สำหรับผู้สนใจ
ของศักดิ์สิทธิ์มีพลังมากขึ้นนั้น ต้องอาศัย"หัวใจของผู้บูชา"ด้วยเช่นกัน
***เคล็ดความศักดิ์สิทธิ์***
จะให้ของศักดิ์สิทธิ์มีพลังมากขึ้นนั้น ต้องอาศัย"หัวใจของผู้บูชา"ด้วยเช่นกัน
จะให้ของศักดิ์สิทธิ์มีพลังมากขึ้นนั้น ต้องอาศัย"หัวใจของผู้บูชา"ด้วยเช่นกัน
ยิ่งศรัทธามากเท่าไหร่ ยิ่งขลังมาก!!!
ยิ่งมากคนบูชา ยิ่งมากความศักดิ์สิทธิ์
ประวัติ พระครูวรเวทย์วิสิฐ (ครูบาธรรมชัย ธมฺมชโย) วัดทุ่งหลวง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม
วัดทุ่งหลวง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
คัดลอกมาจาก http://www.konmeungbua.com/saha/tummachai.html
ถ้าท่านออกเดินทางจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ ไปอำเภอฝางตามเส้นทางโชตนา จะผ่านอำเภอแม่แตง เลยที่ว่าการอำเภอแม่แตงไปไม่ไกลถึงหลัก กม.42 จะพบว่า มีสะพานคอนกรีตอยู่ตรงนั้น จงหยุดที่นั่นมองไปสุดปลายถนน จะเห็นถนนโค้งเลี้ยวขึ้นภูเขาหายลับไปในสายหมอก สู่แดนอำเภอเชียงดาวและฝางเป็นที่สุด ตรงหลัก กม. 42 นี้ ถ้าท่านมองไปทางทิศตะวันตก จะเห็นมีทางแยกเข้าสู่หมู่บ้าน มีป้ายบอกไว้ว่า ทางเข้าวัดทุ่งหลวง ตำบลแม่แตง อำเภอแม่แตง วัดนี้แหละคือวัดที่ครูบาธรรมชัย จำพรรษาอยู่ !
คำสอนอาจารย์
ครูบาธรรมชัยเป็นพระปฏิบัติชอบ เป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาของประชาชน อย่างกว้างขวางอีกองค์หนึ่งแห่งถิ่นไทยงาม ท่านเป็นพระอาจารย์สายเดียวกันกับครูบาชุ่ม โพธิโก ครูบาคำแสน วัดสวนดอก ที่เคยเป็นศิษย์ใกล้ชิดครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งลานนาไทยมาก่อน
ครูบาเจ้าศรีวิชัย
|
เมื่อปี พ.ศ. 2481 ขณะที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยป่วยหนักอยู่ ณ วัดจามเทวี ครูบาธรรมชัย และครูบาชุ่ม โพธิโก ได้ร่วมเฝ้ารักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิดทั้งกลางวัน กลางคืน ท่านครูบาทั้งสองผู้เป็นศิษย์ รู้ได้ด้วยญาณว่าพระอาจารย์ใหญ่ครูบาเจ้าศรีวิชัย เห็นจะไม่รอดแน่แล้วครั้งนี้ เพราะอาการป่วยหนักมีแต่ทรงกับทรุด สุดความสามารถของหมอจีน หมอไทย และหมอฝรั่งในสมัยนั้นจะเยียวยารักษา ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยเอง ก็รู้ตัวว่าอาพาธครั้งนี้ท่านไม่รอดแน่ ๆ ท่านไม่เคยเกรงกลัวกับความตายเลย ไม่รังเกียจความตาย เพราะการที่มนุษย์เราตายไปนั้น เป็นเสมือนปิดบัญชีลูกหนี้เสียครั้งหนึ่งนั่นเอง
"คำสั่งสอนก่อนทิ้งสังขาร"
"ศิษย์ทั้งหลาย เราเห็นจะไม่รอดแน่ อาการครั้งนี้หนักนักขอทุกคนอย่าได้ทิ้งการงานที่เราทำไว้ จงช่วยกันจัดการก่อสร้างการบุญสุนทานแทนเราต่อไปเถิด "
ครูบาชุ่ม โพธิโก
|
ครูบาเจ้าศรีวิชัยบอกกับครูบาชุ่ม และ ครูบาธรรมชัย ตลอดจนศิษย์ทุกคนในวันนั้น ด้วยเหตุนี้เอง ครูบาชุ่ม โพธิโก และครูบาธรรมชัย จึงได้ดำริมีความคิดเห็นตรงกันว่า ควรจะได้ว่าจ้างช่างมาปั้นรูปเหมือนท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย ไว้เป็นที่ระลึก สำหรับให้คณะศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ได้กราบไหว้บูชา ช่างได้ปั้นรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัยอย่างเร่งรีบ ขนาดเกือบเท่าองค์จริงแข่งกับเวลามรณภาพที่ใกล้เข้ามาทุกที เมื่อช่างปั้นรูปเหมือนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ครูบาชุ่มและครูบาธรรมชัยได้พร้อมใจกันกับคณะศิษย์ ยกเอารูปปั้นเข้าไปวางยังปลายเท้าครูบาเจ้าศรีวิชัยที่กำลังนอนอาพาธอยู่ จากนั้นก็นมัสการกราบเรียนให้ท่านทราบถึงวัตถุประสงค์ ในการปั้นรูปเหมือนของท่านขึ้นในครั้งนี้ ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้บอกให้ครูบาชุ่ม และครูบาธรรมชัยช่วยกันประคองร่างท่านลุกขึ้นนั่ง เมื่อท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เห็นรูปปั้นของท่านแล้ว ท่านถึงน้ำตาเอ่อออกมาคลอดเบ้าด้วยความปิติยินดี น้ำตาค่อย ๆ ไหลลงอาบแก้ม ขณะที่ท่านได้ยื่นมือมาลูบไล้รูปปั้นของท่าน พลางพึมพำโมทนาว่า
"ขอให้ศิษย์ทั้งหลาย ให้ถือปฏิบัติบำเพ็ญความดีดังรูปปั้นนี้ให้ยึดมั่นในพระวินัย ให้มีเมตตากรุณาต่อประชาชนโดยเสมอหน้ากัน อย่าเลือกที่รักมักที่ชัง จงบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่สาธารณะอบรมศรัทธาประชาชนให้อยู่ในศีลกินในธรรม ปกติประชาชนนั้นมีความดีอยู่ในตัวมากบ้างน้อยบ้างไม่เสมอกัน กิเลสตัณหาสิ่งแวดล้อม ทำให้พวกเขาหลงผิดคิดทำบาปอกุศลต่าง ๆ นานาไปตามอารมณ์อันรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จงพยายามสั่งสอนอบรมศรัทธาประชาชนให้เข้าใจถึงธรรมะความเป็นจริงของชีวิตในโลกนี้และโลกหน้าเถิด"
ครูบาธรรมชัยได้กลับมาทำหน้าที่เป็นครูสอนโรงเรียนประชาบาล และครูสอนนักธรรมที่สำนักวัดป่าสัก และ วัดน้ำพุ สมัยนั้นครูสอนประชาบาลหายาก ทางศึกษาธิการอำเภอได้อาราธนาให้พระภิกษุสงฆ์ช่วยสอนหนังสือเด็ก ๆ ชาวบ้านด้วย เป็นการสอนฟรี ๆ ไม่ได้มีเงินเดือนอะไร ซึ่งครูบาธรรมชัยก็เต็มใจสอนให้ด้วยจิตอันเปี่ยมไปด้วยเมตตา มีความกรุณาสงสารเด็ก ๆ ชาวบ้าน ท่านสอนหนังสือและสอนนักธรรมเป็นเวลาถึง 9 ปี สอนนักธรรมได้นิตยภัตรปีละ 24 บาท
1. ประวัติครูบา
ครูบาธรรมชัย นามเดิมว่า กองแก้ว เมืองศักดิ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2457 ตรงกับเดือน 9 เหนือ ขึ้น 14 ค่ำ ปีขาล ฉศก ทางเหนือเรียกว่า ปีกาบยี่ ร.ศ. 133 จุลศักราช 1276 ถือกำเนิดที่หมู่บ้านสันป่าสัก หมู่ที่ 6 ตำบลป่าสัก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นบุตรของนายสุจา หรือหนานพรหมเสน มารดาชื่อนางคำป้อ บิดามารดามีอาชีพแพทย์แผนโบราณและช่างไม้ ทำสวน ทำนา มีพี่น้องร่วมท้องมารดาเดียวกัน 7 คน ท่านเคารพบูชาในบิดา มารดามาก เชื่อฟังคำสั่งสอนอยู่ในโอวาทของผู้บังเกิดเกล้าอย่างเคร่งครัด ท่านเป็นผู้มีนิสัยพูดจริง ทำจริง ไม่เหลาะแหละเหลวไหล สนใจในธรรมะ ชอบเข้าวัดเข้าวามาตั้งแต่เล็ก ๆ เพราะบิดาเคยบวชเรียนมาแล้วรอบรู้ในอรรถในธรรม จึงได้อบรมปลูกนิสัยลูกทุก ๆ คนให้ยึดมั่นในพระรัตนตรัย
ท่านได้เข้ารับการศึกษาจากโรงเรียนประชาบาล ณ บ้านสันป่าสัก จบชั้นประถมปีที่ ๓ มีความประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน กิริยามารยาทเรียบร้อย มีความอุตสาหพยายาม เป็นผู้มีความเสียสละ กตัญญูกตเวทีตาต่อบุพการี
2. สามเณรกองแก้ว
เมื่อท่านเรียนจบชั้นประถม 3 อายุได้ 15 ปี ครูบาธรรมชัย ได้เข้าอบรมเป็นศิษย์วัดสันป่าสักอยู่ 3 เดือน หัดท่องเรียนเขียนอ่านตัวอักขระพื้นเมืองเหนือและเรียนสวดมนต์สิกขาสามเณร โดยมีพระบิดา และพระอินหวันเป็นผู้สอน เมื่อท่องเรียนเขียนอ่านได้คล่องแล้ว จึงได้บวชเป็นสามเณรในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2471 เดือน 6 เหนือ ขึ้น 6 ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก ทางเหนือเรียกว่าปีเบิกสี เจ้าอธิการคำมูล ธัมวงฺโส วัดแม่สารบ้านตอง เป็นอุปัชฌาย์
เป็นสามเณรอยู่ได้ 1 พรรษา มีความสนใจในสมถกรรมฐานมาก ไม่ว่าจะทำงานอะไรอยู่ที่ไหน จิตใจคอยครุ่นคิดอยู่แต่เรื่องการธุดงค์ของพระสงฆ์องค์เจ้า รุ่นครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ที่บวชเรียนแล้วนิยมพากันเข้าป่าบำเพ็ญเพียรภาวนา แสวงหาธรรมวิเศษ เราเป็นสามเณรน้อย ก็ได้ชื่อว่าบวชเรียน เข้ามาอาศัยในพระศาสนา ควรจะออกเดินทางเข้าป่าดูบ้าง เพื่อแสวงหาพระธรรมอันวิเศษ
หลังจากครุ่นคิดไตร่ตรองอยู่หลายวัน ท่านจึงได้เข้าไปกราบลาสมภารเจ้าวัดว่า ขอลาเข้าไปบำเพ็ญกรรมฐานในป่าสักหนึ่งพรรษา สมภารเจ้าวัดตกใจ เพราะยังเห็นว่าเป็นสามเณรอ่อนพรรษา ไม่ประสีประสาในเรื่องอรรถธรรมตลอดจนวัตรปฏิบัติของพระธุดงค์ดีพอ ขืนเข้าไปอยู่ป่าอาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้โดยง่าย จึงได้ห้ามปราบไว้ แต่ครูบาธรรมชัย หรือสามเณรกองแก้วในสมัยนั้น ก็ยืนกรานที่จะเดินธุดงค์เข้าป่า ไปกระทำความเพียรแต่เพียงผู้เดียวให้จงได้ สมภารเจ้าวัดอ่อนอกอ่อนใจ เลยอนุญาตให้ไปได้ตามปรารถนา ไม่อยากชัดศรัทธาให้เป็นบาป และยังได้แนะนำแนวทางการปฏิบัติกรรมฐานในป่าให้หลายอย่าง ด้วยความเมตตาเอ็นดู
3. ธุดงค์โดดเดี่ยว
เมื่อเดินทางไปถึงป่าห้วยดิบแต่ลำพังผู้เดียว ได้พบชาวบ้านวัยกลางคนผู้หนึ่งออกมาจากป่า ชายผู้นั้นแสดงความตกใจ เมื่อรู้ว่าสามเณรองค์น้อยจะเข้าป่าไปบำเพ็ญเพียรภาวนา เขาได้กล่าวเตือนอย่างหวาดกลัวว่า เวลานั้นมีเสือเย็นหรือเสือสมิงตัวหนึ่งกำลังออกอาละวาดหากินอยู่ในป่า เสือดุร้ายตัวนี้โตใหญ่เกือบเท่าควายหนุ่ม เป็นเสืออาคม คือ มีตุ๊เจ้าหรือพระองค์หนึ่งแก่กล้าวิชาไสยศาสตร์ เกิดร้อนวิชา มีอาเพศให้เป็นไปด้วยบาปกรรม ชอบแปลงร่างเป็นเสือตัวใหญ่ลักเอาวัวควายชาวบ้านไปกินบ่อย ๆ นานวันเข้าถึงกับคาบเอาคนไปกิน มีชาวบ้านที่ออกป่าไปเก็บฟืนและสมุนไพรในป่า แล้วถูกเสืออาคมตัวนี้คาบไปกินหลายรายแล้ว ขอให้สามเณรรีบกลับวัดเสียเถิด ขืนเข้าไปอยู่ในป่ามีหวังเจอเสือเย็นตัวนี้แน่
สามเณรไม่กลัวเสือ บอกว่า อันคนเรานี้ ไม่ว่าจะยากดีมีจน เมื่อเกิดมาก็ดิ้นรนกันไปต่าง ๆ นานา แล้วในที่สุด ก็สิ้นสุดปลายทางที่ความตายเหมือนกันหมด ไม่มีใครที่จะหลีกหนีความตายไปได้พ้น เราเกิดมาในชาตินี้ ได้บวชเรียนในพระศาสนา ถือได้ว่าเป็นบุญกุศลใหญ่ จะต้องปฏิบัติกิจพระศาสนาด้วยการลงมือปฏิบัติธรรมให้รู้แจ้งเห็นจริง ด้วยการเข้าไปปฏิบัติกรรมฐานในป่า ขออุทิศชีวิตให้กับป่าดงพงพี เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายอันพึงจะมี มิได้อาลัยเสียดายต่อชีวิต ถ้าจะตายก็ขอให้มันตายไปเถิด ขอให้ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียงสร้างสมบารมีเป็นพอ ชีวิตคนเรานี้สั้นนัก วันตายจะมาถึงเมื่อไรไม่มีใครรู้ ดังนั้นจึงอยากจะเร่งรีบสร้างความดีด้วยการปฏิบัติธรรมเพราะการรีรอผัดวันประกันพรุ่งย่อมถือได้ว่า เป็นผู้อยู่ในความประมาท ปัจฉิมโอวาทหรือพระวาจาครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ทรงรวบรวมซึ่งโอวาททั้งปวงที่ได้ประทานไว้ตลอด 45 พรรษา ลงในจุดใหญ่ใจความคือ ความไม่ประมาท อันเดียวเท่านั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า
"ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราผู้ตถาคตเตือนท่านทั้งหลายให้รู้ สังขารมีความเสื่อม ความฉิบหายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวง อันเป็นประโยชน์ตนและผู้อื่น ให้สมบูรณ์ ด้วยความไม่ประมาทเถิด"
ชายชาวบ้านได้สดับตรับฟังถ้อยวาจาของสามเณรกองแก้วดั่งนี้ ก็ยกมือโมทนาสาธุให้กับความตั้งใจอันอาจหาญเด็ดเดี่ยวของสามเณร และกล่าวสรรเสริญว่า สามเณรแม้จะอายุยังน้อย แต่มีจิตเคารพศรัทธาเลื่อมใสในหลักธรรมของพระพุทธเจ้าอย่างไม่มีวิจิกิจฉา คือไม่มีความสงสัยในพระรัตนตรัย สามเณรเป็นผู้เจริญโดยแท้ เป็นนักบุญที่มนุษย์และเทวดาจะพึงสรรเสริญ กล่าวแล้วชายชาวบ้านป่าก็กราบลาไป
4. ป่าห้วยดิบ
สามเณรกองแก้วได้ธุดงค์เข้าไปในป่าห้วยดิบด้วยจิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ป่าใหญ่แห่งนี้ชุกชุมด้วยสัตว์ร้ายอาศัยหากิน เช่น เสือ ช้าง หมี งู กระทิง เป็นต้น สามเณรเลือกได้ทำเลเหมาะสมใต้ต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นเป็นที่พักอาศัยสำหรับนั่งบำเพ็ญสมาธิและเดินจงกรม ธรรมชาติของป่าอันสงัดเงียบวังเวงใจ ทำให้อารมณ์ความรู้สึกเบาสบายถูกกับนิสัยรักสงบของท่านมาก ความรู้สึกหวาดกลัวภัยอันตรายในป่าไม่มีเลย เพราะได้ตั้งจิตที่จะอุทิศตนต่อการปฏิบัติกรรมฐานอย่างเด็ดเดี่ยว แม้จะเสียชีวิตก็ไม่อาลัยเสียดาย เพื่อที่จะพิสูจน์ว่าตนเองมีศรัทธาในธรรมะของพระพุทธเจ้าอย่างเด็ดขาด ไม่สงสัยหวั่นไหว เมื่อไม่หวั่นไหวมีใจตั้งมั่นในการปฏิบัติจนถึงที่สุดจักต้องพบธรรมวิเศษ อันเป็นพระธรรมที่พ้นจากโลก อยู่เหนือโลกและไม่ถูกจำกัดด้วยกาลเวลาอย่างแน่นอน
คืนแรกในป่าห้วยดิบ
สามเณรนั่งสมถภาวนาอยู่จนค่อนคืน จิตตั้งมั่นในสมาธิยังไม่เป็นที่พอใจ เพราะยังมี ถีนะมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอนบ้าง ความคิดฟุ้งซ่านของอารมณ์บ้าง (อุทธัจจะกุกกุจจะ) ซึ่งเป็นสิ่งกั้นความดีมิให้เกิดที่เรียกว่า นิวรณ์ คอยรบกวนจิตไม่ให้รวมตัวสงบได้ ทำให้ได้ความรู้ว่า ความตั้งใจของคนเรานี้ พอทำเข้าจริง ๆ มันไม่ค่อยจะได้ผลดังใจเลย ต้องมีอุปสรรคขัดขวางเป็นธรรมดา จิตคนเรานี่มันเหมือนลิง หลุกหลิกยิ่งพยายามจะบังคับให้อยู่นิ่ง ๆ ยิ่งหลุกหลิกไปกันใหญ่ ทำให้รู้สึกนึกขำ และตั้งใจว่า จะต้องเพ่งเพียรเอาชนะจิต บังคับมันให้สงบอยู่ในอำนาจของตนให้จงได้
หลังจากเดินจงกรมแล้ว ก็นั่งหลับไปงีบหนึ่งก็พอดีสว่าง ตลอดคืนไม่มีสัตว์ป่าเข้ามาแผ้วพานรบกวนเลย ลงไปอาบน้ำเย็นเฉียบชำระกายในห้วย แล้วจึงออกไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ได้อาหารพอสมควรตามศรัทธาของชาวบ้าน นำมาขบฉันในป่าแต่พออิ่ม เพื่อยังชีพ ไม่พยายามติดใจในรสชาติเอร็ดอร่อยของอาหาร เห็นว่าอาหารเป็นสิ่งปฏิกูล ที่จำใจต้องขบฉันเข้าไป ก็เพื่อให้สังขารร่างกายพอดำรงอยู่ได้เท่านั้น เพื่อที่จะมีแรงบำเพ็ญสมณธรรมต่อไป
ขณะที่นั่งขบฉันอาหารในบาตรอยู่ใต้ต้นไม้นั้น สังเกตเห็นว่า ตรงที่นั่งอยู่มีรอยบุ๋มกดลงไปในดิน เมื่อเพ่งดูก็รู้ว่าเป็นรอยตีนเสือขนาดใหญ่เท่าจานข้าว รู้สึกแปลกใจจึงลุกขึ้นเดินสำรวจดูก็ได้พบอีกว่า มีรอยเสือใหญ่อยู่ทั่วบริเวณนั้น เป็นรอยใหม่ ๆ แสดงว่า เสือตัวนี้มันมาเดินวนเวียนอยู่โคนต้นไม้ตอนที่สามเณรเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน
พอรู้ว่าเสือขนาดใหญ่มาปรากฏในบริเวณที่นั่งสมาธิบำเพ็ญบารมี พลันมีอาการขนลุกซู่ไปทั้งตัว จิตใจหวั่นไหวรู้สึกกลัวจนตัวสั่น ขาดสติไปชั่วขณะ แต่แล้วก็ตั้งสติได้ และนึกขำตัวเอง ทีแรกบอกว่าไม่กลัวอะไร พร้อมแล้วที่จะยอมตายในป่า แต่พอเอาเข้าจริง ๆ เห็นแค่รอยเสือก็ตกใจกลัวขาดสติเสียแล้ว นี่แสดงอีกว่า จิตคนเรานี้มันชอบหลอกหลอนตัวเราเอง เหมือนลิงหลอกเจ้าจริง ๆ
เมื่อรู้แน่ว่า เสือมาเยี่ยมจริง ๆ ไม่ได้ตาฝาดหรือฝันไป สามเณรก็พยายามสงบใจลงนั่งที่โคนต้นไม้ใหญ่ ดำรงสติให้ตั้งมั่นรำพึงถึง "สติปัฎฐาน 4" อันเป็นหลักสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า ภิกษุในพระธรรมวินัยไปอยู่ในป่าหรือว่าอยู่ที่โคนต้นไม้ หรือ ไปอยู่ที่ว่าง บ้านเรือน...(ข้อความขาด)....สกปรกโสโครกทั้งข้างนอกข้างใน ชวนให้อาเจียนเหียนรากแท้ ๆ เราเบื่อหน่ายในร่างกาย เราปรารถนาจะทำจิตให้สะอาดบริสุทธิ์ ตัดขาดจากกิเลส ถ้าเราตัดขาดจากกองกิเลสตัณหาคือร่างกายสังขารนี้ได้แล้ว เราก็จะไปอยู่แดนนิพพานซึ่งเป็นแดนสุขอย่างยิ่ง
สามเณรกองแก้วเล่าว่า ท่านได้พิจารณาอย่างนี้ไป ตามความรู้ความเข้าใจของสามเณรวัยเยาว์ ที่ยังอ่อนต่อการศึกษาในหลักพระธรรม พิจารณาไปตามที่ครูบาอาจารย์สั่งสอน จะผิดจะถูกอย่างไรไม่คิดถึง คิดอย่างเดียวว่า ครูบาอาจารย์สอนมานี้เป็นของจริงแท้ เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้าแน่
เมื่อพิจารณาอย่างนี้กลับไปกลับมาเป็นเวลานานพอสมควร ปรากฏอัศจรรย์ว่า จิตรวมตัวเข้าสู่ความสงบอย่างไม่รู้ตัว เป็นสมาธิในเอกจิต ลืมเรื่องเสือ ลืมทุกสิ่งทุกอย่างในอดีตและปัจจุบันหมดสิ้น แต่มีสติรู้ตัวว่า มีอารมณ์โพลงสว่างไสว สภาพจิตมีความเยือกเย็นแช่มชื่นอย่างพรรณนาไม่ถูก
5. ประจันหน้าเสือ
เมื่อจิตเริ่มคลายออกจากสมาธิ มารับรู้อารมณ์ภายนอกกายอีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นเวลาเย็นมากแล้ว แสงแดดตกรำไรเรี่ยยอดไม้ บอกให้รู้ว่า จิตดำรงสมาธิมาเป็นเวลานานเกือบ 8 ชั่วโมง จึงลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถ เดินไปที่ลำห้วยเพื่อจะอาบน้ำชำระกาย ทันใดก็ต้องตกตะลึงยืนนิ่งอยู่กับที่ ก้าวขาไม่ออก เมื่อพบว่าเสือใหญ่ตัวหนึ่งกำลังก้มกินน้ำอยู่ที่ลำห้วย เป็นเสือลายพาดกลอนขนาดใหญ่มาก เกือบเท่าควาย แต่เตี้ยกว่า หางมันลากดินกวัดแกว่งไปมา ดูเหมือนมันจะรู้ได้ด้วยสัญชาตญาณว่ามีคนเดินมาข้างหลัง มันรีบหันขวับกลับมาอย่างรวดเร็ว ทำให้เห็นหัวโตขนาดกระบุง นัยน์ตาสีเหลืองจัดมีประกายวาวจ้าคล้ายกระทบแสงไฟ น่ากลัวมาก
สามเณรตะลึง เสือก็ตะลึง ที่ได้ประจันหน้ากันอย่างไม่นึกฝัน ครั้นแล้วชั่วอึดใจที่ต่างฝ่ายต่างก็ตะลึงจังงัง เสือโคร่งตัวใหญ่ก็แยกเขี้ยวส่งเสียงคำรามดังสนั่นปานฟ้าผ่า ย่อตัวลงต่ำกระโจนผึงเข้าตะครุบสามเณรอย่างดุร้ายกระหายเลือด ความตกใจทำให้สามเณรผงะก้าวถอยหลังเลยสะดุดรากไม้ริมตลิ่งล้มลง ทำให้เสือกระโดดข้ามหัวไปจนเย็นวาบไปทั้งร่างด้วยแรงลมที่พัดผ่าน ความตื่นตระหนกทำสามเณรลุกไม่ขึ้น นอนเนื้อตัวสั่นเทา ๆ อยู่ตรงนั้นเอง เพราะควบคุมสติไม่อยู่ คิดว่าตัวเองต้องตกเป็นอาหารเสือแน่ ๆ วันนี้ แต่เสือหายเงียบไปไม่เห็นกลับมาอีก จึงค่อยมีสติลุกขึ้นมองไปรอบ ๆ ก็ไม่ปรากฏพบวี่แววของเสือตัวนั้นเลย คงพบแต่รอยขนาดใหญ่ของมันมีขนาดเท่าจานข้าวย่ำอยู่แถวนั้น
เมื่อพิจารณาดูแล้วก็เห็นว่า เป็นรอยเสือตัวเดียวกันกับที่ปรากฏตรงโคนต้นไม้ที่นั่งบำเพ็ญสมาธิ พักใหญ่จิตจึงคลายจากความหวาดกลัว มีสติทำให้ได้ข้อคิดพิจารณาว่า สตินี้เป็นตัวสำคัญของคนเรา เมื่อชั่วครูนี้เราขาดสติอย่างน่าละอาย สติขาดจากใจ ทำให้ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เวลาตกอยู่ในที่คับขันอันตรายกะทันหันไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว สติกับปัญญาจะต้องอยู่คู่กันตลอดเวลาถึงจะใช้ได้ เพราะปัญญาของเรายังไม่แหลมคม ปัญญายังไม่หยั่งรู้ถึงสัจธรรมที่แท้จริง จิตจึงมีความกลัว ถ้าเราทำลายความกลัวให้เด็ดขาดลงไปได้ ปัญญาและสติจะต้องมั่นคงเป็นสมบัติติดอยู่กับใจ
เมื่อคิดได้เช่นนี้จึงตัดสินใจว่า จะต้องเดินตามหาเสือตัวนี้ให้พบ แล้วนั่งคุกเข่าลงตรงหน้ามันยอมให้มันขบกัดฉีกเนื้อกินเสีย เป็นการอุทิศร่างกายชีวิตเลือดเนื้อให้มันด้วยความเมตตาสงสาร และจักเป็นการทำลายความกลัวในจิตใจของเราให้หายขาดไปด้วย
สามเณรเดินขึ้นมาจากลำห้วยตามหาเสือที่เห็นรอยของมันเป็นทางไป รอยนั้นใหญ่มากและชัดเจนกดลึกลงไปในดินใหม่ ๆ จิตใจเต็มไปด้วยความอาจหาญ ใคร่ที่จะพลีชีวิตอุทิศให้เสือกินอย่างไม่เสียดายอาลัย รอยเสือโคร่งมุ่งหน้าไปทางโคนต้นไม้ที่สามเณรใช้เป็นที่นั่งบำเพ็ญภาวนา
6. เสือกลายเป็นพระ
ครั้นแล้วสามเณรก็ต้องตะลึงเมื่อพบว่า ที่โคนต้นไม้นั้นมีสีเหลืองนั่งอยู่ สีเหลืองนั้นไม่ใช่เสือ หากเป็นพระภิกษุวัยกลางคนรูปหนึ่งกำลังนั่งอยู่ตรงโคนต้นไม้ ลักษณะท่าทางของพระภิกษุรูปนั้นมีสง่าน่าเลื่อมใสผิวคล้ำเกรียม ท่านเผยอยิ้มน้อย ๆ ให้แล้วทักทายขึ้นด้วยเสียงเยือกเย็นว่า
"เดินตามหาเสือจะให้เสือกินจริง ๆ หรือเณรน้อย"
สามเณรกองแก้ว (ครูบาธรรมชัย) รู้สึกสะดุ้งใจ ที่พระภิกษุแปลกหน้าล่วงรู้ความในใจของตน จึงนั่งลงกราบแล้วถามว่า หลวงพ่อรู้ได้ยังไง หลวงพ่อพบเสือตัวนั้นผ่านมาทางนี้หรือ ?หลวงพ่อหัวเราะไม่ตอบคำถามนั้น แต่ท่านกลับกล่าวยกย่องว่า มีสติปัญญาดี ต่อไปภายหน้าจะรุ่งเรือง ขออย่าได้สึกเลย ให้ฝากชีวิตไว้กับพระศาสนา
สามเณรกองแก้วรู้สึกอิ่มเอิบใจ ที่หลวงพ่อแปลกหน้าในป่ากล่าวให้กำลังใจเช่นนั้น แต่ก็ยังติดใจในเรื่องเสือใหญ่ตัวนั้นอยู่ จึงถามว่า เสือตัวนั้นเป็นเสือจริง ๆ หรือเป็นเสืออาคมกันแน่
"เสือไม่สำคัญ ใจเราสำคัญกว่า อย่าไปสนใจเสือ เมื่อใจของเราสะอาดบริสุทธิ์ มีศีลมีสมาธิ มีปัญญาอยู่เต็มภูมิแล้ว เราชนะทุกอย่าง เสือสางสิงสาราสัตว์ในโลกนี้จะมาทำอะไรเราไม่ได้เลย" หลวงพ่อกล่าว
สามเณรกองแก้วกราบด้วยความเคารพเลื่อมใจแล้วถามว่า หลวงพ่อมาจากไหน ? จะไปไหน ?
ท่านตอบว่า ท่านเป็นพระกรรมฐาน เป็นพระป่า แสวงหาวิเวกบำเพ็ญสมณธรรม แต่ไม่ยอมบอกชื่อเสียงเรียงนาม
"เณรมีความตั้งใจดี ปฏิบัติดีแล้ว แต่ยังขาดครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอน การปฏิบัติกรรมฐานนี้ต้องมีครู ถ้าปฏิบัติด้นดั้นไปตามลำพัง ตนเองก็เปรียบเสมือนเขาตัดถนนไว้ให้แล้ว แต่เราไม่เดินตามถนนสายนั้น กลับเดินบุกป่าฝ่าดงไป โอกาสที่จะหลงทางมีมาก หรือถ้าไม่หลงทาง กว่าจะถึงจุดหมายปลายทางก็ย่ำแย่ไปเลย" หลวงพ่อตักเตือนด้วยความหวังดี
สามเณรกองแก้วถามว่า ควรจะไปเรียนกรรมฐานกับพระอาจารย์ที่ไหนดี
หลวงพ่อตอบว่า พระอาจารย์ที่เก่งกรรมฐานมีอยู่หลายองค์อยู่ตามวัดก็มี อยู่ตามป่าตามเขาก็มี แต่ที่สะดวกไปหาได้ง่ายอยู่ไม่ไกลก็คือ ครูบาเจ้าศรีวิชัย สมควรที่สามเณรจะได้ไปกราบเท้าท่านฝากตัวเป็นลูกศิษย์เสียเถิด เพราะครูบาเจ้าศรีวิชัยท่านมีบุญญาบารมีมาก เป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฎิบัติชอบหาผู้เสมอเหมือนได้น้อยมาก
7. เดินจงกรม
จากนั้น หลวงพ่อแปลกหน้าก็ได้แนะนำสั่งสอนข้อปฏิบัติกรรมฐานให้หลายอย่าง โดยเฉพาะการเดินจงกรม ท่านได้กรุณาแนะนำว่า
"การเดินจงกรม กับ การนั่งสมาธิ จะต่างกันตรงที่เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถเท่านั้น การเดินจงกรมต้องเดินให้ถูกวิธีถึงจะได้ผล อย่าเดินส่งเดช ตามสบายใจตัวเอง ต้องเดินตามวิธีของครูบาอาจารย์ท่านกำหนดไว้ ก่อนเดินจงกรมเราต้องดูต้องหาสถานที่สมควรก่อน จะต้องเป็นสถานที่เงียบสงัด พื้นดินต้องเรียบราบ อย่าให้เป็นพื้นที่สูง ๆ ต่ำ ๆ ความยาวของสถานที่เดินจงกรมกำหนดอย่างสั้นประมาณ 25 ก้าว อย่างยาวที่สุด 50 ก้าว ควรจะกำหนดทางเดินไว้ 3 สายคือ.-
การเดินจงกรม 3 สายนี้ เดินเพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่าเดินตัดทางโคจรของดวงตะวันไม่ดี แต่ถ้าสถานที่จำกัดจะเดินสายเดียวก็ได้ให้เลือกเอา
ครั้งแรกจะเดินจงกรม ให้ประณมมือขึ้นเสียก่อน ระลึกว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ (ว่า 3 จบ) ยกมืออธิษฐานไว้เหนือระหว่างคิ้ว ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยที่ตนถือเป็นสรณะที่พึ่งยึดเหนี่ยวใจ และระลึกถึงคุณบิดามารดา อุปัชฌาย์อาจารย์ ตลอดท่านผู้เคยมีพระคุณแก่ตน
จากนั้นรำพึงถึงความมุ่งหมายแห่งความเพียรที่กำลังจะทำด้วยความตั้งใจเพื่อผลนั้น ๆ
เสร็จแล้วเอามือลง เอามือซ้ายลงก่อน เอามือขวาวางทับทาบกันไว้ที่ท้องน้อยใต้สะดือ ตามแบบพุทธรำพึง ให้เจริญพรหมวิหารสี่
เจริญจบแล้วทอดตาลงต่ำในท่าสำรวม ตั้งสติกำหนดจิตและธรรมที่เคยนำมาบริกรรมกำกับใจ หรือพิจารณาธรรมทั้งหลายตามแบบที่เคยภาวนา แล้วเริ่มออกเดิน
ทอดสายตาลงประมาณในราว 4 ศอกเป็นอย่างไกล หรือใกล้เข้ามาที่เท้าเราก้าวนั้นก็ได้ แต่เมื่อรู้สึกเดินไม่สะดวกก็มองออกห่างไปหน่อย เมื่อห่างออกก็ไม่สะดวกสบายก็ให้ทอดสายตาหาระยะที่พอสบาย แต่อย่าให้ไกลนัก
วิธีเดิน อย่าก้าวเดินให้ไวนัก อย่าช้านัก อย่าก้าวยาวนัก อย่าสั้นนัก อย่าเผลอปล่อยมือไกวแขน หรือ เอามือขัดหลังและกอดอก อย่าเผลอเดินมองโน่นมองนี่ ถ้าจะภาวนา พุทโธ ก็ให้ก้าวขาไปหนึ่งว่า "พุท" ก้าวอีกขาไปว่า "โธ" บริกรรมภาวนาไปเรื่อย ๆ ตามจังหวะก้าวขา
พอไปถึงสุดทางอย่าด่วนหมุนตัวกลับให้เร็วนัก ให้ค่อย ๆ หมุนตัวเวียนไปทางขวา หรือจะหยุดยืนกำหนดรำพึงสักครู่ที่หัวทางเดินจงกรมก็ได้
การหยุดรำพึงกำหนดพิจารณาธรรมนั้น จะยืนกลางทางจงกรมหรือตรงไหนก็ได้ไม่บังคับ เพราะธรรมที่ผุดขึ้นมาในใจขณะนั้นย่อมมีความตื้นลึกหนาบางแตกต่างกัน แล้วแต่กรณีที่ควรอนุโลมตามความจำเป็น เมื่อหยุดรำพึงจนเข้าใจแจ่มแจ้งแล้วก็ออกเดินต่อไป
การเดินจงกรมนี้ จะเดินนานหรือไม่เพียงไรตามแต่เราจะกำหนดเอง เพราะการเดินจงกรมก็คือทำสมาธิอีกแบบหนึ่งนั่นเอง คือเพียงแต่เปลี่ยนอิริยาบถเพื่อระงับเวทนา นั่งสมาธินาน มันเมื่อย ก็ต้องออกเดินจงกรมระงับความเมื่อยขบ ถ้าเดินจงกรมมาก มันเหนื่อย ก็หยุดเดิน เปลี่ยนเป็นนั่งอย่างเดิม ถ้านั่งมากมันเหนื่อย ก็ให้นอนทำสมาธิ หรือ ยืนนิ่ง ๆ ทำสมาธิ การนอนทำสมาธินั้น ให้นอนในท่าสีหไสยาสน์ อย่านอนในท่าอื่นเป็นอันขาด
การเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิภาวนาก็คือ การกลั่นกรองหาสิ่งเป็นสาระ คุณในตัวเรา เพื่อเอาชนะกิเลส ตัณหา อวิชชา ตามที่พระพุทธเจ้าและครูอาจารย์ท่านสอนไว้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็อย่าหักโหมร่างกายตัวเองจนเกินไป ให้ปฏิบัติในสายกลาง ๆ เพื่อความเหมาะสมของธาตุขันธ์ร่างกายของตนเอง ที่จำเป็นต้องใช้งานประจำ ถ้าหักโหมมากธาตุขันธ์ร่างกายเจ็บป่วยพิกลพิการไป สุดท้ายก็ไม่บรรลุถึงจุดหมายปลายทางที่ตั้งใจไว้"
|
หลวงพ่อกล่าวสรุปในที่สุด สามเณรก้มกราบหลวงพ่อผู้ลึกลับด้วยความเคารพเลื่อมใสศรัทธา ที่ท่านได้มีเมตตาอบรมสั่งสอน แนะแนวทางปฏิบัติให้ ท่านให้ศีลให้พรพอสมควรแล้วก็ลาจากไป
นึกแล้วก็เป็นเรื่องประหลาด สามเณรมาบำเพ็ญกรรมฐานในป่า ชาวบ้านได้กล่าวเตือนให้ระวังเสือสมิงจะขบกิน เป็นเสืออาคมอันเกิดจากตุ๊เจ้ารูปหนึ่งร้อนวิชาไสยศาสตร์แปลงกายเป็นเสือ ครั้นเมื่อเข้ามาอยู่ในป่าก็เจอเสือจริง ๆ เสือทำท่าจะขบกินแต่แล้วมันก็วิ่งหนี เมื่อตามรอยตีนมันมาก็พบเข้ากับพระธุดงค์รูปหนึ่ง จะเป็นไปได้ไหมว่า หลวงพ่อแปลกหน้าที่เจอนี้คือตุ๊เจ้าเสือสมิง ถ้าใช่จริง ๆ ทำไมไม่ขบกินสามเณร
8. เสือใช่ไหม
เรื่องนี้ ครูบาธรรมชัยได้เล่าในภายหลังต่อมาหลายปีว่า ธรรมชาติของเสือนั้น เป็นสัตว์กินเนื้อที่ดุร้าย เมื่อมันเข้ามาหาคนเรา หรือเจอกับมันโดยบังเอิญอย่างจังหน้า ธรรมชาติของเสือจะต้องกระโจนเข้าทำร้ายคนทันที เหตุที่เสือไม่ทำร้ายพระธุดงค์กรรมฐานนั้น เข้าใจว่ามีสาเหตุอยู่ 3 ประการ
1. เทพยดาอารักษ์ในป่าดลบันดาลใจเสือให้เข้ามาทดสอบกำลังใจของพระธุดงค์ ไม่ได้มีเจตนาจะให้มาทำร้าย
2. เทพยดานิรมิตร่างกลายเป็นเสือมาทดสอบกำลังใจ เพราะเทพยดาย่อมจะมีฤทธิ์สามารถจำแลงแปลงกายเป็นสัตว์ต่าง ๆ ได้ แปลงกายเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้ แปลงกายเป็นปีศาจหลอกหลอนก็ได้
3. เสือจริง ๆ ได้กลิ่นพระธุดงค์ ตรงเข้ามาเพื่อจะขบกัดกินเป็นอาหาร โดยที่เทพยดาไม่เกี่ยวข้องด้วยเลย แต่ครั้นเมื่อเสือเข้ามาใกล้พระธุดงค์แล้ว ก็กระทบเข้ากับกระแสจิตอันแรงกล้าของพระธุดงค์ เป็นกระแสเมตตาอันชุ่มเย็นอย่างประหลาดล้ำ ทรงอำนาจลี้ลับ ได้ทำให้หัวใจของเสือคลายความดุร้ายลง เกิดความรู้สึกเป็นมิตรสนิทใจ ดุจเดียวกันกับเสือที่มนุษย์นำมาเลี้ยงไว้ในครอบครัวตั้งแต่ตัวเล็ก ๆ จนเติบโตใหญ่ เสือตัวนั้นย่อมจะรักใคร่เจ้าของของมัน ไม่คิดอยากจะกัดกินหรือเห็นเป็นศัตรูเลย
9. ธมมชโย
สามเณรกองแก้ว (ครูบาธรรมชัย) บำเพ็ญกรรมฐานอยู่ในป่าห้วยน้ำดิบสามเดือน จึงได้กลับมาอยู่วัด ได้เข้าเรียนนักธรรมกับพระภิกษุแดง วัดพระยืน ต่อมาเมื่ออายุ 19 ก็สอบนักธรรมตรีได้ และได้เรียนนักธรรมโทที่วัดมหาวัน สอบนักธรรมโทได้เมื่ออายุ 20 ปี ในปีนี้เอง ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้นามฉายาว่า "ธมมชโย" ณ พัทธสีมา วัดหนองหล่ม ตำบลป่าสัก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ตรงกับวันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ.2475 หรือเดือน 5 เหนือ ขึ้น 3 ค่ำ ปีวอก จัตวาศก ทางเหนือเรียกว่า ปีเต่าสัน ร.ศ.151 จุลศักราช 1294 เวลา 08.10 น. เจ้าอธิการคำมูล ธมมวงฺโส วัดแม่สารบ้านตอง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระชยเสนา วัดบ้านหลุก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระคัมภีร์ปัญญา วัดปงสนุก เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เมื่ออุปสมบทแล้วมาจำพรรษาอยู่ที่วัดสันป่าสักบ้านเกิด พระปินตาได้สึกออกไป พระอินหวันเป็นเจ้าอาวาส ครูบากองแก้ว ธมมชโย จึงได้รับแต่ตั้งให้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสแทนพระปินตา ต่อมาท่านได้เป็นครูสอนนักธรรมที่สำนักวัดสันป่าสักและวัดน้ำพุ ตำบลเดียวกัน และสอนโรงเรียนประชาบาลด้วย สอนอยู่เป็นเวลาถึง 6 ปี ในระหว่างที่สอนอยู่นี้ เมื่อมีเวลาว่างก็ได้เดินทางไปนมัสการครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่กำลังมีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ในสมัยนั้น ได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย และหมั่นไปมาหาท่านอยู่เสมอด้วยความเคารพเลื่อมใสบูชาเป็นปรมาจารย์
10. วัดอินทขิลใหม่
ในระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดอินทขิลใหม่ 9 ปีนี้ เมื่อว่างจากพัฒนาวัด และอบรมลูกศิษย์พระเณร ท่านจะออกเดินทางไปนมัสการครูบาเจ้าศรีวิชัยอยู่เสมอ และเสาะแสวงหาครูบาอาจารย์เจ้าสำนักต่าง ๆ ที่เก่ง ๆ เพื่อขอศึกษากรรมฐานและวิทยาคม ในขณะเดียวกันก็ศึกษาค้นคว้าตำรับตำรายาสมุนไพร แพทย์ศาสตร์แผนโบราณไปด้วย ทำให้ท่านเป็นผู้เรื่องวิทยาคม มีฌานสมาธิแก่กล้าและเชี่ยวชาญทางแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เป็นที่เคารพศรัทธาเลื่อมใสทั่วไปในสมัยนั้น
พ.ศ.2490 ปลายปี ท่านได้อำลาจากวัดอินทขิลใหม่ และคณะศรัทธาญาติโยมชาวบ้าน หลังจากที่ได้สร้างความเจริญให้วัดมาเป็นเวลานานถึง 9 ปี เพื่อจะออกป่าจาริกธุดงคกรรมฐานใฝ่หาความสงบวิเวก บำเพ็ญธรรมให้สมความตั้งใจเสียที คณะศิษย์และญาติโยมชาวบ้านมีความรักและอาลัย ไม่อยากจะให้ท่านจากวัดไป แต่เมื่อท่านได้ชี้แจงให้ทราบถึงความจำเป็นที่จะต้องบำเพ็ญธรรมปฏิบัติ คณะศิษย์และญาติโยมก็ต้องตัดใจให้ท่านไปทั้ง ๆ ที่อาลัยเสียดายยิ่งนัก
11. เสืออีกแล้ว
ครูบาธรรมชัยออกจากวัดอินทขิลใหม่ จาริกธุดงค์แต่ลำพังเข้าป่าไปเรื่อย ๆ ทางอำเภอฝางและได้แวะนมัสการพระที่ถ้ำตับเตา
ครูบาธรรมชัย หาได้หวั่นไหวไม่ คงเดินจงกรมเป็นปกติ เสียงเสือร้องใกล้เข้ามา ในที่สุดก็เงียบ ได้ยินเสียงฝีตีนมันเดินย่องเหยียบใบไม้แห้งกรอบแกรบเข้ามาใกล้ แล้วหยุดลงตรงเบื้องหน้าท่าน ในระยะห่างประมาณ 2 วา ท่าทางของมันดุร้าย นัยน์ตาลุกวาว น่ากลัวมาก ตัวใหญ่ขนาดม้าแกลบล่ำดี ทำท่าจะกระโจนเข้าตะครุบท่าน แต่ครูบาธรรมชัยหาได้หวั่นไหวหวาดกลัวไม่ ท่านได้หยุดยืนสงบ มองจ้องสายตามัน แล้วแผ่เมตตาให้ด้วยความจริงใจ ขอให้มันจงอย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจ อย่าได้มีเวรภัยใด ๆ ให้มันรักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยด้วยประการทั้งปวงเถิด แผ่เมตตาจบลงทำให้ท่าทางของมันมีอาการนิ่งจังงัง
12. งูเหลือมยักษ์
เรื่องสัตว์ร้ายไม่ทำอันตรายนี้ ท่านเล่าว่า ครั้งหนึ่งสมัยอยู่วัดอินทขิลใหม่ วันหนึ่งท่านได้ออกจากวัด เดินธุดงค์ไปยังถ้ำเชียงดาวแต่ลำพัง ขณะที่เดินอยู่ในป่าปางหก ซึ่งเป็นดงงูเหลือมที่ขึ้นชื่อลือชามากในย่านนั้น ก็พอดีค่ำมืดลง ท่านจำเป็นจะต้องรีบเดินทางออกจากป่าไปให้ถึงบ้านปาง อำเภอเชียงดาวให้ได้ จึงไม่ยอมปักกลดพักแรมคืนในดงงูเหลือม
ป่าปางหกนี้เป็นป่าดงดิบน่ากลัวมาก พอมืดค่ำลงป่าก็มืดเหมือนหลับตาเดิน ครูบาธรรมชัยได้เดินไปเหยียบเอางูแมวเซาเข้าโดยไม่ได้ตั้งใจ จึงเอาไฟฉายดู ก็พบว่า มีงูแมวเซาอยู่จำนวน 16 ตัว ยั้วเยี้ยอยู่รอบ ๆ ตัวท่าน แต่มันก็ไม่ได้ทำอันตรายท่านแต่อย่างใด ครั้นพอเดินไปได้อีกหน่อยก็สะดุดเข้ากับขอนไม้ลื่น ๆ อย่างแรง จึงเอาไฟฉายส่องดูก็พบว่าเป็นงูเหลือมยักษ์ลำตัวโตเท่าโคนขาผู้ใหญ่ กำลังขดเป็นวงกลมอยู่กลางทาง เพื่อดักสัตว์ป่าเป็นอาหารของมัน ท่านครูบาธรรมชัยเข้าไปอยู่กลางวงขดของมันพอดี ซึ่งตามธรรมดาแล้วมันจะต้องตวัดรัดร่างท่านทันที เพราะเข้าใจว่าเป็นเหยื่อ แม้แต่สัตว์ใหญ่ ๆ ขนาดกวางหรือเสือโคร่งทรงพละกำลังมหาศาล หากโดนมันรัดแล้วไม่มีทางที่จะเอาตัวรอดได้เลย แต่ปรากฏว่า งูเหลือมยักษ์หาได้ทำอันตรายท่านแต่อย่างใดไม่ มันคงนิ่งสงบมองดูท่านเฉยอยู่
เรื่องงูไม่ทำอันตรายนี้ จะว่าเป็นเรื่องบังเอิญก็น่าแปลก เพราะขณะที่ท่านเข้าไปบำเพ็ญภาวนาอยู่ในถ้ำเชียงดาว หลายครั้ง ได้พบงูใหญ่ ๆ และงูพิษมากมายยั้วเยี้ยไปหมดในถ้ำลึก แต่มันก็ไม่สนใจท่านเลย ถ้าไม่พากันเลื้อยหนี ก็นิ่งอยู่เฉย ๆ ท่านกล่าวว่า เป็นเพราะงูเหล่านั้นสามารถรับรู้กระแสจิตที่ท่านแผ่เมตตาให้นั่นอย่างหนึ่ง หรือไม่งูเหล่านั้นเป็นงูเทพบันดาล
13. ถ้ำตับเตา
พ.ศ.2492 ครูบาธรรมชัยได้รับนิมนต์ให้ไปจำวัดอยู่ที่ถ้ำตับเตา อำเภอฝาง เนื่องด้วยทางคณะสงฆ์เห็นว่า ถ้ำตับเตาทรุดโทรมมาก สมควรจะได้พระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของประชาชนสักองค์มาบูรณปฏิสังขรณ์ถ้ำให้มั่นคงถาวร และครูบาธรรมชัยเหมาะสมที่สุดที่จะทำหน้าที่นี้
ถ้ำตับเตา เป็นโบราณสถานแห่งชาติอันสำคัญแห่งหนึ่งในภาคเหนือ มีชาวไทยและชาวต่างประเทศไปนมัสการเยี่ยมเยือนอยู่เสมอทุก ๆ ปี จนกระทั่งทุกวันนี้ เป็นที่เคารพสักการะของเหล่าพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย เมื่อสมัยก่อนสงครามโลก ครั้งที่ 2 ชาวไทยใหญ่ (เงี้ยว) และชาวหลวงพระบาง เวียงจันทร์ พากันเดินทางมาสักการะอยู่เสมอ ถ้ำตับเตานี้ เดิมเรียกกันว่า "ถ้ำตั๊บเต้า" เป็นภาษาเหนือ ตรงกับภาษาภาคกลางว่า "ถ้ำทับเถ้าหรือทับขี้เถ้า" ชาวเหนือชอบพูดคำสั้น ๆ เช่น ถ้ำตั๊บขี้เต้า พูดตัดคำให้สั้นลงว่า ถ้ำตั๊บเต้า
ตำนานความเป็นมาของถ้ำนี้ มีอยู่ในศิลาจารึกที่ถ้ำ 3 แผ่น เป็นตัวหนังสือพื้นเมืองเก่าแก่เนื้อความยาวมาก เมื่อย่อความลงมาให้สั้นที่สุดแล้ว มีความว่า
ขอให้ท่านผู้อ่านใคร่ครวญพิจารณาดูเอาเอง อันว่า ตำนานเก่า ๆ นั้น นักปราชญ์โบราณมักจะซ่อนแง่เงื่อนอันลึกซึ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้ขบคิดอยู่คล้ายปริศนาลายแทง เราท่านจะต้องค่อย ๆ คิดพิจารณาให้ลุ่มลึก อย่าผลีผลามวู่วามใจร้อนด่วนตัดสินเอาง่าย ๆ ด้วยมิจฉาทิฐิ
เมื่อมาจำวัดอยู่ถ้ำตับเตาอันเก่าแก่ทรุดโทรม ครูบาธรรมชัยได้พัฒนาศาสนสถานแห่งนี้อย่างใหญ่หลวง อุตส่าห์อดทนลำบากต่อสู้กับงานหนัก ทุ่มเททั้งแรงใจแรงกายศรัทธาปสาทะ ให้กับงานบูรณปฏิสังขรณ์ปลูกสร้างวัตถุต่าง ๆ อยู่เป็นเวลาถึง 5 ปี สิ้นเงินไปถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นสามพันเก้าร้อยบาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนมากทีเดียวในสมัยนั้น ถ้ำตับเตาอันรกรุงรังทรุดโทรมน่าสะพรึงกลัว ก็กลายเป็นสถานที่น่าเที่ยว น่าไปนมัสการไม่เป็นที่พึงขยาดกลัวของประชาชนอีกต่อไป
ครูบาธรรมชัยได้บูรณะองค์พระประธานในถ้ำที่ยังสร้างไม่เสร็จให้เป็นองค์พระสมบูรณ์ สร้างวิหารมุงพระพุทธไสยาสน์ บูรณปฏิสังขรณ์พระอรหันตสาวกหลายสิบองค์ (รูปปั้น) สร้างที่พักสงฆ์ สร้างศาลาสร้างสถานที่พักสำหรับประชาชน พัฒนาซ่อมแซมถนนเข้าสู่ถ้ำระยะทาง 4 กิโลเมตร และ ฯลฯ
ถ้ำตับเตามี ถ้ำมืด แห่งหนึ่งและ ถ้ำแจ้ง แห่งหนึ่ง ทางขึ้นถ้ำแจ้งเป็นบันไดอิฐถือปูน สูงประมาณ 50 ขั้น มีศาลามุงกระเบื้องขึ้นถึงบนปากถ้ำ ข้างบนนั้นมีรูปปั้นบรมครูโกมารภัทรตรงปากถ้ำ พระประธานที่ถ้ำนี้หน้าตักกว้าง 9 วา 2 ศอก สูง 13 วา 2 ศอก ใหญ่โตมาก หน้าองค์พระประธานมีพระธาตุแห้ง (เจดีย์) และพระเจ้าทันใจหนึ่งองค์ ด้านหลังพระประธานมีบันไดสูงขึ้นไปยังถ้ำปราสาท ถัดพระประธานไปมีพระพุทธไสยาสน์ยาว 5 วา หินศิลาจารึกเกี่ยวกับตำนานถ้ำก็อยู่ที่นี่ ครูบาธรรมชัยได้บูรณปฏิสังขรณ์ถ้ำนี้อย่างสวยงามพิสดารอีกหลายอย่าง
14. ถ้ำมืดอันศักดิ์สิทธิ์
แสดงว่าเจ้าที่เจ้าทางหรือเทพยดาอารักษ์ มีความรังเกียจไม่ยอมให้ผ่านเข้าไป ขืนทำกล้าหาญข้ามงูเหล่านี้ไปจะเป็นอันตราย ถ้ำมืดนี้จึงศักดิ์สิทธิ์มาก ใครไม่มีบุญจริง ๆ เข้าไปลำบากเพราะไม่แน่ว่า เข้าไปแล้วจะได้กลับออกมาหรือเปล่าก็ไม่รู้ ด้านในลึกเข้าไปมีประตูชื่อ "ประตูลอดบาป"
ครูบาธรรมชัยได้มาบูรณปฏิสังขรณ์ทำบันไดไต่ขึ้นไปที่ประตูอำนวยความสะดวกให้ศาสนิกชน ประตูนี้อาถรรพณ์ที่สุดยิ่งกว่าทุกแห่งในถ้ำ มีคนจำนวนมากมาแล้วไม่สามารถจะผ่านเข้าไปได้ เพราะปรากฏว่ามีพญางูใหญ่แปลก ๆ ชอบมานอนขวางทางไว้ ตามตำนานได้บอกไว้ว่า อันว่าปุคคละ บุคคลใด ที่มีจิตไม่เป็นบุญเป็นกุศลพูดจาสกปรกหยาบคายไม่เป็นมงคล ไม่เชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริงจะมีพญางูน้อยใหญ่มานอนขวางทางไม่ยอมให้บุคคลนั้นรอดบาปผ่านเขาไปในถ้ำด้านในได้เลย
15. พระเจ้าเนื้อนิ่ม
16. ลูกเทวดา
ที่ผนังถ้ำถัดพระเจ้าเนื้อนิ่มไป จะมีรูปปั้นเด็กหญิงและเด็กชายหน้าตาน่ารักยืนบ้างนั่งอยู่คนละแถบ เด็กชายอยู่แถบหนึ่ง เด็กหญิงอยู่แถบหนึ่ง เป็นรูปปั้นเก่าแก่เหล่าลูกเทวดา ใครไม่มีลูกอยากจะได้ลูกจะต้องอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ สมาทานศีลห้าโดยเคร่งครัด แล้วถือดอกไม้ธูปเทียนเข้ามาในถ้ำนี้ กราบไหว้นมัสการหลวงพ่อเนื้อนิ่มตั้งอธิษฐานจิตขอลูกเทวดาจากท่าน เสร็จแล้วให้ถือดอกไม้นั้นไปที่เด็กลูกเทวดา (รูปปั้น) เหล่านั้น ชอบคนไหน ชอบเด็กชายหรือเด็กหญิงให้เดินเลือกดูเอาตามชอบใจ เมื่อต้องตาต้องใจเด็กคนใด แล้วก็วางดอกไม้ลงที่เด็กคนนั้น แล้วบอกกล่าวอัญเชิญไปเป็นบุตรของตน ซึ่งจะสมปรารถนาเป็นที่น่าอัศจรรย์ ท่านผู้ใดอยากจะได้บุตรธิดาเป็นลูกเทวดามีบุญวาสนาก็น่าจะไปลองดู ครูบาธรรมชัยจำวัดอยู่ถ้ำตับเตาบูรณปฏิสังขรณ์ ปฏิบัติรักษาดูแลสถานที่ให้เจริญ พัฒนาอย่างมากมาย เป็นที่อนุโมทนาสาธุจากทุกฝ่าย คือฝ่ายทางการคณะสงฆ์ ฝ่ายข้าราชการบ้านเมืองและประชาชนชาวเหนือ
วัดทุ่งหลวง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
ภาพจาก www.212cafe.com โดย : นักบินแก่ 2006-10-13
|
17. สู่วัดทุ่งหลวง
จากนั้นมาในปี พ.ศ. 2497 ชาวคณะบ้านทุ่งหลวง ตำบลแม่แดง อำเภอแม่แตง ได้พร้อมใจกันมาอาราธนานิมนต์ครูบาธรรมชัยให้ไปจำวัด ณ บ้านทุ่งหลวง เพื่อไปเป็นหลักชัยแก่คณะศรัทธาประชาชนในถิ่นลำเนานั้น และได้นมัสการขออนุญาตจากทางการคณะสงฆ์อีกด้านหนึ่งด้วย มีเจ้าคณะอำเภอฝาง เป็นต้น เมื่อครูบาธรรมชัยยอมรับนิมนต์ด้วยความยินดี ทางฝ่ายคณะสงฆ์ก็อนุญาตให้ย้ายไปอยู่วัดทุ่งหลวงได้ไม่ขัดข้อง
ครูบาธรรมชัยเดินทางมาอยู่ทุ่งหลวงเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2497 วัดทุ่งหลวงขณะนั้นเป็นเพียงสำนักสงฆ์เล็ก ๆ มีศาลา 1 หลังเท่านั้น บริเวณวัดเป็นป่าดงพงไพร มีหญ้าแน่นหนา ครูบาธรรมชัยมาอยู่วัดนี้ได้เริ่มลงมือก่อสร้างถาวรวัตถุขึ้นในวัดมาเรื่อย ๆ ด้วยความยากลำบาก
แต่ด้วยความเพียรเสียสละของท่านและประกอบด้วยขันติธรรมอย่างแท้จริง ทำให้สาธุชนให้ความเคารพเลื่อมใสหลังไหลมาร่วมงานกุศลกับท่านตลอดมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ทำให้วัดทุ่งหลวงซึ่งในอดีตเป็นเพียงสำนักสงฆ์เล็ก ๆ กลายเป็นวัดที่ใหญ่โตสวยงาม มีถาวรวัตถุครบถ้วนในปัจจุบัน
18. พระผู้สร้าง
ครูบาธรรมชัยเป็นพระเถระที่ได้เสียสละตั้งใจทำงานในด้านพระศาสนา และด้านสาธารณะอยู่ตลอดเวลาไม่หยุดหย่อน นอกจากวัดทุ่งหลวงแล้วท่านได้มีจิตศรัทธาบำเพ็ญประโยชน์ไปยังวัดอื่น ๆ อยู่เสมอ เช่น
ได้ไปบูรณปฏิสังขรณ์เสริมสร้างองค์พระธาตุแม่ก๊ะ ไปสร้างพระวิหารวัดปางหก สร้างระฆังใหญ่ทองสัมฤทธิ์ถวายวัดศิริมังคลาจารย์ ตำบลแม่เหียะ ถวายวัดแม่ตามานและวัดม่วงชุมแห่งละ 1 ใบ สร้างพระพุทธรูปพร้อมด้วยระฆังทองและสัตตะภัณฑ์เชิงเทียนไปถวายวัดพระบาทสี่รอย สร้างกุฏิวัดม่วงชุม เป็นต้น
รายการสร้างวัด สร้างโรงเรียนประชาบาล สร้างถาวรวัตถุไว้ในพระศาสนา และ สาธารณะสังคมที่ท่านได้ทำไปยังมีอีกมากทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ใคร่ขอผ่านไปไม่สามารถจะนำมาลงได้หมด
ครูบาธรรมชัยทำประโยชน์แก่ส่วนรวมเจริญรอยตามครูบาเจ้าศรีวิชย พระปรมาจารย์ทุกประการก็ว่าได้ ตลอดชีวิตของครูบาธรรมชัยเป็นการสร้างสมคุณงามความดี มีผลงานในพระศาสนาและสาธารณะสังคมเป็นประจักษ์เลื่องลือมากมาก แม้งานนั้นจะยากปานใด ท่านก็ทำสำเร็จลงได้ ชีวิตของท่านจึงเป็นชีวิตแห่งการงานที่ไม่นิ่งเฉย ประกอบด้วยขันติธรรมอันสูง พยายามบำเพ็ญประโยชน์ตนและผู้อื่นให้ถึงด้วยความไม่ประมาทอยู่เสมอ
ชีวิตสมถะของท่านทรงไว้ซึ่งพรหมวิหาร ถือโอกาสปฏิบัติสมถะ - วิปัสสนากรรมฐานไม่ขาดสาย ได้บำเพ็ญศาสนกิจตามพระธรรมวินัยระเบียบกติกาสงฆ์ สังฆาณัติกฎหมายมาพอสมควร ได้ปกครองอบรมสั่งสอนภิกษุสามเณรศิษย์วัด ให้การศึกษาเล่าเรียน ปฏิบัติกิจประจำวันให้มีระเบียบเรียบร้อย ทั้งด้านการบูรณะปฏิสังขรณ์ปลูกสร้างดังกล่าวมา สงเคราะห์ในสถานที่สมควร ท่านได้เผยแพร่ธรรมะอบรมเทศนาแก่ศรัทธาชาวบ้านสม่ำเสมอ ด้วยความเพียรเสียสละตลอดมา ไม่เคยท้อถอย จึงมีสาธุชนให้ความเคารพเลื่อมใสมากมาย
19. พระผู้รักษา
อนึ่ง ด้วยครูบาธรรมชัยเป็นพระกรรมฐานมีฌานสมาบัติแก่กล้าทรงอภิญญา ในด้านวิทยาคมและแพทยศาตร์สงเคราะห์แผนโบราณนั้น มีความเชี่ยวชาญมากเป็นพิเศษ เมื่อประชาชนได้รับทุกขเวทนาทางเจ็บป่วยไม่สามารถพึ่งพาใครผู้ใดได้อีกแล้ว พากันหลั่งไหลมาขอความเมตตา ครูบาธรรมชัย ก็ได้ประโลมขวัญให้กำลังใจเขาเหล่านั้น ช่วยสงเคราะห์เมตตารักษาโรคภัยไข้เจ็บให้ ทำให้พ้นจากโรคภัยไปเป็นจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน สามารถมีชีวิตอยู่รอดไปได้ ตามส่วนกุศลผลบุญมากและน้อยแต่ละบุคคล
การรักษาโรคของครูบาธรรมชัย ท่านรักษาด้วย พลังกระแสฌาน หรือ พลังจิตขั้นสูง ยึดเอาอำนาจคุณพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณเป็นสรณะสูงสุด และประกอบด้วยยาสมุนไพร ครั้นต่อมาท่านได้นำเอาวิธีการ ฝังเข็ม ด้วยกระแสไฟฟ้าเข้ามาประยุกต์ใช้ด้วย แสดงว่าท่านค้นคว้าก้าวหน้าอยู่เสมอในทางแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์
การอบตัวด้วยเครื่องยาสมุนไพรก็เป็นส่วนประกอบอีกแบบหนึ่งในการรักษาที่ขึ้นหน้าขึ้นตาที่วัดของท่านในเวลานี้ โดยมีพระเณร แม่ชี และชาวบ้านคอยต้อนรับคนเจ็บป่วยและช่วยดูแลเครื่องต้นสมุนไพร ตลอดจนอำนวยความสะดวกต่าง ๆ บริการอยู่ตลอดเวลา
ตามปกติจะมีคนไข้ด้วยโรคพยาธิต่าง ๆ จากทั่วประเทศหลั่งไหลไปขอให้ครูบาธรรมชัยรักษาวันละมาก ๆ ที่รักษาค้างคืนเป็นประจำก็มีมาก ที่รักษาอยู่เป็นเดือนก็มีมากเช่นกัน สุดแต่โรคที่เป็นมากและน้อย เรื่องเงินทองอาหารการกินไม่ต้องวิตกกังวลใจ ครูบาธรรมชัยบริการทุกอย่าง ท่านมีแต่ให้และให้ด้วยความเมตตากรุณาหาที่สุดมิได้ ส่วนใครจะถวายเงินทองท่านหรือไม่ ท่านไม่สนใจ ไม่ใช่เรื่องของท่าน เป็นเรื่องของศรัทธาแต่ละคนแล้ว แต่จะถวายกับทางวัดทางคณะสงฆ์ ท่านให้ทุกคนที่บากหน้าไปหาได้รับแต่ความชุ่มชื่นสมหวังในสิ่งที่ปรารถนาอย่างเดียวเท่านั้น ใครบากหน้าไปหาท่านแล้วจะต้องขนลุกซู่น้ำตาคลอเกิดความปิติอย่างบอกไม่ถูก ปฏิปทาจริยาวัตรการปฏิบัติของท่านพิเศษจริง ๆ ไม่เหมือนหลวงพ่อหลวงปู่วัดใด ใครไม่เชื่อก็น่าจะลองไปพิสูจน์ดูด้วยตนเอง
ท่านไม่ใช่พระเกจิอาจารย์ธรรมดา ๆ ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ลงมาเกิดบำเพ็ญบารมี เพื่อหวังพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตอันไกลโพ้น แต่จะเป็นองค์ที่เท่าใดไม่อาจทราบได้
จึงกล่าวได้ว่า ครูบาธรรมชัยมีภารกิจในพระศาสนา และ บำเพ็ญประโยชน์สาธารณะสังคม เป็นภาระหนักทับถมอยู่ตลอดเวลา แทบจะไม่มีเวลาพักผ่อนหลับนอน เวลาพักผ่อนของท่านก็ได้อาศัยการนั่งสมาธิในตอนดึก ๆ นั่นแล เรื่องราวของครูบาธรรมชัยที่เล่ามาตั้งแต่ต้นนี้เป็นเพียง "เสี้ยวหนึ่งของชีวิต" ของท่านเท่านั้น ยังมีเรื่องราวอีกมากมายนักที่ไม่ได้เล่า เพราะถ้าเล่าจนหมดก็คงจะลงในหนังสือใช้เวลาเป็นปี ๆ ถึงจะจบ จึงใคร่จะขอรวบรัดตัดตอนนำมาเล่าสู่กันฟังเฉพาะตอนที่ไม่ "หนัก" จนเกินไปในด้านข้ออรรถข้อธรรม
20. ทองคำค่าควรเมือง
น้ำตกทรายขาว เป็นเทือกเขาใหญ่สูงสุดที่สำคัญมากในปัตตานี ในอดีตเคยมีการทำเหมืองทองคำที่เขาลูกนี้ คณะหลวงปู่หลวงพ่อที่ไปเที่ยวน้ำตกทรายขาวเป็นอันมาก ปรารภกันว่า สถานที่แห่งนี้ หลวงปู่ทวดเหยียบทะเลน้ำจืด เคยมาบำเพ็ญสมณะธรรมในอดีตกาลนานโพ้น และเมื่อประมาณ 60 - 70 ปีที่ล่วงมานี้ เคยมีผู้มาขุดหาแร่ทองคำทำเหมืองทองมาแล้ว แต่ได้เลิกร้างไปในเวลาต่อมา เพราะว่าทองคำในดินได้หมดไป
หลวงพ่อฤๅษีลิงดำได้เอ่ยขึ้นว่า "จะเป็นไปได้ล่ะหรือ ? ที่สายแร่ทองคำจะหมดไปได้ง่าย ๆ จากภูเขาทรายขาวนี้ น่าจะ"เพ่ง" ดูใต้พื้นดินลึกลงไปว่า ยังมีแร่ทองคำเหลืออยู่บ้างหรือเปล่า" แล้วหลวงพ่อทุกองค์ที่ไปเที่ยวน้ำตกทรายขาวก็ได้ใช้พลังสมาธิ "เพ่ง" สำรวจดูใต้ผืนแผ่นธรณีในบริเวณนั้น
หลวงพ่อชุ่ม โพธิโกเพ่งดูแล้วครู่หนึ่งก็บอกว่า พบแร่ทองคำอยู่ลึกมากเหลืองอร่ามไปหมดเป็นตัน ๆ มากมายเหลือเกิน มนุษย์ยังไม่สามารถขุดค้นลงไปได้ถึง
หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ "เพ่ง" ดูบ้างก็เป็นทองคำอยู่ลึกลงไปใต้ดินเช่นเดียวกันกับที่หลวงพ่อชุ่มได้เพ่งเห็นทองคำเหมือนกัน แต่หลวงพ่อสิม พุทธาจาโร สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว ได้เพ่งดูแล้วกลับมองไม่เห็นทองคำที่อยู่ใต้ดิน ท่านได้เห็นแต่มือดำ ๆ ใหญ่โตมาก เป็นมือมีห้านิ้วคล้ายมือมนุษย์ แต่ใหญ่โตเท่าภูเขาเลากาอยู่ใต้ดิน
หลวงปู่หลวงพ่อเหล่านั้นเมื่อได้ฟังคำตอบของหลวงพ่อสิม แล้วก็หัวเราะกันใหญ่ คือพวกท่านมีอารมณ์เพลิดเพลินสนุก นึกอยากจะหยอกล้อกันเล่นนั่นเอง ครูบาธรรมชัยจึงยกมือขึ้นแล้วบอกให้หลวงพ่อสิมเพ่งดูอีกครั้ง เมื่อหลวงพ่อสิมเพ่งดูลงไปใต้ดินก็พบว่า มือลึกลับใหญ่โตนั้นหายไป แล้วได้พบแร่ทองคำจำนวนมากมายอยู่ใต้ดินเหลืองอร่ามไปหมด
หลวงพ่อสิมเลยหัวเราะใหญ่ เพราะได้รู้ว่า มือลึกลับใหญ่โตที่ปิดแร่ทองคำใต้ดินไว้เมื่อสักครู่นี้นั้น คือมือของครูบาธรรมชัยนั่นเอง หลวงพ่อสิมเลยกล่าวชมเชยยกย่องครูบาธรรมชัยเป็นการใหญ่ว่า เก่งมาก ๆ ๆ สามารถเอามือปิดกั้นขุมทองคำทั้งขุมไว้ได้ไม่ให้ท่านเห็น
ครูบาธรรมชัยได้กราบขอขมาหลวงพ่อสิมที่ล่วงเกินล้อเล่นในครั้งนี้
หลวงพ่อสิมหัวเราะชอบใจบอกว่า ไม่ถือ ๆ ๆ สนุกดี
หลวงพ่อฤาษีลิงดำถามหลวงพ่อสิมว่า ทำไมทองคำจำนวนมหึมานี้คนถึงขุดลงไปไม่พบ
หลวงพ่อสิมหลับตาใช้ญาณหยั่งรู้อยู่ครู่หนึ่งก็ลืมตาตอบว่า เมื่อถึงเวลาทองจำนวนนี้จะปรากฏขึ้นมาเอง เป็นทรัพย์ในดินของประเทศชาติ เป็นของคู่บุญญาบารมีของรัชกาลต่อไป ตอนนี้เทวดายังไม่ยอมให้ทองคำจำนวนนี้ปรากฏ เพราะยังไม่ถึงเวลา
หลวงพ่อชุ่ม โพธิโก กล่าวว่า ทองคำที่นี่มีมากก็จริง แต่ยังเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับทองคำที่มีอยู่ในผืนแผ่นดินไทยอีกหลายแห่ง ต่อไปในอนาคตประเทศชาติของเราจะร่ำรวยใหญ่ ประชาชนก็จะร่ำรวยมีสุขตามดวงเมืองที่เจริญรุ่งโรจน์
ครูบาธรรมชัยหลับตาใช้ญาณหยั่งรู้บ้าง ท่านกล่าวว่า ทองคำที่น้ำตกทรายขาวนี้เป็นของอาถรรพณ์ที่ฝังลึกอยู่ใต้ดินป้องกันไม่ให้ข้าศึกษาศัตรูมาครองได้ ข้าศึกศัตรูที่บังอาจล่วงล้ำก้าวข้ามขุมทองแห่งนี้เข้ามาจะพบกับความวิบัติฉิบหายในที่สุด
หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ ท่านเป็นพระทรงวิชชา 3 เรื่องหยั่งรู้อดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นของธรรมดาสำหรับท่านมาก ท่านเห็นด้วยกับครูบาธรรมชัยและหลวงปู่หลวงพ่อร่วมคณะว่า มีทองคำเป็นตัน ๆ มากมายอยู่ที่ภูเขาทรายขาวจริง ทองคำไม่ได้หมดไปตามความเข้าใจของพวกทำเหมืองทองคำ ยังมีอยู่ใต้ดินนอนนิ่งอยู่ในดิน เวลานี้ใครไปขุดก็เอาขึ้นมาไม่ได้ เพราะยังไม่ถึงเวลาที่เทวดาจะให้ ขืนไปขุดเทวดาก็จะบันดาลให้พบสิ่งกำบังตาอย่างอื่นแทน หรือไม่ก็จะเจอแต่อุปสรรคอันตรายต่าง ๆ เมื่อถึงเวลาทองคำจำนวนมหึมานี้ก็จะปรากฏขึ้นมาเอง ดังนั้นผู้ได้คิดอยากจะร่ำรวยแอบไปขุดในเวลานี้ ขอให้เลิกล้มความคิดนี้เสียเถิด อย่าทำเลยจะประสบเคราะห์กรรมอันตรายนะครับ...นี่ผู้เขียนว่าเองหลวงปู่หลวงพ่อไม่ได้พูดประโยคนี้
21. ญาณพิเศษ
เรื่องมีตาทิพย์ของครูบาธรรมชัยนี้ เป็นที่ยอมรับในหมู่พระเถระชั้นสูงที่อยู่ในวงพระกรรมฐานได้ยกย่องว่า ครูบาธรรมชัยมีญาณพิเศษตาทิพย์หูทิพย์ สามารถจะนั่งทางในไปนรก-สวรรค์ได้ รู้ว่าใครตายไปแล้วไปอยู่ที่ไหน ท่านสามารถติดต่อวิญญาณของผู้นั้นได้ รู้ว่ามนุษย์และสัตว์ที่เกิดมาในโลกนี้ มาจากไหน ชาติก่อน ๆ เคยเสวยภพชาติเป็นอะไรมาบ้าง รู้ว่าคนนี้ป่วยเจ็บจะตายหรือจะหายเมื่อไร รู้ว่าคนที่ไม่ป่วยเจ็บมีร่างกายแข็งแรงดีที่มาพบท่านนั้น เมื่อไหร่จะตาย เมื่อไหร่จะมีโชคลาภ ล่วงรู้ด้วยว่า ในใจกำลังคิดอะไร คิดดีหรือคิดชั่ว เรียกว่าท่านมี เจโตปริยญาณ รู้จักกำหนดวาระจิตผู้อื่น
22. นกทิพย์
เกี่ยวกับเรื่องหูทิพย์นั้น มีเรื่องที่น่ากล่าวถึงอยู่เรื่องหนึ่ง เมื่อคราวมีพิธีบวงสรวงที่พระธาตุจอมกิตติ อำเภอเชียงแสน เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2518 ในพิธีมีหลวงปู่สำคัญ ๆ หลายองค์ไปร่วมด้วย เช่น หลวงปู่ชุ่ม โพธิโก หลวงปู่คำแสน วัดสวนดอก หลวงปู่คำแสน วัดป่าดอนมูล หลวงปู่บุดดา แห่งสำนักสงฆ์สองพี่น้อง อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท หลวงปู่สิม พุทธาจาโร ครูบาชัยยะวงศ์ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ครูบาธรรมชัยและหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ
ปรากฏว่า ในพิธีนมัสการบวงสรวงครั้งนั้น มีปรากฏการณ์มหัศจรรย์หลายอย่างเป็นต้นว่า มีฝูงนกประหลาดสีสวยหมู่หนึ่งบินมากระทำประทักษิณาวัตรรอบ ๆ องค์พระธาตุ 3 รอบ แล้วพากันบินเข้ามาเกาะกิ่งไม้ใกล้ ๆ พิธีที่หลวงปู่หลวงพ่อกำลังนั่งปรกพิธีกรรมอยู่
นกประหลาดสีสวยเหล่านั้นได้ส่งเสียงร้องขึ้นพร้อม ๆ กันอย่างเจื้อยแจ้วไพเราะ ท่ามกลางพุทธศาสนิกชนจำนวนนับพัน ๆ ที่นั่งพนมมือสงบเงียบนิ่งรวมอยู่ในบริเวณพิธีกรรม ทุกคนต่างก็ประหลาดใจที่ได้เห็นนกบินมาประทักษิณาวัตร และส่งเสียงร้อยในพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นอย่างยิ่ง
พลอากาศโท ม.ร.ว.เสริม สุขสวัสดิ์ ได้นมัสการถามหลวงพ่อฤๅษีลิงดำภายหลังออกจากสมาธินั่งปรกแล้วว่า การที่ฝูงนกประหลาดไม่เคยเห็นมาก่อนในโลกนี้บินมาประทักษิณาวัตรและส่งเสียงร้องประสานเสียงอย่างไพเราะนี้จะมีความหมายเป็นประการใดหรือไม่ขอรับ
หลวงพ่อฤๅษีลิงดำยิ้ม ๆ ตอบว่า ให้ถามครูบาชุ่มดูซิ
ท่านเจ้ากรมฯ เสริม สุขสวัสดิ์ จึงได้หันไปนมัสการถามหลวงปู่ชุ่ม โพธิโก ครูบาชุ่มยิ้ม ๆ ว่า ให้ถามหลวงปู่คำแสน วัดสวนดอกดูซิ
ครั้นเมื่อหันไปนมัสการถาม หลวงปู่คำแสนก็ชี้มือไปที่ครูบาธรรมชัยแล้วว่า ให้ถามครูบาธรรมชัยดูซิ การที่พระอริยเจ้าทั้งสามองค์บ่ายเบี่ยงไม่ยอมตอบคำถาม ทำให้หลวงปู่สิม หลวงปู่บุดดา หลวงปู่คำแสน วัดป่าดอนมูล ต่างก็พากันหัวเราะและสนับสนุนให้ครูบาธรรมชัยเป็นผู้ตอบ
ครูบาธรรมชัยรู้ว่า หลวงปู่หลวงพ่อเหล่านั้นถวายเกียรติยกย่องท่าน จึงกราบนมัสการหลวงปู่หลวงพ่อเหล่านั้นด้วยความเคารพ แล้วจึงตอบว่า นกประหลาดฝูงนี้ไม่มีในภูมิประเทศเขตถิ่นนี้ หากเป็นฝูงนกมาจากโลกอื่น คือมาจากโลกทิพย์ เป็นพวกเทวดาจำแลงแปลงกายมา เพื่อสำแดงสาธุการอนุโมธรรมะและร่วมสวดพระคาถาศักดิ์สิทธิ์จากโลกทิพย์ร่วมด้วยในพิธีกรรม
นี่แสดงว่า ครูบาธรรมชัยรู้ภาษานกและยังล่วงรู้ว่า นกเหล่านั้นมาจากไหน เป็นอะไร เมื่อพิธีการบวงสรวงจบลงแล้ว ฝูงนกเหล่านั้นได้พากันเกาะหมู่บินประทักษิณาวัตรรอบ ๆ พระธาตุจอมกิตติ 3 รอบ แล้วบินหายวับไปในท้องฟ้าจนสุดสายตาของทุกคนในที่นั้น
ทีนี้จะขอกล่าวถึงอีกเสี้ยวหนึ่งในชีวิตของครูบาธรรมชัยเกี่ยวกับการผจญภัยของท่าน ขณะธุดงคกรรมฐาน อันแสดงถึงพลังอำนาจจิตอันแข็งกล้าและบุญบารมีของท่าน ที่ทำให้ท่านล่วงพ้นภยันตรายมาได้เป็นที่น่าอัศจรรย์
23. สะกดหมีควาย
ภาพจาก www.bloggang.com
โดย : ดวงเดือน กิจค้างพลู
15-11-2552
|
ในปี 2484 ครูบาธรรมชัยมีเวลาว่างจากศาสนกิจและงานสาธารณะกุศลพอสมควรจะปลีกตัวไปบำเพ็ญเพียรกรรมฐานแสวงหาวิเวกได้อยู่บ้าง ท่านจึงออกจากวัดเดินด้วยเท้าขึ้นไปนมัสการพระบรมธาตุดอยสุเทพ หลังจากที่ท่านเคยไปร่วมงานสร้างทางขึ้นดอยแห่งนี้กับครูบาเจ้าศรีวิชัยมาแล้ว ท่านเคยพบว่า ในป่าด้านหลังดอยสุเทพ บริเวณถ้ำฤๅษีนั้น เป็นสถานเงียบสงัดวิเวก ธรรมชาติรื่นรมย์เย็นตาเย็นใจ เหมาะที่จะบำเพ็ญเพียรภาวนามาก ท่านตั้งใจไว้ว่า เมื่อนมัสการพระบรมธาตุแล้วก็จะเดินทางไปยังถ้ำฤๅษีต่อไป
เมื่อครูบาธรรมชัยเดินทางไปถึงลำห้วยแม่งาไซด้านหลังดอยสุเทพ ซึ่งเป็นป่าเปลี่ยวน่ากลัว ก็ได้ยินเสียงใครหักไม้ไผ่อยู่ข้าง ๆ ทาง เข้าใจไปว่า คงจะเป็นชาวป่าชาวเขามาตัดไม้ หรือไม่ก็เก็บหน่อไม้จึงผ่านไปไม่สนใจ แต่แล้วก็ต้องสะดุ้ง เพราะปรากฏว่า ผู้ที่หักกอไผ่ดังโผงผางอยู่นั้นไม่ใช่มนุษย์ หากเป็นหมีควายตัวใหญ่สูงเหนือหัวคนกำลังหักกอไผ่ค้นหาหน่อไม้กินอยู่อย่างงุ่นง่าน
ทันทีที่มันเหลือบเห็นท่าน มันก็ผละจากกอไผ่เดินงุ่มง่ามด้วยสองตีนหลังตรงรี่เข้ามาอย่างดุร้าย
ครูบาธรรมชัยรีบหยุดยืนนิ่งไม่เคลื่อนไหว แล้วสูดลมหายใจภาวนาแผ่เมตตาจิตให้มัน
"สัพเพ สัตตา อเวรา อพะยาปัชฌา อนีฆา สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่างได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจ จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด"
หมีควายตัวใหญ่ส่งเสียงคำรามเข้าประชิดตัว เงื้ออุ้งเล็บขาหน้าทั้งสองข้างเตรียมจะตบอยู่แล้ว ขนาดได้กลิ่นลมหายใจอันร้อนแรงฟืดฟาดของมันปะทะหน้าจนร้อนวูบวาบ แต่พอท่านแผ่เมตตาจิตให้มัน ก็ทำให้มันชะงักกึก เงื้ออุ้งเล็บค้างเติ่งอยู่กลางอากาศมีอาการยืนงง ๆ คล้ายโดนมนต์สะกด แต่ท่านไม่ได้ใช้เวทย์มนต์สะกดแต่อย่างใด ด้วยบารมีเมตตากระแสธรรมอันลี้ลับมหัศจรรย์โดยแท้ ทำให้หมีควายหยุดชะงักไม่ทำอันตราย มันรีบหันหลังเดินกลับเข้าไปในกอไผ่ก้มหน้าก้มตาหักหน่อไม้กินต่อไป ไม่สนใจกับท่านอีกเลย คล้ายไม่มีตัวตนของท่านในที่นั้น
24. ผจญงูและช้าง
อีกครั้งหนึ่ง ครูบาธรรมชัยเดินธุดงค์ผ่านป่าสักงาม ดอยสะเก็ด เป็นเวลาใกล้พลบค่ำ ขณะที่กำลังมองหาที่จะปักกลดอยู่นั้น ก็ต้องหยุดยืนนิ่ง เมื่อพบงูจงอางดำมะเมื่อมจำนวนสิบสองตัว โตขนาดเท่าท่อนแขน เลื้อยปราดออกมาจากจอมปลวกข้างทาง ชูคอแผ่แม่เบี้ยขวางหน้าไว้
ท่านได้แผ่เมตตาให้มันด้วยจิตอันสงบเยือกเย็นไม่ตื่นเต้นแต่อย่างใด ปรากฏว่างูพิษเหล่านั้นได้ลดแม่เบี้ยลงแล้วค่อย ๆ เลื้อยหนีไป
อีกคราวหนึ่ง ครูบาธรรมชัยได้จาริกธุดงค์ไปในป่าเชียงดาว ขณะไปถึงขุนห้วยแม่ตาดอันเป็นต้นน้ำแม่ตาดนั้น เป็นเวลาเย็นมากแล้ว ท่านจึงปักกลดที่ริมฝั่งห้วย แล้วลงไปตรงน้ำที่ลำห้วย ทันใดก็ต้องตะลึง เมื่อเหลือบเห็นช้างป่าโขลงหนึ่งมีจำนวน 8 เชือก ล้วนสูงใหญ่ล่ำพีมีงางามยาวหลายเชือกได้โผล่ออกจากป่าลงมากินน้ำใกล้ ๆ ท่าน ห่างไม่ถึงสามวา
ช้างทั้งโขลงมีอาการหยุดชะงักจังงัง ด้วยความตื่นตระหนัก ทำท่าจะพุ่งใส่เข้าทำอันตรายท่าน แต่จ่าโขลงได้ชูงวงขึ้นสูง ส่งเสียงร้อยแปร๋นขึ้นสามครั้ง คล้ายจะห้ามลูกโขลงไว้ไม่ให้ทำอันตราย
ครูบาธรรมชัยเล่าในภายหลังว่า โขลงช้างไม่ทำอันตรายท่าน เป็นเพราะบารมีธรรมของท่านที่แผ่เมตตาก่อนลงอาบน้ำชำระกายในลำห้วยนั่นเอง
อีกคราวหนึ่ง ครูบาธรรมชัยไปบำเพ็ญกรรมฐานอยู่ในป่าช้าสันปูเลย ใกล้ ๆ กับวัดทุ่งหลวง อำเภอแม่แตง เป็นป่าช้าที่ดุร้ายมีผีดิบปรากฏอยู่เสมอ เป็นที่เกรงกลัวของชาวบ้านทั่วไป แม้แต่ในเวลากลางวัน ถ้าไม่มีกิจธุระจำเป็นชาวบ้านจะไม่เดินผ่านเข้าไปในป่าช้าแห่งนี้เลย
แต่ครูบาธรรมชัยไม่กลัว ท่านได้เข้าไปปักกลดบำเพ็ญกรรมฐานอยู่ในป่าช้าแห่งนี้ โดยไม่ยอมฟังคำทักท้วงทัดทานของศรัทธาญาติโยมที่ห้ามไว้
ปรากฏว่า ได้มีช้างตกมันเชือกหนึ่งเป็นของพ่อเลี้ยงชาวบ้านปากทางปางกว้าง อำเภอแม่แตง ได้แตกปลอกออกอาละวาดไล่ทำร้ายชาวบ้าน และทำลายไร่นาสวนผลหมากรากไม้เสียหายมากมายในถิ่นนั้น ควาญช้างพยายามออกติดตามจับแต่เข้าไม่ถึง เพราะช้างตกมันไล่กระทืบเอา ต้องวิ่งหนีเอาตัวรอด และช้างได้มุ่งหน้ามาทางป่าช้าสันปูเลย
ฝ่ายชาวบ้านเกรงว่าครูบาธรรมชัยจะได้รับอันตราย จึงพากันมานิมนต์ให้ท่านรีบหนีออกจากป่าช้าเสียโดยเร็ว กลับไปอยู่วัดทุ่งหลวงอย่างเดิม แต่ครูบาธรรมชัยกล่าวว่า เมื่อปักกลดตั้งสัตย์อธิษฐานจะมาบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ในป่าช้าแล้วเช่นนี้ จะถอนกลดกลับวัดกลางคันไม่ได้ ท่านจะขออยู่ในป่าช้าไม่ไปไหน ถ้ากรรมเวรตามมาถึงตัวแล้วก็จะขอยอมตายอยู่ในป่าช้านี่แหละ
พวกชาวบ้านจึงพากันกลับไปด้วยความผิดหวัง และวิตกกังวลเป็นห่วงเป็นใยท่านเป็นอย่างยิ่ง ช้างตกมันเชือกนั้นอาละวาดทำลายเรือกสวนไร่นาเตลิดเปิดเปิงมาถึงป่าช้าสันปูเลยจริง ๆ มันตรงเข้าไปเหยียบย่ำทำลายต้นไม้ในป่าช้าเสียหายยับเยิน
ครั้นพอเห็นกลดของครูบาธรรมชัยปักอยู่มันก็ตรงรี่เข้าไปจะทำร้าย แต่พอเข้าไปใกล้บริเวณด้ายสายสิญจน์ที่ครูบาธรรมชัยขึงไว้รอบ ๆ กลด เพื่อป้องกันสัตว์ร้ายและหมู่มารไม่ให้เข้ามารบกวนสมาธิภาวนา ทำให้ช้างตกมันที่กำลังคลุ้มคลั่งดุร้ายหยุดชะงักลังเลไม่กล้าก้าวข้ามด้ายสายสิญจน์น่าอัศจรรย์ มันหันรีหันขวางกระทืบตีนสนั่นแผดเสียงร้องแปร๋นแสดงความงุ่นง่านขุ่นเคืองอยู่ครู่ใหญ่ ๆ ครั้นแล้วก็ถอยห่างออกไปยืนคุมเชิงอยู่ในระยะไม่ไกลนัก มันยืนคุมเชิงอยู่นานทีเดียวจึงออกเดินหักกิ่งไม้กินอยู่รอบ ๆ บริเวณกลดนั่นเองไม่ยอมไปไหน คล้ายจะป้องกันไม่ให้ครูบาธรรมชัยออกมาจากกลด แต่ครูบาธรรมชัยก็หาได้หวาดกลัวแต่อย่างใดไม่ ท่านออกมาเดินจงกรมไปมาอยู่ภายในบริเวณขึงด้ายสายสิญจน์เป็นปกติ
เมื่อเดินจนรู้สึกเมื่อยแล้วก็เปลี่ยนเป็นนั่งสมาธิอยู่หน้ากลดบ้าง อยู่ข้างในกลดบ้าง ช้างเชือกนั้นก็หักกิ่งไม้เคี้ยวกินจ้องมองดูคุมเชิงอยู่ห่าง ๆ ชาวบ้านทั้งหลายแตกตื่นตกใจวิตกเป็นทุกข์ยิ่งนัก กลัวช้างจะเข้าไปกระทืบกลดและทำร้ายครูบาธรรมชัยเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ไม่รู้จะเข้าไปช่วยได้ยังไง เพราะกลัวช้างจะเล่นงานเอา
ฝ่ายควาญช้างก็พยายามจะเข้าไปปลอบโยนล่อเอาช้างออกมาจากป่าช้าให้ได้ แต่เข้าไม่ติดเพราะถูกมันไล่เอางวงฟาดเอาต้องวิ่งหนีหัวซุกหัวซุน ชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่พากันร้องไห้ระงมกลัวครูบาธรรมชัยจะถูกช้างเหยียบตาย จะเอาข้าวปลาอาหารเข้าไปถวายก็ไม่ได้ เพราะช้างคุมเชิงอยู่ไม่ยอมหนีไปไหน เวลาล่วงเลยมาหลายวันช้างก็ไม่ยอมหนีไปไหน มันคงหักกิ่งไม้ใบไม้กินอยู่แถวนั้น วนเวียนไปมารอบ ๆ กลดแต่ไม่กล้าก้าวข้ามด้ายสายสิญจน์เข้าไป
ครูบาธรรมชัยก็ไม่ยอมออกไปบิณฑบาต ท่านทนอดอาหารเอา ได้แต่ฉันน้ำในกาพอประทังชีวิตไปวัน ๆ สวดมนต์ภาวนาแผ่เมตตาให้ส่ำสัตว์ทั้งหลายทุกคืนวัน
จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาถึง 15 วัน คือรุ่งเช้าของวันที่ 15 ที่ช้างกักอาณาบริเวณไว้นั้น ในที่สุดมันก็ยอมละพยศ คลายจากอาการคลุ้มคลั่งตกมัน ยอมให้ควาญเข้าจับเอาออกไปจากป่าช้าแต่โดยดี
ฝ่ายญาติโยมชาวบ้านรีบพากันแห่เข้าไปในป่าช้า ด้วยความหวาดวิตกไปต่าง ๆ นานา เกรงว่าครูบาธรรมชัยอาจจะถูกช้างทำอันตรายถึงแก่มรณภาพไปแล้ว หรือไม่ก็อาจจะอดอาหารจนมรณภาพไปแล้วก็เป็นได้ แต่เมื่อทุกคนไปถึงก็ต้องประหลาดใจเมื่อพบว่า ครูบาธรรมชัยเดินจงกรมอยู่ปกติ ผิวพรรณวรรณะผุดผ่องแจ่มใสแข็งแรง ไม่มีท่าทีจะอ่อนเพลียเพราะอดอาหารแต่อย่างใดเลย ทุกคนต่างก็พากันก้มกราบนมัสการร้องไห้ออกมาด้วยความโล่งอกปิติยินดี
ครูบาธรรมชัยบอกกล่าวกับชาวบ้านว่า
"เฮาพ้นคอกแล้ว เขาขังเฮาอยู่ในป่าช้า 15 วัน เพราะชาติก่อนเฮาเคยทำเขามา จึงต้องใช้กรรมให้เขาในชาตินี้"
เรื่องราวเกี่ยวกับการผจญภัยของครูบาธรรมชัย ขณะธุดงคกรรมฐานยังมีอีกมาก ท่านเป็นพระเถระผู้มีเมตตาธรรมสูง บำเพ็ญบารมีทางพระโพธิสัตว์เพื่อจะไปเกิดเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตอันไกลโพ้นแต่จะเป็นองค์ที่เท่าไรไม่อาจจะทราบได้ ดังนั้นความเมตตาของท่านจึงมีมากเป็นพิเศษ ใครไปขอให้ท่านช่วยอะไร ท่านก็มีเมตตาช่วยอยู่เสมอ
มรณภาพ :
- หลวงปู่ครูบาธรรมชัย ธัมมชโย มรณภาพด้วยอาการอันสงบเมื่อเวลา ๒๐.๓๐ น. ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ รวมสิริอายุได้ ๗๓ ปี ๖ เดือน หลวงปู่ครูบาธรรมชัย ธัมมชโยได้ประกอบ ภาระหน้าที่ของพระสงฆ์ ที่มีต่อประเทศชาติ พระพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ได้ครบถ้วนบริบูรณ์ทุกประการ คณะศิษย์ได้อาราธนาพระสรีระร่าง ของหลวงปู่เก็บรักษาประดิษฐานไว้ในโลงแก้ว ณ วัดทุ่งหลวง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่เพื่อให้ศรัทธาประชาชนได้กราบสักการบูชาจนถึงปัจจุบัน
ผลงาน :-
- พัฒนาและให้ความอุปถัมภ์วัดต่างๆ ใน อำเภอแม่แตง อำเภอต่างๆ ในเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา ลำปาง ศาสนสถานและศาสนสมบัติต่างๆประมาณ ๖๐ วัด
- ให้ความอุปถัมภ์กิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนประชาบาลใน อำเภอแม่แตง และอำเภอใกล้เคียง
- อนุเคราะห์คนป่วยไข้ทั่วไปด้วยเภสัชสมุนไพรมากกว่า ๔๐,๐๐๐ คน
- พัฒนาเสนาสนะวัดทุ่งหลวง เนื้อที่ ๒๐ ไร่เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๑
- พัฒนาสถานที่ปฏิบัติธรรมเมืองนิพพาน ๑๔ไร่
- พัฒนาสถานที่ตั้งบ่อน้ำทิพย์ ๙๑ ไร่
พระพุทธ
4
พระธรรม
4
พระสงฆ์
4
อุบาสก
4
อุบาสิกา
4
ปกิณกะ
4

สมัครสมาชิก:
บทความ
(Atom)