษา ได้ศึกษาพระธรรมวินัยในสำนักสมเด็จฯ ตั้งแต่บัดนั้น ทำให้หลวงปู่สิมได้รับความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัยมากขึ้น
หลวงปู่สิมอยู่รับใช้สมเด็จฯ ด้วยจริยาดีเยี่ยม
พร้อมกันนั้นหลวงปู่ก็ได้ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนการปฏิบัติธรรมตามแนวทางของพระธุดงค์กรรมฐาน โดยสมเด็จฯ โปรดให้ปลูกกุฏิกรรมฐานรอบกำแพงโบสถ์ เพื่อเป็นที่พักของพระเณรจำนวนมากที่มารับการฝึกฝนอบรม จากหลวงปู่
องค์ท่านสมเด็จฯ เอง ก็โปรดที่จะมานั่งภาวนาใต้ต้นไม้ใหญ่ข้างโบสถ์ซึ่งเป็นที่ร่มรื่นเสมอ
โอกาสเช่นนี้ที่หลวงปู่ได้ถวายคำแนะนำในการปฏิบัติสมาธิภาวนาแก่องค์สมเด็จพระมหาวีรวงศ์อยู่เป็นประจำ
๒๕. “ฌาน” เป็นอย่างไร ?
ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) มีรับสั่งถามหลวงปู่สิมว่า : -
“ที่พูดกันว่าได้ฌานนั้นฌานนี้ คำว่าฌานนี้หมายถึงอะไร? เห็นว่ามีตั้งหลายอย่าง มี วิตก วิจาร อะไรต่ออะไร มันเป็นยังไง?”
หลวงปู่ได้ถวายคำอธิบายว่า : -
“เวลาญาติโยมเขาสร้างบ้านเรือน สร้างกุฏิให้พระอยู่อาศัย พอขึ้นบันไดบ้านมา ก็จะถึงชานก่อน แล้วจึงไปถึงที่นอน”
“อ้อ! ๆ รู้แล้ว” สมเด็จฯ ทรงเข้าใจในทันที “มันเป็นที่พักผ่อนชั่วคราวเองนะ ยังไม่ใช่ที่หลับที่นอนจริงๆ”
สาธุ !
ท่านผู้อ่านที่ได้อ่าน บูรพาจารย์ เล่ม ๒ : หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม พระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์ในยุคปัจจุบัน มาแล้ว คงจะทราบเรื่องราวและกิตติศัพท์เกี่ยวกับเรื่องฤทธิ์ของหลวงปู่ตื้อ แล้วเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ หลวงปู่ตื้อยังได้เปิดเผยให้พวกเราได้ทราบว่า ช่วงที่หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต บำเพ็ญเพียรอยู่ที่ถ้ำเชียงดาว ท่านได้เข้าฌานเหาะไปบิณฑบาตในตัวเมืองเชียงใหม่อยู่บ่อยๆ อย่างน่าอัศจรรย์
(เรื่องราวอยู่ใน บูรพาจารย์ เล่ม ๗ : พระกรรมฐานสู่ล้านนา ตอน ๒ ครับผม)
กลับมาคัดลอกเรื่องของ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร กันต่อนะครับ ในหนังสือ “พุทฺธาจารปูชา” เขียนเล่าไว้ว่า : -
เรื่อง ฌาน นี้ หลวงปู่มีเกร็ดฝอยเกี่ยวกับหลวงปู่ตื้อเล่าให้ฟังว่า
หลวงปู่ตื้อ ท่านเคยเข้าฌานไปดูศพพระมหากัสสปะเถระ ซึ่งตามตำนานมีว่า ยังคงเก็บรักษาไว้แถบภูเขาหิมาลัย
(ถ้าผมเขียนไว้แค่นี้ แล้วแนะนำว่า รายละเอียดมีอยู่ในหนังสือพุทฺธาจารปูชา เชิญไปค้นหาอ่านได้ครับ ! ท่านผู้อ่านคงจะสวดให้พรผมจมกระเบื้องเลยใช่ไหมครับ?
อย่ากระนั้นเลย ผมจะคัดเลือกมาให้อ่านต่อไปได้เลยดังนี้ -)
คือ...ก่อนที่จะเข้าสู่นิพพาน พระมหากัสสปะเถระท่านได้อธิษฐานให้ภูเขาปิดล้อมศพเอาไว้สามด้าน รอเวลาพระศรีอาริย์มาตรัสรู้ แล้วจะได้เผาศพของท่านบนฝ่ามือของพระศรีอาริย์ เนื่องจากท่านมีบุพกรรมต่อกัน
เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งพระมหากัสสปะเถระ ท่านมีชาติกำเนิดเป็นช้างแสนรู้ของพระจักรพรรดิ คือ พระศรีอาริย์ นั่นเอง
วันหนึ่งพระจักรพรรดิทรงช้างเสด็จออกประพาสป่า ช้างหนุ่มกัสสปะ พอเห็นช้างสาวก็วิ่งเข้าหาทันทีตามประสาช้าง วิ่งไม่วิ่งเปล่า แถมสะบัดเอาพระจักรพรรดิตกลงจากหลังไปด้วย
ช้างกัสสปะ เลยถูกลงโทษให้เอางวงจับเหล็กเผาไฟจนตาย
ท่านทั้งสองจึงมีเวรกรรมต่อกันมาตั้งแต่ครั้งกระโน้น จนเดี๋ยวนี้ศพของพระมหากัสสปะเถระ ก็ยังรอพระศรีอาริย์อยู่
เมื่อหลวงปู่ตื้อเข้าฌานไปดูถึงประเทศเนปาลโน้น ต้องไปถึงสองครั้ง เพราะไปครั้งแรกประตูไม่เปิด
หลวงปู่ตื้อเล่าว่า ในห้องหรือภูเขาที่เก็บศพนั้น มีแสงสว่างเรืองรอง แต่ไม่ยักจะมีดวงไฟสักดวง
เล่ามาถึงตรงนี้ หลวงปู่ก็พูดกับลูกศิษย์ด้วยน้ำเสียงสงบเย็นว่า
“ใครอยากพิสูจน์ให้เห็นจริง ก็ให้เร่งภาวนาเอาให้ถึงให้ได้ ภาวนาเอง เห็นเอง ฟังคนอื่นเล่ามันก็ไม่สิ้นสงสัย”
สาธุ !
อีกครั้งหนึ่ง หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ได้เล่าตำนานเกี่ยวกับพระพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาที่ตาวติงสาเทวโลก เพื่อโปรดพระพุทธมารดา
หลวงปู่ ได้พูดแถมท้ายเทียบกับความเจริญทางวิทยาศาสตร์ว่า:-
“สหรัฐ รัสเซีย เขาไปโลกพระจันทร์ ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือเยอะแยะ ต้องพกอากาศไปหายใจ อาหารก็ต้องเตรียมใส่หลอด พอหิวจะได้บีบใส่ปากเลย ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวลอยหนีไปหมด
เดินอยู่บนพระจันทร์ก็เหมือนกบเต้น เพราะในอวกาศอะไรๆ มันก็เบา
พระพุทธเจ้าไปอยู่ที่ตาวติงสา สูงถึงอวกาศเหมือนกัน ถังออกซิเจนก็ไม่ได้เอาไป ไม่รู้ท่านหายใจอย่างไร จำพรรษาอยู่ตั้งสามเดือนได้ไปบิณฑบาตที่ไหนบ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้
วิชาการทางโลกเขาก็เก่งอยู่เหมือนกัน คิดค้นทำอะไรๆ ได้ตั้งหลายอย่าง
ยิงจรวดออกไปนอกโลกก็ได้ แต่ก็ยังไว้ใจบ่ได้ เดี๋ยวก็จรวดระเบิดบ้าง เรือบินตกบ้าง
เราลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ก็ควรที่จะค้นคว้าวิชาของเรา เอาให้ได้ให้ถึงเหมือนกัน มีวิชาภายในแล้วไปเที่ยวรอบโลกได้หลายรอบ ไปฟรีด้วย ไม่ต้องกลัวเรือบินตก”
ว่าไงครับ พวกเราจะแข่งกันไปหรือเปล่าล่ะ?
หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล | หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต |
หลวงปู่ตื้อ อจลธมโม
|
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
|
๒๘. กลับบ้านเกิดที่สกลนคร
ใน “ปฏิทินพรรษา” ของหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร เขียนไว้ดังนี้ :-
“ใน ปีพ.ศ. ๒๔๘๐ (พรรษาที่ ๙) ธุดงค์กลับไปจำพรรษาที่บ้านบัว และได้สร้างวัดป่าธรรมยุติกนิกายขึ้นเป็นวัดแรกในบ้านบัว ชื่อวัด สันติสังฆาราม”
ส่วนเนื้อหาในหนังสือ “พุทฺธาจารปูชา” ได้เขียนเนื้อหาภายใต้หัวข้อ “กลับสู่บ้านเกิด” ดังนี้. -
ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ออกพรรษาแล้วหลวงปู่เดินทางจากวัดบรมนิวาส ธุดงค์เรื่อยมาจนถึงบ้านบัว ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เพื่อโปรดญาติโยมที่บ้านเกิดตามคำอาราธนา
หลวงปู่กลับบ้านเกิดอย่างพระเถระผู้รุ่งเรืองด้วยบารมีธรรมสมควรกับการปฏิบัติ เพราะนับจากบรรพชาแล้ว ท่านก็ได้ผ่านช่วงของการฝึกฝนอบรมตนเองอย่างเข้มข้น ตามปฏิปทาทางดำเนินของพระธุดงค์กรรมฐานอย่างแท้จริง เป็นเวลา ๑๑ ปีเต็ม (รวมที่บวชเป็นสามเณรด้วย)
เนื่องจากท่านเป็นผู้มีวาสนาบารมี ได้รับการอบรมโดยตรงจากท่านพระอาจารย์มั่น และศิษย์ชั้นผู้ใหญ่ของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล
เพราะเหตุที่มีโอกาสอยู่ใกล้ชิด ทั้งอยู่จำพรรษา และร่วมขบวนธุดงค์กับท่านพระอาจารย์ ไปในสภาพแวดล้อมต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ยากไร้ทุรกันดาร นับแต่พรรษาแรกของการบรรพชาเรื่อยมา ซึ่งนับว่าหาได้ยาก ทำให้หลวงปู่มีประสบการณ์ที่จะช่วยส่งเสริมบารมีธรรมส่วนตัวของท่านให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น
จึงไม่น่าประหลาดที่ชาวบ้านบัวและบ้านใกล้เคียง จะมีความเคารพเลื่อมใส แห่กันมาทำบุญกุศล และฟังพระธรรมเทศนา รับการอบรมการปฏิบัติสมาธิภาวนาจากหลวงปู่อย่างมากมาย
เมื่อหลวงปู่ปรารภที่จะให้มีวัดป่าธรรมยุติกนิกายขึ้นเป็นวัดแรกในบ้านบัว ญาติโยมซึ่งมีความตื่นตัวเต็มที่ในการประพฤติปฏิบัติธรรมตามแนวทางของพระธุดงค์กรรมฐาน จึงต่างสนองตอบคำปรารภของหลวงปู่อย่างกระตือรือร้นและเต็มอกเต็มใจ
เมื่อ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ปรารภการสร้างวัดป่าที่บ้านบัวปรากฏว่า โยมอาของท่าน คือ นางคำไพ ทุมกิจจะ ได้มีศรัทธาถวายที่ดินให้หลวงปู่จัดสร้างเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นในปี พ ศ. ๒๔๘๐ นั้นเอง
หลวงปู่จึงได้จำพรรษาที่บ้านบัว นับเป็นพรรษาที่ ๙ ของท่าน
นอกจากเพื่อเป็นกำลังใจในการก่อสร้างเสนาสนะสำหรับสำนักสงฆ์แห่งใหม่แล้ว ท่านยังได้ช่วยในการบูรณะวัดเดิมทั้งสองวัด คือวัดสระพังหิน (วัดศรีรัตนาราม) และ วัดสระพังทอง ซึ่งเป็นวัดมหานิกายทั้งสองวัดของบ้านบัวอีกด้วย
สำหรับสำนักสงฆ์ที่หลวงปู่จัดตั้งขึ้นใหม่นั้น ภายหลังได้พัฒนาขึ้นเป็น วัดสันติสังฆาราม และเจริญรุ่งเรืองมาจนปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังได้จัดสร้างวัดและสำนักสงฆ์สาขาเกิดขึ้นอีก ๙ แห่งตามลำดับดังนี้ : -
๑. วัดมะหัวเมย บ้านมะหัวเมย
๒. สำนักสงฆ์เวฬุวันสันติวรญาณ (ท่าวังหิน) บ้านสายร่องข่า
๓. สำนักสงฆ์สันติวราราม บ้านโนนทรายคำ
๔. สำนักสงฆ์สันติวนาราม บ้านนาขาม
๕. สำนักสงฆ์บ้านพอกใหญ่
๖. สำนักสงฆ์บ้านสว่าง
๗. สำนักสงฆ์บ้านตาล อำเภอนาหว้า (จังหวัดนครพนม)
๘. สำนักสงฆ์บ้านยะชี
๙. วัดคำประมง บ้านคำประมง
ทั้ง ๙ แห่งนี้อยู่ในท้องที่จังหวัดสกลนคร และนครพนม
ผมไม่สามารถให้รายละเอียดได้ เพราะยังไม่เคยไปวัดทั้ง ๙ แห่งที่ระบุชื่อมานี้ รวมทั้งวัดสันติสังฆาราม ที่บ้านบัว บ้านเกิดของหลวงปู่ก็ยังไม่เคยไปครับ
กุฏิหลวงปู่ ที่วัดคำประมง จ.สกลนคร |
กุฏิหลวงปู่ ที่วัดสันติสังฆาราม จ สกลนคร |
เนื้อหาในหนังสือ “พุทธจารปูชา” มีต่อไปว่า : -
ตัวหลวงปู่เองนั้น เป็นผู้ที่มักน้อยสันโดษอย่างยิ่ง ใช้ชีวิตนักบวชเยี่ยงท่านผู้ประพฤติชอบทั้งหลาย
การก่อสร้างต่างๆ ในส่วนที่เกินเลยออกไป เป็นแต่ฆราวาสญาติโยมพากันจัดการทั้งสิ้น
หลวงปู่ ท่านไม่นิยมการสั่งสมทรัพย์สมบัติใดๆ หากมีลาภเกิดขึ้น ท่านเป็นต้องแจกจ่ายออกไปอย่างรวดเร็ว ฝากชีวิตไว้กับบาตร ที่เป็นเสมือนมรดกที่ได้รับจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อครั้งญาติพี่น้องของท่านนิมนต์ท่านไปที่บ้านเกิดเพื่อรับส่วนแบ่งมรดกที่ดิน
หลวงปู่ได้บอกกับพี่น้องของท่านว่า “นาที่เป็นมรดกนั้น ให้แบ่งกันเองเถอะ เราเอานาทุ้งนี้”
(ทุ้ง ภาษาอิสานแปลว่า ทุ่ง หรือ แปลง)
พูดแล้วหลวงปู่ก็ชี้ไปที่บาตรของท่าน
เรื่องนี้ ถ้าได้พิจารณาคำของ ท่านพ่อลี ธมฺมธโร อดีตเจ้าอาวาสวัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ ก็จะช่วยให้เห็นภาพชัดขึ้น
ท่านพ่อลี บอกว่า บาตรนี้ เป็นเหมือนดั่งที่นาอันเยี่ยม พระภิกษุไม่ต้องไปเพาะปลูกที่ไหนดอก เพียงแต่เพาะปลูกในบาตรนี้เท่านั้นก็พอ
จะปลูกเงาะก็ได้ ปลูกทุเรียนก็ได้ สารพัดที่จะปลูกลงไป
หมายความว่า บิณฑบาตเอากับชาวบ้าน เรียกว่าเป็นการเพาะปลูกทางอ้อม
ยิ่งถ้าพระเณรได้ฝึกฝนอบรมตนจนเป็นเนื้อนาบุญที่เลิศด้วยแล้ว ก็มักมีอานิสงส์ให้ได้เพาะปลูกพืชผลอันประณีตอย่างเหลือประมาณ
เอวัง !
หลวงปู่ออกรับบิณฑบาตกับหลวงปู่ศรี มหาวีโร
วัดป่ากุง อ.ศรีสมเด็จ จ ร้อยเอ็ด
|
๓๑. จำพรรษาที่ อ.หล่มสัก เพชรบูรณ์
“ปฏิทินพรรษา” ของ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ - ๒๔๘๒ หลังจากสร้างวัดที่บ้านบัว บ้านเกิดของท่านแล้ว มีดังนี้ :-
“ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ - ๒๔๘๒ (พรรษาที่ ๑๐-๑๑) ธุดงค์จากบ้านบัวผ่านป่าลึกในจังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น เลย จนถึงจังหวัดเพชรบูรณ์ จำพรรษาที่วัดป่าสระคงคาน อำเภอหล่มสัก”
ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ หลังจากมอบหมายงานสร้างสำนักสงฆ์ให้พระเณรและญาติโยมที่บ้านบัวดำเนินการต่อไปแล้ว
หลวงปู่ก็ไม่รอช้า จัดแจงบริขารเตรียมออกธุดงค์ทันที ตามวิสัยแห่งผู้ไม่ประมาท ดังที่หลวงปู่พร่ำสอนศิษย์เสมอว่า : -
“กาลเวลามันล่วงไปผ่านไป แต่มันไม่ได้ล่วงไปเปล่า มันเอาอายุของเราไปด้วย...
ดังนั้น อย่าประมาทเรื่องกาลเวลา ให้แสวงหาสาระคือบุญกุศลไว้เสมอๆ อย่าให้ชีวิตล่วงไปเปล่าประโยชน์”
“เราเกิดมา มีอายุเท่านั้นเท่านี้ปี มันเป็นเรื่องที่แล้วมาแล้ว แต่เวลาข้างหน้ามันขึ้นอยู่กับลมหายใจ กำหนดแน่บ่ได้ ถ้าลมหายใจขาดเมื่อไรก็ตาย
เมื่อยังมีลมหายใจอยู่ก็อย่าประมาท พยายามทำจิตให้สำรวมระวังเกิดปัญญาฟาดฟันกิเลสให้หมดไปสิ้นไปเสมอ”
จุดหมายปลายทางของการธุดงค์ครั้งนี้ คือที่อำเภอหล่มสักจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยจุดหมายปลายทางอยู่ที่ วัดสระคงคาน
การธุดงค์จากบ้านบัวครั้งนี้ มีโยมคำดี น้องชายของหลวงปู่ร่วมเดินทางไปด้วย เพราะจะไปอุปสมบทที่จังหวัดเลย
หลวงปู่เล่าว่า เพชรบูรณ์สมัยนั้นเหมือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก เพราะแวดล้อมด้วยภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาและดงทึบ การคมนาคมติดต่อเป็นไปด้วยความยากลำบาก
การเดินธุดงค์รอนแรมไปในสภาพแวดล้อมที่มีภัยอันตรายอยู่รอบด้านเช่นนั้น สำหรับพระภิกษุบวชใหม่และยังขาดประสบการณ์ก็คงเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสอยู่ทีเดียว
สำหรับองค์หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ท่านเดินธุดงค์มาอย่างโชกโชน ตั้งแต่สมัยยังเป็นสามเณร มาจนถึงขณะนี้ก็เป็นเวลา ๑๒ ปีแล้ว ส่วนอายุพรรษาในการเป็นพระภิกษุของหลวงปู่ก็เข้าพรรษาที่ ๑๑-๑๒ จัดเป็นพระเถรแล้ว ประสบการณ์เดินธุดงค์ในสภาพที่อันตรายจึงหมดห่วงสำหรับ องค์หลวงปู่ ใช่ไหมครับ?
การออกธุดงค์ของหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ไม่ทราบว่าปี พ.ศ.อะไร เข้าใจว่าเป็นคนละครั้งกับหัวข้อที่แล้ว การธุดงค์ครั้งนี้โยมคำดีน้องชายของท่านได้บวชเป็นพระภิกษุคำดี หรือท่านคำดีแล้ว
เรื่องมีดังนี้ : -
ครั้งหนึ่งระหว่างการธุดงค์ หลวงปู่ได้แวะพักที่ถ้ำใกล้ๆ กับตัวจังหวัดกำแพงเพชร โดยหลวงปู่พักที่ถ้ำด้านใน ส่วนท่านคำดีพักที่ถ้ำ นอก
วันหนึ่ง ขากลับจากบิณฑบาต ก็เจอเลียงผาตัวหนึ่งอย่างจังหน้าห่างกันเพียง ๓-๔ วา “มันยืนจ้องเห็นลูกนัยน์ตาใสเม่าๆ” หลวงปู่เล่าด้วยเสียงกลั้วหัวเราะ เพราะองค์ท่านนึกขบขันไปด้วย
“...แต่ไม่กล้าทำอะไร มันคงคิดว่า ข้างเรามี ๒ องค์ ถ้ามันจะเข้าขวิดองค์หนึ่ง แล้วอีกองค์หนึ่งไปดึงขามันไว้จะทำยังไง !”
หลังจากยืนคุมเชิงกันอยู่สักครู่หนึ่ง หลวงปู่ก็ร้องทักออกไปว่า “อ้าว ! หัวมายืนทำอะไรอยู่ล่ะ จะไปไหนก็ไปเลยซิ เดี๋ยวนายพรานก็มาเจอเข้าหรอก”
มันก็เลยกระโจนแผล็วหายไปเลย !
เมื่อกลับถึงที่พักหลวงปู่ก็ได้ขำอีก เพราะท่านคำดีได้ยินเสียงเสือร้องอยู่ที่ตีนเขา เกิดความกลัวเป็นอันมาก รีบไปหาไม้มาทำฝากั้นยกพื้นฟากที่นั่งอยู่
“ฝาไม้ขี้ปะติ๋ว มันจะไปกั้นอะไรได้” หลวงปู่บอกพระน้องชาย
ลูกศิษย์ได้เรียนถามหลวงปู่ว่า ถ้าเสือมันขึ้นมาถึงที่พักจริงๆ ท่านไม่กลัวบ้างหรืออย่างไร?
หลวงปู่ตอบด้วยน้ำเสียงเรียบๆ เป็นปกติว่า “ก็หลวงปู่พักถ้ำด้านใน คิดว่าเสือมันคงเข้าไม่ถึง แต่ถ้าเป็นงูจงอางละก็ว่าไม่ได้ เพราะถ้ำในมีเยอะ วันหนึ่งมันตกลงมาจากเพดานถ้ำ ตัวเบ้อเร่อ!”
หลวงปู่ กับกวางทองที่หลวงปู่หลุย นำมาถวาย |
๓๓. ธุดงค์เจอเสือ
เมื่อพูดถึงเสือ โดยเฉพาะเสือจริงๆ ในป่า ใครๆ ก็คงอดระทึกใจไม่ได้ ใช่ไหมครับ?
หลวงปู่ ได้เล่าถึงการธุดงค์แล้วเจอเสือสองครั้ง ดังนี้ : -
อันที่จริงมาถึงขั้นนี้ หลวงปู่คงรู้สึกคุ้นเคยกับเสือมามากแล้วเพราะท่านได้เจอเสือในระยะประชิดขนาดเอื้อมถึงกันทีเดียว ตอนที่ธุดงค์ผ่านป่าลึกในจังหวัดกาฬสินธุ์
ตอนนั้นหลวงปู่พักอยู่ที่ดอยแห่งหนึ่ง มีจอมปลวกกอใหญ่ เณรทำห้างร้านให้หลวงปู่พักบนหัวปลวก ทางขึ้นลงใช้มีดสับดินจอมปลวกเป็นขั้นบันได
พลบค่ำขณะที่หลวงปู่ กำลังพักผ่อนโดยหันเข้าไปทางบันไดจอมปลวก ฉันใดก็ได้ยินเสียงเจ้าถิ่น
“เสียงมันเดินเป็นจังหวะดังตล๊อบๆ มาเรื่อย จนกระทั่งมาหยุดที่ตีนจอมปลวก”
หลวงปู่เล่าต่อไปอย่างนึกขำ “มันคงไม่เคยเห็นกลดพระธุดงค์เลยแปลกใจว่าเป็นอะไหนอิ สีคล้ำๆ อุ้มลุ้มอยู่ตรงนั้น
ยืนดูสักครู่มันก็ปีนมา เอาเท้าหน้าเขี่ยฝ่าเท้าหลวงปู่ลองดู
หลวงปู่ก็จั๊กจี้ สะบัดฝ่าเท้าวักเอาหน้ามันเข้าโดยบังเอิญ มันตกใจร้อง โฮก! แล้วกระโจนหนีไปเลย”
อีกครั้งหนึ่งที่หลวงปู่มีประสบการณ์เกี่ยวกับเสือ
ครั้งนั้นธุดงค์ผ่านจังหวัดสระบุรี ในขณะที่หลวงปู่เพิ่งอุปสมบทได้ ๒ พรรษา ออกพรรษาก็ธุดงค์จากขอนแก่นเข้ากรุงเทพฯ มีหลวงพี่องค์หนึ่งติดตามไปด้วย ตั้งใจจะไปนมัสการท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)
วันหนึ่ง ขณะที่กำลังเดินมุ่งหน้าไปทางพระพุทธบาท สระบุรีโดยหลวงปู่เดินนำหน้า หลวงพี่องค์นั้นเดินตามหลัง
ทั้งสององค์ก็ได้ยินเสียงเสือคำราม โฮก ! ขึ้น แต่ยังไม่ทันเห็นตัว
หลวงพี่ที่เดินอยู่ข้างหลังคงตกใจสุดขีด ออกวิ่งแซงหน้าหลวงปู่ทั้งที่ทางก็แคบนิดเดียว
หลวงปู่เล่าว่า “นี้แหละ คือว่าไม่ภาวนา...วิ่งไปได้ประมาณสองเส้นจึงได้หยุด ยังไม่เห็นตัวมันเลย ได้ยินแต่เสียงก็วิ่งแล้ว ถ้าวิ่งไปข้างหน้า แล้วไปเจออีกตัวหนึ่งจะทำยังไงก็ไม่รู้”
ลูกศิษย์ได้กราบเรียนถามหลวงปู่ว่า มีหลักในการปฏิบัติอย่างไรหรือมีคาถาบทสวดมนต์พิเศษอะไรไว้ป้องกันสัตว์ร้ายในป่าบ้าง?
หลวงปู่ ตอบว่า -
“อยู่เฉยๆ นี่แหละ เสือมันก็ร้องก็ส่งเสียงไปตามประสาสัตว์ แต่อันที่จริงน่ะ มันกลัวคน เพราะมันเห็นคนเป็นเหมือนยักษ์มาร ถ้ามันรู้ว่ามีคนอยู่ที่ไหนมันจะรีบหนีเลย
ยกเว้นเวลาจวนตัว มันคิดว่าเราจะทำร้ายมันนั่นแหละมันจึงจะกัดเอา
แต่ถ้าเราอยู่เฉยๆ มันคงคิดว่า อีตานี้มีอะไรดีแน่ๆ เลยนิ่งเฉยอยู่ได้”
“นั่นแหละ เพิ่นถึงสอนให้มีสติอยู่ทุกเมื่อ มรณํ เม ภวิสฺสติ
สติ แปลว่า ระลึกได้
ระลึกได้ มันมาจากไหน มาจากระลึกไว้ก่อนเสมอๆ ถ้าไม่อย่างนั้นจวนตัวเข้าแล้วมันนึกไม่ทัน
อย่างพวกเรานี่ ถ้าไปภาวนาอยู่ในถ้ำ และถ้ำนั้นมีเสือด้วยละก็ฮึ ! อะไรจะเกิดขึ้น นั่นมันความตายนะนั่น บ่ใช่เรื่องเล็กน้อย”
ท่านผู้เขียน (ไม่ใช่ผม ผมเป็น ท่านผู้ลอก ต่างหาก) บอกว่า
อันที่จริงแล้ว หลวงปู่ก็เคยให้คาถาเวลาอยู่ป่าอยู่เขาบ้างเหมือนกัน
ท่านบอกว่า
“อยู่ป่าอยู่เขา ให้มีคาถาบริกรรมภาวนาดังนี้เสมอ...โอมพินิจมหาพิจารณา
จะทำอะไร จะไปจะมา ให้หมั่นพิจารณาเสียก่อน ไม่ว่าจะทำจะพูด จะคิด ต้องมีสติ คิดดูให้รอบคอบจึงค่อยทำ การพลาดพลั้งจึงจะไม่ค่อยมี การเจ็บป่วยก็จะน้อย งานการอะไรก็จะไม่เสียหาย”
เอาหละ ! จำไว้นะครับ “โอมพินิจ มหาพิจารณา” เป็นคาถาครอบจักรวาลจริงๆ ที่หลวงปู่เมตตามอบให้พวกเรา รับรอง “ผ่านตลอด” ทุกเรื่องเลยครับ
ไม้เท้าหลวงปู่ | ||
หลวงปู่สิม | หลวงปู่แว่น | หลวงปู่หลวง |
ช่วงทองช่วงท้าย
ทั้งชื่อเรื่อง และเนื้อหาในตอนนี้ ผมคัดลอกมาจากหนังสือ “ละอองธรรม” ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มครับ.: -
พระอาจารย์กรรมฐานซึ่งมีชื่อเสียงมากรูปหนึ่งในภาคอิสานเคยปรารภถึงการดำเนินชีวิตซึ่งเอียงไปข้าง กามสุขัลลิกานุโยโค คือการหมกมุ่นอยู่ในกามสุขอย่างมากของคนสมัยปัจจุบันเอาไว้อย่างน่าคิด
ท่านบอกว่า คนสมัยนี้ติดสุขกันเหลือเกิน สมัยก่อนทำห้องน้ำห้องส้วมไว้ใกล้บ้าน ก็เรียกว่าสบายที่สุดแล้ว
ต่อมาก็ยกมาไว้บนบ้าน เดี๋ยวนี้ถึงกับมีห้องน้ำห้องส้วมอยู่ในห้องนอน
ไม่รู้จะเอาสบายกันไปถึงไหน ท่านว่าอย่างนั้น
ถ้ำผาปล่องยุคพัฒนาก็จัดอยู่ในอันดับแนวหน้าเหมือนกันสำหรับเรื่องของความสะอาดสะอ้านสวยงาม และสะดวกสบาย โดยเฉพาะที่พักของหลวงปู่ ในช่วงปลายอายุขัยของท่านนั้น จัดว่าทันสมัยทีเดียวเพราะเครื่องบำรุงความสะดวกสบายต่างๆ ที่โยมคิดว่า จะช่วยเกื้อกูลให้ธาตุขันธ์องผู้สูงอายุ และค่อนข้างอุ้ยอ้ายอย่างหลวงปู่ ดำรงอยู่ด้วยดี ถูกจัดสรรมาอย่างสุดชีวิต
หลวงปู่อยู่กับสภาพที่ “เป็นไปเอง” นี้อย่างวางเฉย บริขารที่เกินจำเป็น และถ้าแจกจ่ายได้ ท่านก็แจกให้ลูกศิษย์ลูกหาไปเรื่อยๆ
สมัยก่อน หลวงปู่สรงน้ำกลางแจ้ง พระอุปัฏฐากจัดที่และน้ำอุ่นเตรียมไว้ ลูกศิษย์อื่นๆ ก็มาร่วมถวายการสรงน้ำ ครั้งละ ๗ - ๘ องค์ บางครั้งถึง ๒๐ เป็นมหกรรมไปเลย
เพราะทุกองค์อยากช่วยสรงน้ำหลวงปู่ ได้รดน้ำ ถูสบู่ ขัดเนื้อขัดตัว ถูกต้องมือเท้าหลวงปู่นิดๆ หน่อยๆ ก็ยังดี ก็ปลื้มอกปลื้มใจรู้สึกได้บุญได้กุศลกันอย่างถ้วนหน้า
มาตอนหลัง เมื่อมีผู้จัดถวาย “อ่างเพื่อสุขภาพ” ขึ้นมา หลวงปู่ก็อนุโลมตามความปรารถนาของโยมเจ้าภาพ
มหกรรมสรงน้ำกลางแจ้งของหลวงปู่จึงเหลืออยู่เพียงในความทรงจำของลูกศิษย์ลูกหาเท่านั้น
ห้องพักของหลวงปู่ อยู่ด้านหลังถ้ำ ปกติท่านตื่นก่อนเวลาตีสามเมื่อตื่นแล้วก็เดินไปเปิดไฟที่สวิทช์มุมห้อง ทำกิจวัตรส่วนตัว แล้วก็ทำโยคะบริหารร่างกาย ซึ่งหลวงปู่เรียกว่า “ดัดเส้นฤๅษี”ปฏิบัติเช่นนี้เป็นกิจวัตร
คนขับรถซึ่งรับใช้ใกล้ชิดหลวงปู่มานานนับสิบๆ ปี สังเกตความเป็นไปแล้วเกิดความเป็นห่วง
“ผมเห็นว่าหลวงปู่ก็ชรามากแล้ว กลัวว่าเวลาท่านลุกจากเตียงเดินฝ่าความมืดไปเปิดไฟ ท่านอาจสะดุด แล้วก็หกล้ม”
สิ่งที่คนขับรถจัดถวายเพื่อความสะดวกสบายของหลวงปู่ คือจัดการต่อสายไฟให้สวิทช์มาห้อยอยู่ที่หัวเตียง กะว่าพอหลวงปู่ตื่นก็เอื้อมมือเปิดไฟได้ทันที
พอทำเสร็จก็ไปกราบเรียนด้วยความภูมิใจ แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะหลวงปู่เพียงรับทราบแต่ไม่แสดงท่าว่าสนใจเลย
“วันต่อมา ผมก็ไปถามว่า หลวงปู่ใช้หรือเปล่า ? ท่านก็อือออเหมือนเสียไม่ได้ ผมรู้สึกน้อยใจมาก อุตส่าห์ทำก็เพราะเป็นห่วง อยากให้ท่านสบาย แต่ท่านทำเหมือนไม่สนใจเลย
ตอนนั้นก็ไม่ได้เฉลียวใจว่า นั่นน่ะ ท่านสอนผมไม่ให้ติดใน สุข ทุกข์ สรรเสริญ นินทา
คิดแล้วผมยังอายใจตัวเองอยู่จนถึงเดี๋ยวนี้ อยู่กับหลวงปู่มาตั้งนาน ก็ยังไม่วายน้อยใจเสียใจอยู่นั่นเอง”
สำหรับคุณพี่ยอดสารถีของหลวงปู่ ได้เก็บความน้อยใจไว้หลายวัน เพราะคิดว่าผลงานที่เกิดจากความรักและห่วงใยต่อองค์หลวงปู่อย่างแท้จริงนั้น “ไม่เข้าตากรรมการเลย”
จนกระทั่งวันหนึ่ง ขณะนั่งอยู่ต่อหน้าหลวงปู่ ใจกำลังนึกปรุงแต่งความรู้สึกที่ว่านี้ หลวงปู่ก็พูดเป็นการให้สติว่า : -
“สบายแค่ไหนมันก็แค่นั้นแหละ โลกนี้มันทุกข์ทั้งนั้น”
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร จะเจริญอายุถึง๘๐ ปี เท่ากับองค์สมเด็จพระบรมครู คือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านับเป็นโอกาสอันเป็นมงคลยิ่ง
คณะศิษย์มีความประสงค์จะจัดสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์ถวายเป็นอนุสรณ์สถานแด่องค์หลวงปู่ กะว่าจะให้เสร็จและจัดงานสมโภชให้เป็นงานบุญครั้งยิ่งใหญ่ของถ้ำผาปล่อง ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ วันครบ ๘๐ ปีบริบูรณ์ของหลวงปู่
เจดีย์พิพิธภัณฑ์นี้ได้รับการออกแบบโดย ม.ร.ว. มิตรารุณ เกษมศรี (ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๐)
แต่เนื่องจากเจดีย์มีความละเอียด ประณีต และงดงาม จึงต้องอาศัยเวลาค่อนข้างมาก จะเร่งรัดให้เสร็จในเวลารวดเร็วดูจะเป็นไปไม่ได้งานสมโภชพระเจดีย์จึงจำเป็นต้องเลื่อนออกไปจนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ได้จัดงานสมโภชเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๕
ในพิธียกฉัตรพระเจดีย์นั้น หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโปซึ่งคอยจับมือช่วยหลวงปู่ชักรอกยกยอดฉัตร ได้เล่าให้ฟังว่า ตัวท่านกำลังจะเดินทางไปยุโรปตามคำนิมนต์ แต่หลวงปู่ผู้เป็นครูอาจารย์ที่ท่านให้ความเคารพมาก ให้ลูกศิษย์มา
นิมนต์ไปงานยกยอดฉัตรเจดีย์
หลวงพ่อเปลี่ยน บอกว่า ครั้งแรกท่านอึกอักลังเลอยู่เหมือนกัน แต่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า “ควรมาช่วยงานฉลองพระเจดีย์จะเป็นประโยชน์มากกว่า” การเดินทางไปยุโรปจึงเป็นอันต้องงดไป
ในพิธียกยอดฉัตร หลวงพ่อเปลี่ยน นั่งอยู่ข้างๆ เบาะหลวงปู่ ถวายการนวดขาด้วยความเคารพ แล้วพูดเชิงสัพยอกหลวงปู่ว่า
“หลวงปู่นี้มีบุญหลาย ลูกหลานจะไปยุโรปก็บ่ได้ไป ต้องมายกยอดฉัตรช่วยหลวงปู่”
หลวงปู่ท่านฟังแบบยิ้มๆ ไม่ได้โต้ตอบ แล้วหลวงพ่อเปลี่ยน ได้ถามเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพสังขารร่างกายของหลวงปู่ทุกวันนี้เป็นอย่างไร
“มันก็เป็นอย่างนี้ละนะ”
หลวงปู่ท่านตอบอย่างอารมณ์ดี ท่านหัวเราะหึ หึ ในลำคอแล้วก็ยิ้มอย่างสุขสบาย และท่านพูดว่า
“อาตมาไม่เคยยิ้มมากๆ จนเห็นฟันอย่างนี้ !”
ดูทั้งหลวงปู่ และลูกศิษย์ลูกหาที่อยู่ในที่นั้น ต่างยิ้มแย้มแจ่มใส ดูหน้าตาสดชื่น อิ่มเอิบในผลบุญกันอย่างทั่วหน้า
ก็ลองดูรูปถ่ายซีครับ
คุณเพื่อน ยอดสารถีผู้ถวายการขับรถให้หลวงปู่ |
บริเวณลานกว้างเชิงบันไดขึ้นถ้ำผาปล่อง ส่วนหนึ่งเคยเป็นเมรุพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ หลังจากนั้นก็ได้พัฒนามาเป็นมณฑปอนุสรณ์สถานของหลวงปู่ ให้สาธุชนได้กราบไหว้ระลึกถึงพระคุณของหลวงปู่มาจนปัจจุบันนี้
สำหรับความเป็นมาของ “ลานมณฑป” หรือ “ลานทอง” แห่งนี้ มีเขียนไว้ในหนังสือ “ละอองธรรม” ดังนี้ -
บริเวณลานมณฑปแห่งนี้ สมัยหนึ่งยังเป็นเพียงดงไมยราบและสนามหญ้ารก มีกระต่ายป่าชุกชุม
ครั้งหนึ่ง เมื่อหลวงปู่นำพระเณรและแม่ชี ลงไปทำความสะอาดโรงรถ สนามรกก็ได้รับการพัฒนาไปด้วย
หลังสรงน้ำเสร็จในตอนเย็น หลวงปู่ปรารภกับลูกศิษย์ว่า
“ทำความสะอาดเข้าไว้ ต่อไปภายหน้า พระอรหันต์ ๕๐๐ จะมารวมกันที่นี่ แต่หลวงปู่แก่แล้ว จะไม่ได้เห็นหรอก”
ลูกศิษย์ฟังแล้วก็นิ่ง แต่ใจนั้นคิดไปไกลว่า ที่ตรงนี้คงเป็นที่สำคัญอยู่ เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งเดียวที่หลวงปู่ปรารภถึง “บ้านกระต่ายป่า” แห่งนี้
ครั้งหนึ่ง เมื่อกลับจากกิจนิมนต์ข้างนอก ขณะนั่งพักผ่อนอยู่ที่โรงรถ หลวงปู่เหลียวมองธรรมชาติรอบๆ แล้วก็ชี้มาทาง ลานมณฑป พร้อมกับปรารภสั้นๆ ว่า
“ดูบริเวณนี้ไว้ให้ดีนะ”
แต่เมื่อลูกศิษย์กราบเรียนถามถึงเหตุผล หลวงปู่ก็ไม่อธิบายขยายความ นอกจากตอบแบบตัดบทสั้นๆ ว่า
อือ ! ดูไว้เถอะ”
หลังจากนั้น กระต่ายป่า ก็เลยต้องย้ายบ้าน เพราะสนามหญ้ารกได้รับการพัฒนามาเรื่อยๆ ลูกศิษย์บางท่านบางองค์ก็ฉงนอยู่ว่า
“กาลภายหน้าที่หลวงปู่ ปรารภให้ฟังนั้นจะมาถึงเมื่อไร และด้วยเหตุอันใดหนอ หรือจะเป็นงานหลวงปู่ ?”
ตอนนี้ หลวงปู่ไม่ปรารภอะไรอีกเลย และพระอรหันต์ ๕๐๐ ได้มารวมกันที่นี่แล้ว หรือว่าจะมาด้วยเหตุการณ์สำคัญอื่นในอนาคตกาลลูกศิษย์ของหลวงปู่ ก็ไม่ทราบ
ที่ทราบแน่ๆ ในปัจจุบัน และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ ณ ลานมณฑปแห่งนี้ เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖
ย้อนรำลึกไปถึงประวัติและปฏิปทาขององค์หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร พระอริยเจ้าผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแห่งสำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
นับได้ว่าหลวงปู่เกิดมาเพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ ให้กับตนเอง และใช้ชีวิตที่เหลือในการเกื้อกูลมหาชนอย่างแท้จริง
หลวงปู่ ได้พร่ำสอนเสมอๆ มิให้ตั้งตนในทางที่ประมาท ทั้งความประมาทในชีวิต ความประมาทในวัย และความประมาทในความตาย
หลวงปู่เน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของการปฏิบัติภาวนา ว่าเป็นหนทางอันสูงสุดที่จะทำให้ทุกคนพ้นทุกข์ ดังคำสอนของท่านตอนหนึ่งว่า
“ทางพระสอนให้ละชั่ว ทำความดี แต่ไม่ให้ติดอยู่ในความดีให้บำเพ็ญจิตให้ยิ่งขึ้นจนถึงไม่ติดดีติดชั่ว จึงจะพ้นโลกนี้ไปได้
เพราะแม้คุณงามความดีจะส่งผลให้เป็นสุข ไปเกิดในสุคติ โลกสวรรค์ เป็นเทพ อินทร์ พรหม ก็ตาม
แต่เมื่อกำลังของกุศลธรรมความดีนั้นๆ หมดลง ก็ย่อมต้องกลับเวียนว่ายตายเกิดอีก
ทางพระจึงสอนให้มุ่งภาวนา ทำจิตให้รวมระวังตั้งมั่น ทำจิตให้มีปัญญารู้ตามความเป็นจริงด้วยตนเอง จนถอดถอนอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นต่างๆ ออกเสีย จึงจะเป็นไปเพื่อความสิ้นภพสิ้นชาติ หมดทุกข์หมดยากได้โดยแท้จริง”
และอีกตอนหนึ่ง ว่า : -
“เรื่องการภาวนา เป็นยอดของบารมีทั้งหลาย เป็นการเสริมสร้างกำลังใจ กำลังปัญญา ให้เข้มแข็ง สามารถต่อสู้เอาชนะกิเลสน้อยใหญ่ได้...
เมื่อไม่รู้จักภาวนา ก็ปล่อยให้พวกกิเลสเป็นเจ้านายผู้บงการการกระทำของตน ตนก็เลยเป็นทาสของกิเลส เป็นเหตุให้ทำกรรมไม่ดีสะท้อนเอาความทุกข์ยากมาสู่ตน...”
ยืน เดิน นั่ง นอน ไปมาที่ไหนก็ภาวนาได้ |
ในช่วงท้ายของหลวงปู่ ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามาก โอกาสที่จะถูกนิมนต์ไปในที่ต่างๆ จึงมีมากด้วย
ในระยะหลังท่านมีกิจนิมนต์ให้เดินทางลงมาโปรดญาติโยมทางกรุงเทพฯ บ่อยครั้ง บางครั้งหลวงปู่ต้องขึ้นเทศน์ในโอกาสสำคัญๆ เช่นในงานสัปดาห์วันวิสาขบูชา ซึ่งจัดที่ท้องสนามหลวง มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังธรรมและปฏิบัติธรรมเต็มบริเวณนับพันๆ คน
กลางเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๕ หลวงปู่ ได้เดินทางจากถ้ำผาปล่องเพื่อมาทำพิธีเททองหล่อรูปเหมือน ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
และอีกครั้งในตอนต้นเดือนสิงหาคม ๒๕๓๕ เพื่อเททองหล่อรูปเหมือนขององค์หลวงปู่เอง
ที่โรงหล่อช่างสมนึก ซึ่งอยู่ในซอยวัดเพลงวิปัสสนา (จรัญสนิทวงศ์ ซอย ๓๗) เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ
เพื่อนำไปประดิษฐานที่ วัดสันติสังฆาราม บ้านบัว อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร วัดบ้านเกิดของท่านเอง
ขอเขียนย้อนเพื่อเรียกความทรงจำเกี่ยวกับวัดสันติสังฆาราม สักนิดว่า หลวงปู่ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างพระอุโบสถตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ จนแล้วเสร็จ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาฝังลูกนิมิตในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ ในโอกาสเดียวกันงานลองอายุครบรอบ ๗๑ ปีของหลวงปู่
วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕ต๕ หลวงปู่ได้เดินทางลงมากรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง โดยพักที่ บ้านกรุงเทพภาวนา สุขุมวิท ซอย ๓๖ จนถึงวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๕ หลวงปู่จึงเข้าไปรับพัดยศเนื่องในโอกาสได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์จาก ที่ พระครูสันติวรญาณ ขึ้นเป็นพระญาณสิทธาจารย์
หลังจากนั้น หลวงปู่ก็เร่งรีบเดินทางกลับถ้ำผาปล่อง ด้วยมีภารกิจอื่นๆ รออยู่
เมื่อกลับจึงวัด หลวงปู่ก็ยังแลดูแจ่มใสเบิกบาน มิได้ส่ออาการให้เห็นว่าอาพาธแต่อย่างใด
เข้ากรุงเทพฯ ครั้งสุดท้ายเพื่อเข้ารับพระราชทานสมณศักดิ์ ที่ พระญาณสิทธาจารย์ วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๕ |
เรื่องในตอนนี้ มาจากบทความชื่อ ”รอนรอนอ่อนอัสดง” หมายถึงช่วงที่พระอาทิตย์ใกล้จะลับขอบฟ้า ได้ย้อนรำลึกถึงหลวงปู่ตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย มาจนถึงสุขภาพของท่านช่วงหลังอายุ ๘๐ จนถึงกาลมรณะดับสังขารของท่าน มีดังนี้ครับ : -
หลวงปู่ เกิดที่บ้านบัว จังหวัดสกลนคร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ตั้งแต่ได้บรรพชาเมื่ออายุ ๑๗ ปี แล้วท่านก็อยู่ในสมณเพศตลอดมาจนถึงวันดับขันธ์เมื่ออายุ ๘๓ ปี
ตลอดเวลาอันยาวนานถึง ๖๖ ปี ในเพศบรรพชิต หลวงปู่ครองชีวิตอย่างผ่องแผ้วงามพร้อมและหอมไกลด้วยศีลวัตร เป็นบัวงามที่สุดดอกหนึ่งในพระพุทธศาสนา ที่แตกสาขามาจากรากแก้วใหญ่ คือ องค์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ปรมาจารย์แห่งพระกรรมฐานในยุคปัจจุบัน
สำหรับลูกศิษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฆราวาส ซึ่งยึดหลวงปู่เป็นสรณะอย่างเหนียวแน่น เมตตาอันเต็มเปี่ยมไม่มีจำกัด ไม่มีขีดคั่นของหลวงปู่ นับว่าเป็นคุณธรรมเด่นที่ประทับใจยิ่งกว่าสิ่งใด
หลวงปู่ ในช่วงปัจฉิมวัย ไม่ค่อยมีอาพาธเบียดเบียนจนถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อ
มีเพียงครั้งเดียว เมื่อท่านอายุ ๘๐ ปี ที่ท่านต้องเข้าโรงพยาบาลระยะหนึ่ง
หลังจากนั้นแล้ว แพทย์ได้ถวายการตรวจสุขภาพทั่วไปครั้งใหญ่และถวายการบำบัดรักษาบางอย่าง ซึ่งทำให้หลวงปู่กระชุ่มกระชวยขึ้นเป็นอันมาก จนองค์ท่านเองถึงกับออกปากว่า
“รู้สึกแข็งแรงเหมือนตอนเป็นเณรเลย”
ว่าแล้วหลวงปู่ ก็ลุกขึ้นเดินอย่างกระฉับกระเฉงให้ลูกศิษย์ดูประกอบด้วย ทำให้หลายๆ คนคาดหวังว่าหลวงปู่คงเจริญอายุถึง ๙๐ เป็นอย่างต่ำ
หลังวันทำบุญในโอกาสที่หลวงปู่เจริญอายุครบ ๘๐ ปี ไม่กี่วันหลวงปู่ปรารภกับลูกศิษย์ หลานศิษย์ว่า
“หลวงปู่เดี๋ยวนี้เป็นพระเก่าพระแก่ ทำอะไรก็หลงลืม พระพุทธเจ้าเมื่อท่านอายุ ๘๐ ปี ท่านไม่หลงลืม ท่านก็ละสังขารเข้าสู่นิพพาน“
“แล้วหลวงปู่ กะจะอยู่ถึงอายุเท่าไรเจ้าคะ ?” เสียงหลานศิษย์คนหนึ่งถามขึ้น
“อยู่ไปเรื่อยๆ” หลวงปู่ตอบเสียงเรื่อยๆ เหมือนกัน
ทุกคนที่ชุมนุมกันที่บ้านกรุงเทพภาวนาในวันนั้นต่างก็ดีใจและวางใจ
หลายคนตีความเอาเองว่า หลวงปู่คงอายุยืน อยู่ไปเรื่อยๆ อย่างที่หลวงปู่ว่า อาจจะเฉียดๆ ร้อยปีอย่างหลวงปู่แหวนก็เป็นได้
บางคนที่ประมาทมัวเมา คิดว่าหลวงปู่ จะอยู่เป็นที่พึ่งได้อีกนานก็ประมาทมัวเมาต่อไป
จนกระทั่งหลวงปู่ละสังขารไปอย่างกะทันหัน ในเช้ามืดวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ หลังกลับจากรับพระราชทานสมณศักดิ์ที่กรุงเทพฯ ถึงถ้ำผาปล่องเพียง ๑ วัน
ลูกศิษย์ลูกหาส่วนมาก โดยเฉพาะฝ่ายฆราวาส แทบช็อกเมื่อเจอของจริงที่หลวงปู่พร่ำบอก ซักซ้อม ทบทวนให้ตลอดมาชั่วชีวิตของท่าน ยิ่งเมื่อไปทันร่วมงานถวายรดน้ำศพหลวงปู่ ท่านคงปลงสังเวชที่เห็นว่าลูกศิษย์สอบ “มรณกรรมฐาน” ตกกันเป็นแถว
ต่างวิพากษ์วิจารณ์กันต่างๆ นานาในทำนองว่า “หลวงปู่จะไปก็ไม่บอก !”
จนเวลาผ่านไปและได้ย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์บางอย่าง โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่เดือนก่อนหลวงปู่จากไป หลายคนได้ตระหนักว่าแท้ที่จริงหลวงปู่ได้แสดงให้เห็นเป็นนัยๆ มาโดยลำดับ
ท่านผู้อ่านก็คงรับทราบอย่างชัดเจนแล้วว่า ตอนนี้เรากำลังว่ากันด้วยเหตุการณ์ช่วงสุดท้ายก่อนที่หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร จะลาขันธ์ในเดือนสิงหาคม ๒๕๓๕
และเรื่องที่นำเสนอในช่วงนี้ เป็นการประมวลประสบการณ์จากศิษย์ของหลวงปู่บางท่านว่า ได้สัมผัสกับเหตุการณ์บอกเหตุล่วงหน้าอะไรบ้าง ส่วนใหญ่เป็นการย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ตนเองประสบ ภายหลังจากที่หลวงปู่ท่านมรณภาพแล้ว
ในเรื่องนี้เป็นประสบการณ์ของคนขับรถของหลวงปู่ ซึ่งรับใช้ใกล้ชิดกับหลวงปู่เป็นสิบๆ ปี
คนขับรถได้พูดถึงเรื่อง “แปลก” ๒ เหตุการณ์ อยู่ในบทความคนละเรื่อง แต่ผมขออนุญาตนำมาเขียนลงในตอนเดียวกัน ดังนี้ : -
เหตุการณ์ที่ ๑
ช่วงหนึ่งที่งานพระเจดีย์จวนเสร็จ (พ.ศ. ๒๕๓๕) แต่ก็ยังไม่เสร็จเสียที วันหนึ่งหลวงปู่เรียกหาคนขับรถแต่เช้า
“ท่านสั่งให้ผมขับไปที่โรงเลื่อยจักรช้างเผือก ท่านจะไปลงไม้เอง” คนขับรถเริ่มเล่าเหตุการณ์ย้อนหลัง
ซึ่งผมก็นึกแปลกใจว่า ทำไมท่านจึงรีบร้อนอย่างนี้ ดูผิดปกติวิสัย เพราะปกติหลวงปู่ ไม่เคยเกี่ยวข้องกับเรื่องจัดซื้อวัสดุอะไรเลย
ไปถึงโรงเลื่อยยังไม่แปดโมง ประตูยังไม่เปิดด้วยซ้ำ ผมต้องจัดให้ท่านฉันในรถ”
อันนี้เป็นเรื่องแปลก ครั้งที่หนึ่ง ที่คนขับรถเห็นเป็นเรื่องผิดสังเกตแต่ก็ไม่มีข้อมูลอะไรเพิ่มเติมมากไปกว่านี้
เหตุการณ์ที่ ๒ : อยู่เย็นเป็นสุขตลอดไปนะ
อีกเรื่องหนึ่งที่คนขับรถเห็นว่าเป็นเรื่องแปลกทีเดียว แต่ก็ไม่ได้เฉลียวใจอยู่ดี คือ หลังงานยกยอดฉัตรพระเจดีย์เพียง ๒ วัน คือในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๕ หลวงปู่ก็ไปโปรดโยมที่สันกำแพง
ตามปกติแล้ว ทุกวันที่ ๙ สิงหาคม หลวงปู่รับนิมนต์ไปโปรดโยมที่บ้านในอำเภอสันกำแพงเป็นประจำติดต่อกันทุกปี และเป็นที่ทราบกันดีว่าในวันนี้หลวงปู่ไม่รับนิมนต์อื่น
สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เมื่อได้รับคำสั่งให้ไปสันกำแพง คนขับรถจึงแปลกใจ จนต้องกราบเรียนถามว่า
“หลวงปู่ จำผิดหรือเปล่าครับ ที่เคยนิมนต์น่ะวันที่ ๙ สิงหาคม ไม่ใช่เดือนนี้”
แต่หลวงปู่ ก็ยืนยันสั้นๆ ว่า “ไม่ผิด เขานิมนต์”
ไปถึงสันกำแพง ก่อนแปดโมงเช้า เจ้าของบ้านก็ยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ประกอบกับเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ บ้านยังปิดเงียบอยู่
คนขับรถได้รีบเข้าไปบอกกับเจ้าของบ้าน ซึ่งเจ้าของบ้านยังออกมารับอย่างงงๆ
คนขับรถบอกว่า “จะใช่วันของคุณหรือไม่ หลวงปู่ท่านก็มาแล้วนะครับ วันนี้คือวันนี้ วันหน้าก็คือวันหน้า หลวงปู่เดี๋ยวนี้ไม่เหมือนแต่ก่อน วันนี้ท่านมาโปรดแล้ว วันถ้าท่านอาจจะมาไม่ได้”
ตอนนั้นทางถ้ำผาปล่อง ยังไม่ได้ทราบข่าวว่า หลวงปู่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเลื่อนสมณศักดิ์ด้วยซ้ำ
สำหรับเจ้าของบ้านเอง ก็ได้เปิดเผยความรู้สึกที่ได้รับเมตตาจากหลวงปู่เป็นพิเศษในวันนั้นว่า
“ทั้งแปลกใจและตื่นเต้นค่ะ เด็กขึ้นไปบอก ดิฉันยังไม่ค่อยเชื่อว่าเป็นหลวงปู่ แต่ก็รีบลงมา เห็นท่านนั่งคอยอยู่ก็เข้าไปกราบขออภัย
วันนั้นที่บ้านก็บังเอิญไม่มีอาหารสด ตลาดก็วายแล้วด้วย ได้แต่เห็ดเผาะมาต้มถวาย กับน้ำพริกผักลวก แล้วมีไข่ดาว ๒ ฟอง ไข่ต้ม ๒ ฟอง ท่านก็ฉันให้หมดเลย
พอฉันเสร็จท่านก็เทศน์สอนวิธีภาวนา และยังเมตตาบอกว่าหลวงปู่มาแล้ว มีอะไรอีกก็ว่ามา
เราได้ยกพระพุทธรูปพร้อมเซียนทั้ง ๘ องค์ และรูปบูชาทั้งหมดมาให้ท่านอธิษฐาน
ก่อนกลับ หลวงปู่ยังให้พรอีกว่า ให้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดไปนะ”
มีเรื่องแปลกใจที่เกิดขึ้นกับหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ที่ลูกศิษย์ที่ถ้ำผาปล่องได้ตั้งข้อสังเกต คือ ช่วงก่อนถึงงานฉลองเจดีย์ (ต้นเดือนมิถุนายน ๒๕๓๕) หลวงปู่สั่งให้งดรับนิมนต์ ที่รับไว้ล่วงหน้าก็ให้บอกงดไปทั้งหมด
แต่แล้ว หลวงปู่ก็กลับให้รับนิมนต์ได้และโดยไม่ให้ปฏิเสธแม้แต่รายเดียว
แม้บางวันที่กิจนิมนต์มีมาก ลูกศิษย์ขอตัดทอนลงเพราะกลัวเกินกำลัง หลวงปู่ก็ไม่อนุญาต
ต้นเดือนสิงหาคม ๒๕๓๕ เมื่อได้ทราบข่าวว่าหลวงปู่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ พระญาณสิทธาจารย์ และจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเตรียมตัวเข้าร่วมพิธีในพระบรมมหาราชวังครอบครัวนี้ (ที่สันกำแพง ที่หลวงปู่เพิ่งไปโปรดมา) ได้ขึ้นไปกราบไม่ได้เฉลียวใจเลยว่าเป็นการกราบหลวงปู่เป็นครั้งสุดท้าย
และในปีนั้น ถ้ำผาปล่องก็แห้งแล้งจริงๆ ฝนตกน้อยมาก แม้หลวงปู่ ได้พาลูกศิษย์สวดขอฝนแล้วก็ตาม
ช่วงนั้น หลวงปู่ ให้เอาน้ำไปด้วย ท่านปรารภกับโยมว่า
“น้ำแห้ง สวดมนต์แล้วเทวดาท่านไม่เมตตา เราขอมนุษย์ดีกว่า น้ำหวานด้วยนะ เอานะ เอามาเป็นคันรถเลย พระจะเหนื่อยมากเพราะมีงาน”
เมื่อโยมกราบเรียนถามว่า งานอะไร ? หลวงปู่ไม่ตอบ บอกเพียงสั้นๆ ว่า” เอามาเถอะ !”
ใครเลยจะคิดว่างานนั้นคืองานลาจากขององค์ท่านเอง !
เรื่องนี้ก็น่าแปลก ที่หลวงปู่แสดงเป็นนัยคล้ายจะบอกให้รู้ว่าท่านจะละสังขาร : -
จวนเข้าพรรษา (ปี ๒๕๓๕) แม่ชีรูปหนึ่งของถ้ำผาปล่องได้รับคำสั่งว่า หลวงปู่ให้หา
เมื่อขึ้นไปกราบก็ต้องแปลกใจ เมื่อหลวงปู่ ถามว่า
“แม่ชี... จะไปจำพรรษาที่ราชบุรีหรือ ? คิดถึงราชบุรีหรือ ? มีอะไรสำคัญนักหนาถึงต้องไป”
แม่ชีได้ซื้อตั๋วรถทัวร์ไว้แล้ว ตั้งใจว่าจวนถึงวันออกเดินทางจะขึ้นไปกราบเรียนหลวงปู่ ขอลากลับไปจำพรรษายังวัดเดิมที่ราชบุรี
เมื่อหลวงปู่ ดักคอถามนำเหมือนอยากให้อยู่ถ้ำผาปล่องก็เลยอึ้งไป
อีกอย่างก็งงด้วย เพราะหลวงปู่ไม่เคยถามมากอย่างนี้ “ปกติพอกราบลาไปไหน ท่านก็ถามแค่ จะไปกี่วัน พอกลับ ขึ้นไปกราบก็ กลับแล้วหรือ เท่านั้นเอง”
กลับลงมาแล้วก็ยังคิดอยู่ว่า “จะไป” พอดี “คุณป้า” มารวบหัวรวบหางพาขึ้นไปกราบหลวงปู่อีกครั้ง พร้อมกับรับปากกับหลวงปู่ด้วยว่า” จะอยู่”
แม่ชีเผยความรู้สึกในตอนนั้นว่า
“ก็เลยเหมือนตกกระไดพลอยโจน เมื่อท่านมาสิ้นไปในกลางพรรษา ถึงได้รู้ว่าท่านเมตตาเรา
ที่จริง วันนั้นหลวงปู่คงอยากบอกว่า ท่านจะไม่อยู่แล้ว เพราะถ้าท่านไม่เอ่ยปาก และคุณป้าไม่มารวบรัด พรรษานั้นแม่ชีคงไปอยู่ที่ราชบุรี แล้วก็คงต้องเสียใจไปตลอดชีวิตที่ไม่ได้อยู่กับหลวงปู่ในวาระสุดท้ายของท่าน !”
เรื่องนี้ก็น่าแปลกอีกเรื่องหนึ่ง ดังนี้ : -
ย้อนหลังไปถึงวันเข้าพรรษา ปี พ.ศ. ๒๕๓๕
โยมคนหนึ่งซึ่งคุ้นเคยกับถ้ำผาปล่อง ได้เล่าเหตุการณ์ซึ่งเหมือนกับหลวงปู่ ได้แสดงเป็นนัยให้ลูกศิษย์ที่ชุมนุมกันอยู่ในคืนนั้นได้รู้ล่วงหน้าถึงการละสังขารของท่าน
แต่ก็ไม่มีผู้ใดเฉลียวใจคิดไปไกลถึงเพียงนั้น เข้าใจเอาว่าหลวงปู่ลาลูกศิษย์ถ้ำผาปล่องเพื่อไปจำพรรษาที่สกลนครในปีต่อไป
วันนั้นเมื่อหลวงปู่กลับจากเยี่ยมวัดคำประมง (จังหวัดสกลนคร) ท่านก็สั่งให้จดชื่อพระเณรและญาติโยมที่อยู่บนถ้ำผาปล่องในวันนั้นขึ้นไปให้ท่าน กำชับให้เขียนชื่อ นามสกุลให้ครบทุกคนลงในกระดาษแผ่นเดียวกัน
ก่อนทำวัตรเย็น เมื่อสมาชิกไปพร้อมหน้ากันที่ถ้ำ หลวงปู่อ่านรายชื่อในแผ่นกระดาษและมองหน้าลูกศิษย์เรียงไปตามลำดับ แล้วก็มาสะดุดลงที่เด็กน้อยคนหนึ่ง ซึ่งเป็นสมาชิกที่คุ้นเคยกับถ้ำผาปล่องด้วยเหมือนกัน
“ทำไม่ไม่มีชื่อเด็กน้อย ?” หลวงปู่ถามขึ้น
เมื่อผู้ปกครองกราบเรียนว่าใส่ชื่อจริง หลวงปู่ก็เขียนชื่อเล่นที่ท่านรู้จัก กำกับชื่อ นามสกุลจริงของเด็กด้วยตัวของท่านเอง
จากนั้นจึงให้โยงสายสิญจน์เพื่อประกอบพิธีสวดพุทธมนต์ตามที่เคยปฏิบัติเป็นประจำในวันเข้าพรรษา
หลังจากเสร็จพิธี หลวงปู่เรียกหาคนขับรถให้เข้าไปนั่งใกล้ท่านและอุปโลกน์ให้เป็นช่างภาพ ถ่ายรูปลูกศิษย์ที่อยู่บนถ้ำในคืนนั้น เริ่มจากด้านหน้าก่อน กำชับว่าให้ติดทุกคน จากนั้นก็ถ่ายจากด้านหลัง
ระหว่างนั้น หลวงปู่ก็จัดจีวรให้ดูเรียบร้อยด้วย เสร็จแล้วให้ถ่ายรูปซ้ำหลายๆ ครั้ง
“อันนี้ผมก็เห็นแปลกอยู่” คนขับรถเล่า
“ปกติท่านไม่ชอบถ่ายรูป ยิ่งสั่งให้ถ่ายท่านั้นท่านี้ยิ่งไม่ใช่วิสัยของหลวงปู่เลย และท่านไม่เคยสนใจจัดจีวรอย่างที่ทำในวันนั้นด้วย”
ทุกคนที่อยู่บนถ้ำผาปล่องในคืนนั้นก็เลยมีรูปถ่ายกับหลวงปู่ในปีสุดท้ายที่ได้อยู่จำพรรษาที่ถ้ำผาปล่อง
ยกเว้นคนๆ เดียว คือ คนขับรถผู้ใกล้ชิด ซึ่งมัวกังวลว่าฝีมือถ่ายภาพของตัวเองในคืนนั้นคงไม่เป็นที่ประทับใจ จนไม่ได้นึกถึงการที่จะถ่ายรูปกับหลวงปู่ แม้ท่านได้เมตตาถามแล้วถามอีกว่า
“ไม่อยากมีรูปถ่ายกับหลวงปู่ไว้เป็นที่ระลึกหรือ ?”
เรื่องนี้เป็นประสบการณ์ที่เล่าโดยคนขับรถของหลวงปู่อีกเช่นกัน : -
แต่ไหนแต่ไรมาหลวงปู่เป็นคน “ตรงต่อเวลา” ในการประกอบภารกิจทุกอย่างท่านเตรียมพร้อมก่อนเวลาเสมอ
ไม่ว่าเดินทางด้วยวิธีใด สำหรับหลวงปู่แล้ว ไม่มีคำว่ามาสายหรือตกรถตกเรือเป็นอันขาด
มาทำวัตร หลวงปู่ก็มาก่อนลูกศิษย์ เพราะท่านตื่นตั้งแต่ยังไม่ตีสาม
เพราะฉะนั้น ใครยืดยาดชักช้าทำให้ท่านต้องรอ มักถูกเรียกว่า “คนหัวโบราณ ไม่ทันสมัย” แม้ผู้ถูกเรียกเป็นคนรุ่นเยาว์และสมัยใหม่เพียงใดก็ตาม
“ครั้งหนึ่งหลวงปู่เรียกหาผมแต่เช้า”
คนขับรถเล่าเรื่องเป็นตัวอย่าง เพื่อยืนยันอุปนิสัยของหลวงปู่ในข้อนี้ “
“ผมก็รู้แล้วว่าจะมีการเดินทาง ก็กะเวลาให้ท่านฉันเสร็จ แล้วก็เตรียมตัว เลยไม่ได้ขึ้นไปหาทันที ทำนั่นทำนี่ไปพลางๆ
ที่ไหนได้ พอผมขึ้นไปบนถ้ำ ท่านลงเขาไปแล้ว
ผมตกใจมาก รีบวิ่งตามลงไป พบว่าท่านรออยู่ในรถแล้ว แต่ก็ไม่ได้ตำหนิ
ตั้งแต่นั้นมา ผมต้องคอยสังเกต ถ้าเห็นท่านห่มผ้าสีกรัก ซึ่งท่านใช้ประจำเวลาเดินทางไกล ผมไปเฝ้าคอยหน้าห้องเลย ไม่ต้องให้ท่านเรียก
ระยะก่อนที่ท่านจะสิ้นไม่นาน บ่อยครั้งที่ผมเห็นท่านห่มผ้าสีกรักผมกับไปคอยหน้าห้อง แต่ท่านกลับมิได้ไปไหน แล้วก็จำวัดในชุดนั้นย่ามกับไฟฉายวางไว้เรียบร้อยข้างเตียง เป็นอย่างนี้ทุกวัน
ผมซึ่งมานึกออกตอนหลังว่า
ท่านเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางไกลด้วย “ยาน” ของท่านเอง ไม่ต้องใช้ผมอีกแล้ว !”
ดูชื่อหัวเรื่องข้างต้นแล้วน้ำตาซึมนะครับ ต่อไปนี้เป็นบันทึกจากคำให้การของลูกศิษย์ในกรุงเทพฯ ถึงภารกิจของหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร วันต่อวัน ในช่วงเดินทางมาพักที่บ้านกรุงเทพภาวนา สุขุมวิทซอย ๓๖ เพื่อรอเข้ารับพระราชทานสมณศักดิ์ในพระบรมมหาราชวัง อันเป็นการปฏิบัติภารกิจสุดท้ายของหลวงปู่
บันทึกนี้เขียนภายใต้หัวข้อ “เข็นสังขาร” ในหนังสือ “ละอองธรรม” ครับผม. -
ต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ลูกศิษย์ที่ถ้ำผาปล่องรู้สึกแปลกใจที่สังเกตเห็นว่า หลวงปู่มีทีท่ากระตือรือร้นต่อข่าวที่ว่าท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่พระญาณสิทธาจารย์
ทั้งๆ ที่ข่าวทำนองนี้เคยมีมาก่อนหลายครั้งแล้ว แต่หลวงปู่วางเฉยเหมือนแผ่นดินเสมอ
จนกระทั่งครั้งนี้ เมื่อได้รับการยืนยันแน่นอนแล้ว หลวงปู่จึงเตรียมตัวเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเข้ารับพระราชทานพัดยศจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จากคำบอกเล่าของพระและโยมที่ช่วยกันถวายการอุปัฏฐากที่บ้านกรุงเทพภาวนา ทำให้พอมองเห็นภาพว่า หลวงปู่คงต้องใช้ความพยายามอย่างที่สุดในการ เข็นสังขาร ของท่าน เพื่อปฏิบัติภารกิจสุดท้ายในพระบรมมหาราชวัง
เพราะสภาพของหลวงปู่ในตอนนั้น คงเหมือนตะเกียงที่มีแสงเพียงริบหรี่จวนจะสิ้นเชื้อเต็มที
๖ สิงหาคม ๒๕๓๕
บ่ายสี่โมงกว่า หลวงปู่ออกเดินทางจากถ้ำผาปล่องด้วยรถยนต์นั่งประจำตัว ถึงบ้านกรุงเทพภาวนา (สุขุมวิท ๓๖) ประมาณเที่ยงคืนคนขับรถถวายน้ำ ถวายย่าม แล้วกราบลาไปพักผ่อนเมื่อเวลาประมาณ ๑ นาฬิกา
๗ สิงหาคม ๒๕๓๕
ตอนเช้า ญาติโยมมากราบถวายอาหาร แม่ชียกสำรับจากครัวขึ้นไปด้วย
แต่ภายในห้องหลวงปู่ นอกจากเสียงเครื่องปรับอากาศแล้วก็ไม่มีสรรพสำเนียงอื่นใดเลย
“หลวงปู่ครับ ! หลวงปู่ครับ !”
คนขับรถส่งเสียงปลุก แต่คำตอบก็คือความเงียบ จึงได้ไขกุญแจเปิดประตูเข้าไป ภาพที่เห็นทำให้รู้สึกสงสารหลวงปู่จับใจ
“หลวงปู่ ท่านนอนเหนื่อยคล้ายหมดแรง ท่อนล่างเลื่อนไหลลงจากเตียงแล้วครับ พอเห็นหน้าผม ท่านก็บอกเสียงเบาว่า มันไหลลงไปคนเดียว (ไหลลงไปเอง)
ผมเลยกราบเรียนว่าจะจัดให้ท่านฉันในห้อง หลวงปู่ไม่ต้องออกไป
ท่านตอบว่า ยังจะกินอยู่ดี กินไม่รู้จักจบสิ้น”
วันนั้นหลวงปู่ฉันได้เพียง ๓ คำ
อีก ๔ วันต่อมา ระหว่างพักที่บ้านกรุงเทพภาวนา หลวงปู่ต้อง “เข็นสังขาร” เพื่อรอการเข้าวัง พร้อมทั้งโปรดญาติโยมด้วยความอดทนยิ่ง : -
๘ สิงหาคม ๒๕๓๕
พระอาจารย์อานนท์ อดีตพระอุปัฏฐาก และพำนักที่วัดสันติสังฆาราม บ้านบัว อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ได้ข่าวว่าหลวงปู่ลงมากรุงเทพฯ เพื่อรับพระราชทานพัดยศ ตอนกลางคืนเกิดฝันว่า หลวงปู่อาพาธ อาการไม่ดีเลย
รุ่งเช้าพระอาจารย์อานนท์ก็รีบเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งก็พอดีกันกับที่โยมทางบ้านกรุงเทพภาวนา กำลังโทรศัพท์ตามตัวท่านเป็นจ้าละหวั่น เนื่องด้วยหลวงปู่มีอาการ “ไม่ดีเลย” จริงๆ เสียด้วย ท่านก็เลยมีโอกาสได้มาทำหน้าที่อุปัฏฐากหลวงปู่อีกครั้งหนึ่ง
“เป็นบุญที่อาตมาได้ปฏิบัติหลวงปู่เป็นครั้งสุดท้าย”
ตอนเย็น ญาติโยมมากราบถวายของ หลวงปู่ยังคงนอนเหนื่อยอ่อนอยู่ในห้อง
เมื่อคนขับรถเข้าไปกราบเรียนว่ามีโยมมารอถวายของ จะทอดผ้ารับประเคนออกไปข้างนอก ให้หลวงปู่นอนรับในห้องไม่ต้องออกไป ท่านก็พยักหน้า เห็นด้วย
แต่พอประตูห้องเปิด ญาติโยมก็กรูเข้าไปในห้อง หลวงปู่จึงต้องรวบรวมกำลังลุกขึ้นมารับประเคนของ
มีคนเอารูปไปให้หลวงปู่เซ็นด้วย คนขับรถสังเกตเห็นว่ามือท่านสั่น เขียนผิดเขียนถูก
๙ สิงหาคม ๒๕๓๕
ตอนเช้า โยมออกไปข้างนอกเพื่อหาซื้อรถเข็น เนื่องจากหลวงปู่อ่อนเพลียป้อแป้เต็มทีอย่างเห็นได้ชัด
ตอนบ่าย หลวงปู่ออกมาข้างนอกซึ่งเปิดพัดลมทิ้งไว้ ท่านฉีกปฏิทินออกไปทีละใบ (ใบละ ๑ วัน) เพื่อนับดูจนถึงวันที่ ๑๒ สิงหาคม
หลวงปู่หมดแรง ใบปฏิทินที่ฉีกออกมาก็ถูกพัดลมพัดปลิวกระจายไปทั่ว หลวงปู่ถึงกับคลานเข้าห้อง
ตอนเย็น พระอาจารย์อานนท์ เดินทางมาถึงบ้านกรุงเทพภาวนาแล้วเข้าถวายการอุปัฏฐากทันที
เนื่องจากเมื่อตอนเช้ามีคนมากราบขอเส้นเกศาของหลวงปู่ (วันนั้นเป็นวันโกน) เมื่อพระอาจารย์อานนท์ปลงผมถวาย หลวงปู่บอกว่า
“เอาผมอานนท์ใส่ให้เขาไปด้วยซี เขาจะได้เยอะๆ”
เรื่องปลงผมนี้พระอาจารย์อานนท์ท่านออกตัวว่า ตัวท่านเองไม่เคยปลงผมถวายหลวงปู่มาก่อนแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งๆ ที่เป็นพระอุปัฏฐากอยู่หลายปี
“อาตมาปลงไม่ได้ มือไม่เที่ยง สมาธิไม่ดี อีกอย่างหลวงปู่มีขี้กะต๊อด (หูด) เม็ดหนึ่งบนศีรษะท่าน ซึ่งทำให้ยากแก่การปลงผม กลัวมีดโกนจะไปเฉือนเอาหูดเข้า เรื่องปลงผมนี้ต้องท่านจรัญ”
พระอาจารย์อานนท์ หมายถึงพระอุปัฏฐากอีกองค์หนึ่งซึ่งรับหน้าที่ต่อจากท่าน
ในช่วงการถวายอุปัฏฐากนี้ หลวงปู่ปรารภว่า
“นนท์เอ๊ย ! สังขารหลวงปู่ไม่ไหวแล้ว บังคับมันไม่ได้”
พระอาจารย์อานนท์ เล่าว่า ต้องคอยสังเกตกิริยาอาการของหลวงปู่ ถ้าท่านขยับตัวต้องรีบเอากระโถนเข้าไปรองเพราะหลวงปู่กลั้นปัสสาวะไม่ได้แล้ว
ตอนกลางคืน หลวงปู่มีเลือดไหลออกทางจมูก ท่านสั่งบอกว่า
“อานนท์ คืนนี้นอนนี่ ข้างเตียงหลวงปู่นี่แหละ อย่าไปไหน “
๑๐ สิงหาคม ๒๕๓๕
ตอนเช้า พระอุปัฏฐากกราบเรียนขออนุญาตไปทำธุระข้างนอกตอนเย็นถึงจะกลับมาใหม่ หลวงปู่บอกว่า
“ปล่อยธุระไปก่อน ไม่ต้องไปไหน ทำอะไรทั้งนั้น”
เวลาฉัน หลวงปู่ไม่มีแรงพอที่จะเอื้อมไปตักอาหาร แค่ยกช้อนขึ้นถึงปากก็แทบไม่ไหวแล้ว
พระอุปัฏฐากได้ขอโอกาสให้แม่ชีถวายข้าวต้มตอนเพล เพราะกลัวหลวงปู่จะได้รับอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งท่านก็อนุโลมตาม
ตอนเย็น ก็ขอถวายชอคโกแลตดำ พร้อมกับน้ำชา หลวงปู่ให้พระบิชอคโกแลตคำเล็กๆ ป้อน ทั้งๆ ที่ปกติท่านไม่เคยฉันชอคโกแลตดำหลังเพลเลย
พระอาจารย์อานนท์สังเกตอาการหลวงปู่แล้วก็ให้รู้สึกหวั่นใจ นึกถึงที่หลวงปู่เคยปรารภหลายครั้งว่า
“ถ้าช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แล้ว อยู่ลำบาก”
๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๕
ตอนเย็น เมื่อพระอุปัฏฐากถวายการเช็ดตัวหลวงปู่ด้วยโคโลญน์ พร้อมกับกราบเรียนว่า
“โคโลญน์นี้เช็ดตัวดีนะครับหลวงปู่ เช็ดแล้วสดชื่น”
“มันสดชื่นจริงหรือ” หลวงปู่ถาม
“ถ้าจริง เวลาตายจะได้เอามาเช็ด”
๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๕
ตอนเช้า ก่อนออกเดินทางไปยังพระบรมมหาราชวัง หลวงปู่สั่งว่า จะฉันเพลที่บ้านกรุงเทพภาวนาก่อน และให้เป็นข้าวต้ม
เมื่อไปถึง พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทางสำนักพระราชวังได้จัดห้องพักของกองแพทย์หลวงถวายให้หลวงปู่ได้พักรอพระราชพิธี ทั้งนี้ โดยการประสานงานของพระอาจารย์ธงชัย ธมฺมชโย ลูกศิษย์ของหลวงปู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร
ปกติเวลาจำวัด หลวงปู่นอนตะแคงขวาในท่าสีหไสยาสน์ แต่ระหว่างพักผ่อนที่ห้องพยาบาลของกองแพทย์หลวง พระอุปัฏฐากสังเกตว่า หลวงปู่นอนหงาย มือประสานกันไว้บนอก พอท่านหลับแล้วแขนขวาตกลงมาพาดอยู่ข้างตัวในลักษณะมือแบออกมา
พระอุปัฏฐากซึ่งนั่งเฝ้าอยู่ข้างๆ ถึงกับสะดุ้งในใจ
“โอ้หลวงปู่ ทำไมนอนท่านี้ เหมือนนอนให้ลูกศิษย์รดน้ำศพ”
เมื่อได้เวลา ผู้ติดตามเข็นรถไปส่งหลวงปู่ที่ประตูพระที่นั่ง จากนั้นเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังได้ช่วยเข็นรถของหลวงปู่ออกไปรับพระราชทานพัดยศจากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยไม่ต้องไปนั่งแถวตามลำดับ
และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณยกเว้นให้หลวงปู่ไม่ต้องออกไปห่มผ้าไตร หลังรับพระราชทานพัดยศ
บ่ายเกือบเย็นแล้ว เมื่อเข็นรถของหลวงปู่กลับออกมาจากประตูพระที่นั่ง พอเห็นคณะที่ไปรอรับ หลวงปู่ก็ปรารภกับพระอุปัฏฐากคล้ายกับโล่งใจว่า
“นนท์เอ๊ย! หลวงปู่หมดภาระแล้ว หมดเรื่องหมดราวเสียที”
พระอาจารย์อานนท์บอกภายหลังว่า “อาตมาคิดว่าท่านคงตั้งใจถวายพระราชกุศลเป็นครั้งสุดท้าย”
วันนั้น ภายในพระบรมมหาราชวังรถติดมาก อากาศก็ร้อนอบอ้าว กว่าหลวงปู่จะขึ้นรถได้ก็ต้องนั่งรอในรถเข็นนานทีเดียว เกือบ ๒ ชั่วโมง
โยมที่ไปรอรับคนหนึ่งกราบเรียนถามขึ้นว่า
“หลวงปู่เหนื่อยไหมเจ้าคะ?”
คำตอบของหลวงปู่ทำให้คนคงแทบน้ำตาหยดด้วยสงสารท่าน
“เหนื่อยจนพูดไม่ถูกแล้ว”
พระอาจารย์อานนท์ เข้าไปกราบลาแทบเท้าเป็นครั้งสุดท้ายและได้กราบอาราธนานิมนต์ขึ้นว่า
“ขอให้หลวงปู่ดำรงขันธ์อยู่ให้นานที่สุดที่จะนานได้”
หลวงปู่นิ่ง ปกติเวลาได้รับอาราธนาในทำนองนี้ ท่านมักจะย้อนถามแบบขำๆ ว่า “คนนิมนต์น่ะจะอยู่ได้หรือเปล่า? “
เย็นแล้ว เมื่อรถออกจากประตูพระบรมมหาราชวัง หลวงปู่สั่งให้ตรงกลับเชียงใหม่ในเส้นทางเดิม แต่ยังอุตส่าห์เป็นห่วงคนขับรถและผู้ร่วมโดยสาร
“วันนี้ได้กินข้าวกันหรือยัง แวะกินข้าวกันก่อนก็ได้”
ออกจากกรุงเทพฯ หลวงปู่หลับตลอดทาง จนถึงนครสวรรค์ท่านบอกคนขับรถว่า
“เพื่อนเอ้ย ! จอดให้เทหม้อมูตรหน่อย”
(คนขับรถหลวงปู่ชื่อ เพื่อน นะครับ)
หลวงปู่เปิดประตูรถ เทปัสสาวะออกนอกรถด้วยองค์ท่านเอง แล้วท่านไม่มีแรงปิดประตู
เมื่อรถเลยลำปาง ขณะรถกำลังขึ้นเขา คนขับรถได้ยินเสียงดังโจ้ก เหมือนเทน้ำลงถังเปล่า
“ผมคิดว่าธาตุไฟท่านคงแตก!”
“หลวงปู่เหนื่อยไหมเจ้าคะ?”
“เหนื่อยจนพูดไม่ถูกแล้ว”
|
๑๓ สิงหาคม ๒๕๓๕
รถถึงถ้ำผาปล่องเวลาประมาณ ๓ นาฬิกา
วันนั้นทั้งวัน หลวงปู่นอนพักผ่อนอยู่ข้างในโดยไม่ได้ฉันอะไรเลยแม้แต่น้ำส้มคั้น
ตอนกลางคืน คณะศิษย์ทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ร่วมใจกันเจริญพระพุทธมนต์ฉลองพัดยศถวาย
หลวงปู่นั่งรถเข็นออกมาเป็นประธาน และยังพาลูกศิษย์นั่งสมาธิภาวนาต่ออีกประมาณหนึ่งชั่วโมง
หลังจากเสร็จพิธี ท่านก็นั่งพักเหลียวดูไปรอบๆ บริเวณเหมือนกับจะสำรวจและร่ำลา สักครู่ใหญ่จึงได้กลับเข้าที่พักหลังถ้ำ
๑๔ สิงหาคม ๒๕๓๕
วันกำหนดทำบุญฉลองพัดยศหลวงปู่
๖.๐๐ น. พระส่วนใหญ่ทยอยกันออกไปบิณฑบาต พระบวรอินฺทปญฺโญ ยกสำรับของว่างของหลวงปู่ขึ้นไปถวาย แต่พบว่าหลวงปู่ยังไม่ตื่น ก็เลยวางสำรับไว้ในห้องแล้วกลับลงมา
เนื่องจากเห็นว่าหลวงปู่อ่อนเพลียมากจนฉันอะไรไม่ลงมาแล้วหนึ่งวันเต็ม คณะศิษย์มีความประสงค์จะให้หลวงปู่ได้ฉันของว่างที่ยังร้อนเพื่อฟื้นฟูกำลัง จึงพากันขึ้นไปขอโอกาสกราบเรียนให้หลวงปู่ลุกขึ้นฉัน
แต่...ไม่ว่าจะกราบเรียนอย่างไร ก็ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง มีเพียงความเงียบและวังเวงจนผิดสังเกต จึงพากันไปเรียกพระที่ยังไม่ได้ลงไปบิณฑบาต ให้มาช่วยกันดูอาการ
พระจรัญ อภิชาโต รีบไปตีระฆังรัวถี่ยิบบอกเหตุฉุกเฉินเสียงดังก้องไปทั่วขุนเขา ส่งสัญญาณให้พระที่ลงไปบิณฑบาตให้รีบรุดกลับขึ้นมาที่ถ้ำโดยเร็ว
หลวงปู่อยู่ในท่านอนสีหไสยาสน์ หน้าเข้าหาผนัง ย่ามและไฟฉายวางอยู่ข้างๆ อย่างเรียบร้อย แขนตกพับลง
เมื่อพระช่วยกันพลิกองค์ท่านให้นอนหงาย ทุกองค์และทุกคนต่างก็ใจหายวาบที่เห็นฟันปลอมของท่านร่วงหล่นออกจากปาก ซึ่งปกติเวลาจำวัดหลวงปู่ไม่ใส่ฟัน
เนื้อตัวของท่านยังอุ่น แต่ปลายมือเริ่มมีสีคล้ำ พระเณรวิ่งหายาหม่องมานวดถวาย คนขับรถเสนอให้ตามหมอ ต่างคนต่างอกสั่นขวัญหาย หยิบจับอะไรแทบไม่ถูก]
๖.๓๐ น. ทุกชีวิตที่อยู่บนถ้ำผาปล่องจึงได้ตระหนักและยอมรับความสูญเสียอันยิ่งใหญ่
หลายคนยังคงมึนงงที่ถูกจู่โจมด้วยข้อสอบมรณกรรมฐานของหลวงปู่
แต่สักพักก็ตั้งสติกันได้ เริ่มต้นจัดงานใหญ่ที่สุด งานสุดท้ายถวายหลวงปู่ผู้เป็นครูบาอาจารย์ได้โดยอัตโนมัติ
พริบตาเดียวข่าวก็แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว
หลวงปู่ผู้เป็นสรณะอันเกษมของลูกหลาน ได้วางโลก วางลูกวางหลาน ปลีกไปแล้วแต่องค์เดียว....สู่แดนอันเกษม
“สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลาย
เป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะจะมีได้”
มหาปรินิพพานสูตร
|
...สังขารลาจาก เหลือแต่ดวงจิตผู้รู้อยู่...
|
หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ท่านสอนเน้นย้ำให้พวกเราพิจารณาความตาย อยู่เนืองๆ เพื่อจะได้ไม่ประมาทในชีวิต
คืนวันที่ ๑๓ ต่อเช้าวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ หลวงปู่ได้แสดงธรรม กัณฑ์สุดท้ายเพื่อสอนลูกศิษย์ โดยการทำให้ดูจริง ว่าสุดท้ายปลายทางของทุกชีวิตก็ต้องเป็นเช่นนี้ โดยไม่มีผู้ใดได้รับการยกเว้น เป็นความเสมอภาคของทุกชีวิตอย่างแท้จริง
เรื่องราวที่นำมาเสนอในตอนนี้ เป็นคำบอกเล่าของพระอุปัฏฐากที่อยู่รับใช้ใกล้ชิดหลวงปู่ในช่วงกลางวันของวันนั้น : -
คืนวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๓๕
เวลา ๒๐.๓๐ น. พระเณร พร้อมด้วยอุบาสก อุบาสิกา ได้พร้อมใจกันเจริญพระพุทธมนต์ฉลองสมณศักดิ์ถวายหลวงปู่
หลังจากเสร็จพิธี หลวงปู่พาพระเณร และญาติโยม นั่งภาวนาต่อจนถึงเวลาประมาณ ๒๑.๓๐ น.
แล้วท่านก็นั่งพักดูบริเวณภายในถ้ำอีกประมาณ ๒๐ นาที คล้ายกับจะเป็นการอำลาสถานที่
จนถึงเวลา ๒๒.๐๐ น ท่านจึงกลับเข้ากุฏิที่พักด้านหลังถ้ำ
พระชัย อปฺปกิจฺโจ ซึ่งเป็นพระอุปัฏฐากในคืนสุดท้าย ได้เล่าเหตุการณ์ต่อจากนั้น ว่า
หลังจากหลวงปู่เข้าที่พักในเวลาสองยาม (๖ ทุ่ม) หลวงปู่ก็ให้เอามุ้งกลดลง
พอถึงตอนตีหนึ่ง หลวงปู่ได้ลุกขึ้นมาบ้วนเสลด ท่านพูดว่า “ขี้เท่อมันติดคอ”
หลังจากนั้นหลวงปู่ ก็ล้มตัวลงนอนในท่าสีหไสยาสน์ จนถึงตอนตีสอง ท่านลุกขึ้นอีกครั้งถามหากระบอกปัสสาวะ
ปัสสาวะครั้งนี้ท่านบอกว่ารู้สึกขัดๆ เสร็จแล้วหลวงปู่ก็เอนลงนอนในท่าสีหไสยาสน์ (ตะแคงขวา) เหมือนเดิม
พระชัยเล่าเหตุการณ์ต่อไปว่า
หลังจากนั้น สังเกตว่าลมรายใจของหลวงปู่เริ่มติดขัด มีเสียงหายใจสั้น ยาว ดังบ้างค่อยบ้าง เป็นระยะๆ ได้สักพักใหญ่ เสียงก็เงียบหาย ไป
พร้อมกันนั้นมือขวาที่หนุนใต้ศีรษะท่านก็ตกลงมา พระชัยนึกว่าหลวงปู่คงจะนอนหลับไป
จนกระทั่ง ๖ โมงเช้า (วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๓๕) ได้มีศิษย์มาเรียกหาหลวงปู่ จึงได้ทราบกันว่า
หลวงปู่ได้มรณภาพแล้วตั้งแต่เมื่อคืน เวลาประมาณตีสาม (๑๔ สิงหาคม )
หลวงปู่ได้จากไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับ รวมสิริอายุของท่าน ๘๒ ปี ๙ เดือน ๑๙ วัน อายุพรรษา ๖๓ พรรษา
เกี่ยวกับการจัดการเรื่องสรีระร่างกายเมื่อมรณภาพแล้วนั้นหลวงปู่ได้เคยบอกไว้เป็นนัยๆ จากเทศน์กัณฑ์หนึ่ง ซึ่งคณะศิษย์ได้ยึดเป็นแนวปฏิบัติ เพื่อให้สมกับเจตนารมณ์ของท่าน ดังนี้ :
“...เมื่ออายุสังขารแก่ชราถึง ๘๐ ปีแล้ว อะไรๆ มันก็ชำรุดทรุดโทรมหมดแล้ว พระองค์ก็ตัดสินใจเข้าสู่นิพพาน ปล่อยวางสังขารนี้ไว้ให้อยู่ที่โลกนี้ จิตใจพระพุทธเจ้าก็เข้าสู่นิพพาน
นิพพานํ ปรมํ สุขํ - นิพพานเป็นสุข
พระองค์เอาจิตใจไปแล้ว ส่วนร่างกายมนุษย์ก็ทำฌาปนกิจถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้าภายใน ๗ วันนั้นเอง ก็ถวายพระเพลิง ไม่เก็บไว้เหมือนคนสมัยนี้
คนสมัยนี้ไม่รู้เก็บไว้ทำไม ร่างกายของคนเรา ของพระเณร ผ้าขาวนางชี อะไรก็ตาม มันก็ตกอยู่ในหลัก อนิจจํ ทุกขํ อนตฺตา
เมื่อมันหมดเรื่องแล้ว ก็เผาผีจี่กระดูกไปให้มันหมดเรื่องหมดราว
คือไม่ต้องไปเป็นห่วง เจ้าของเขาผู้ตายไปเขาก็ไม่ห่วงแล้ว เราจะมาห่วงทำไมเล่า... “
ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ณ บ้านบัว อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร กำเนิดของหลวงปู่ เปรียบได้ดั่งดอกบัวงามดอกหนึ่งที่เกิดขึ้น มีชีวิตที่ขาวสะอาดตลอดมา
แม้มาอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ หลวงปู่ก็ยังรักษาความบริสุทธิ์สะอาดแห่งพรหมจรรย์ในภิกษุภาวะไว้ ไม่มีที่ด่างพร้อย ประพฤติตรงต่อการหลุดพ้น เพื่อความหมดไปสิ้นไปแห่งอาสวะกิเลส
จนเป็นเนื้อนาบุญอันเยี่ยมของโลกองค์หนึ่ง และเป็นที่เคารพรักของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย
สมดังคำพยากรณ์ของบูรพาจารย์ใหญ่ที่เป็นแม่ทัพแห่งกองทัพธรรม คือ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร
หลวงปู่ ได้ทำหน้าที่ครูอาจารย์ได้โดยสมบูรณ์ยิ่งแล้ว ทั้งด้านเทศนาธรรม และด้วยการประพฤติปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีงามในวงพระพุทธศาสนา
หลวงปู่เป็นผู้มีใจหนักแน่น มั่นคง ไม่หวั่นไหวไปด้วยโลกธรรมทั้งหลาย ซึ่งพวกเราบรรดาศิษย์สามารถยึดถือองค์ท่านเป็นหลักในการปฏิบัติตามได้โดยสนิทใจ
หลวงปู่ จากไปอย่างผู้ที่พร้อมรับต่อความตายทุกขณะสมตามที่ท่านได้พร่ำสอนศิษย์อยู่เสมอ
บัดนี้ คงเหลือไว้แต่ธรรมานุสรณ์ที่จะคอยย้ำเตือนลูกศิษย์เสมือนหนึ่งหลวงปู่ยังคงอยู่อย่างใกล้ชิดในดวงใจของพวกเราตลอดไป
หนึ่งแห่งธรรมอันนั้นก็คือ ”มรณํ เม ภวิสฺสติ” เพื่อให้พวกเราไม่ประมาทต่อความตายที่จะมาถึง
แล้วเร่งขวนขวายภาวนา ตามอุบายวิธีที่หลวงปู่ได้พร่ำสอนให้เป็นผู้ที่พร้อมรับความตายทุกลมหายใจเข้าออก ก็จะได้ชื่อว่าปฏิบัติบูชาคุณหลวงปู่อย่างสูงสุด...
“ชีวิตของเราไม่เป็นของยั่งยืน เป็นของที่จะต้องตายลงโดยแน่นอน
เวลานี้เราอาจได้ยินข่าวมรณกรรมของผู้อื่น ของพระอื่น
แต่อีกไม่นาน... ข่าวนั้นต้องเป็นของเราบ้าง
เพราะชีวิตทุกชีวิต จะต้องเป็นไปในลักษณะนี้ทั้งนั้น
ฉะนั้น อย่าประมาทเรื่องความตาย ให้เร่งภาวนา
ทำจิตใจให้หมดกิเลส หมดทุกข์ หมดร้อน ให้ได้ก่อนความตายจะมาถึง”
พุทฺธาจาโรวาท
|
การรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติ และปฏิปทาของพระญาณสิทธาจารย์ - หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ก็ขอจบลงเพียงแค่นี้
สังฆัง นะมามิ ขอกราบแทบเท้าคารวะหลวงปู่ด้วยความเคารพอย่างสูงที่สุด
หากมีการกระทำใดที่ศิษย์ได้กระทำขึ้น ทั้งโดยเจตนา ไม่เจตนาหรือด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อย่างใดก็ตาม ศิษย์ขอกราบแทบเท้าเพื่อขอขมากรรมด้วย
ธรรมะใดที่หลวงปู่เคยเมตตาพร่ำสอน ที่หลวงปู่ได้รู้ได้เห็นได้เข้าถึง ขอได้โปรดเมตตาให้ศิษย์ได้รู้ได้เห็น ได้เข้าถึงธรรมะนั้นๆ ตามหลวงปู่ด้วยเถิด
กราบเท้าหลวงปู่ด้วยความเคารพยิ่ง
ปฐม-ภัทรา นิคมานนท์
๒๖ เมษายน ๒๕๔๙

สมัครสมาชิก:
บทความ
(Atom)