กลุ่มเช่าประมูล


กลุ่มประมูลซื้อขายพระ เครื่องราง
(facebook)

วิธีดูเขี้ยวสัตว์
แยกแยะเขี้ยว

กลุ่มหนึ่งตู้ม้า

LINE ID: 
spyamulet

FACEBOOK
หนึ่ง ตู้ม้า

สำหรับผู้สนใจ

ของศักดิ์สิทธิ์มีพลังมากขึ้นนั้น ต้องอาศัย"หัวใจของผู้บูชา"ด้วยเช่นกัน

***เคล็ดความศักดิ์สิทธิ์***
จะให้ของศักดิ์สิทธิ์มีพลังมากขึ้นนั้น ต้องอาศัย"หัวใจของผู้บูชา"ด้วยเช่นกัน
ยิ่งศรัทธามากเท่าไหร่ ยิ่งขลังมาก!!! 
ยิ่งมากคนบูชา ยิ่งมากความศักดิ์สิทธิ์

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี



ประวัติและปฏิปทา
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี
จาก...หนังสือหยดน้ำบนใบบัว คติธรรมและชีวประวัติ
พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)
เรียบเรียงจากเทศนาธรรมของท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
ในวาระต่างๆ เพื่อใช้ในการเรียนการสอนแก่สถานศึกษาทุกระดับชั้น
ผู้แต่ง : กระทรวงศึกษาธิการ
คำทำนายของคุณตา
องค์หลวงตา ถือกำเนิดในครอบครัวชาวนาแห่งสกุล "โลหิตดี"
เมื่อขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ ปีฉลู ตรงกับวันอังคารที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๕๖
ณ หมู่บ้านตาด ตำบลบ้านตาดอำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
โดยบิดา "นายทองดี" และมารดา "นางแพง" ได้ให้มงคลนามว่า "บัว"

ท่านเป็นบุตรคนที่ ๒ ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๑๖ คน มีรายนามดังต่อไปนี้
คุณตาคำไพ โลหิตดี (ถึงแก่กรรมปี ๒๕๐๕) สมรสกับคุณยายตุ้ม (มิทราบนามสกุล) มีบุตรธิดา ๒ คน
พระธรรมวิสุทธิมงคล (องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน)
คุณหม (ถึงแก่กรรมแต่เยาว์วัย)
คุณยายอั้ว โลหิตดี (ถึงแก่กรรมปี ๒๕๒๓) สมรสกับคุณตาผง สารีจันทร์ (ถึงแก่กรรม) มีบุตรธิดา ๘ คน
คุณสัว (ถึงแก่กรรมแต่เยาว์วัย)
คุณยายคำตัน โลหิตดี (อายุ ๙๒ ปี) สมรสกับคุณตาเหมิก นามวิชัย (ถึงแก่กรรม) มีบุตรธิดา ๔ คน
คุณขาม (ถึงแก่กรรมแต่เยาว์วัย)
คุณลัง (ถึงแก่กรรมแต่เยาว์วัย)
คุณแข้ง (ถึงแก่กรรมแต่เยาว์วัย)
คุณตาจัด โลหิตดี (ถึงแก่กรรมปี ๒๕๒๕) สมรสกับคุณยายหนู รักษาศิริ (อายุ ๘๕ ปี) มีบุตรธิดา ๑๓ คน
คุณตาหนูพูล โลหิตดี (ถึงแก่กรรมปี ๒๕๓๙) สมรสกับคุณยายบัวลอง พิเคราะห์แนะ (ถึงแก่กรรม) มีบุตรธิดา ๕ คน
คุณยายสวน โลหิตดี (อายุ ๘๕ ปี) สมรสกับคุณตาสมบูรณ์ สุรินทรัตน์ (ถึงแก่กรรม) มีบุตรธิดา ๑๓ คน
คุณยายศรีเพ็ญ โลหิตดี (อายุ ๘๓ ปี) สมรสกับคุณตาวันดี บัวสอน (ถึงแก่กรรม) มีบุตรธิดา ๙ คน
คุณแม่จันดี โลหิตดี (อายุ ๘๐ ปี) สมรสกับคุณตาชาลี พิมพ์ศรี (ถึงแก่กรรม) มีบุตรธิดา ๔ คน คุณแม่จันดีเข้าปฏิบัติธรรม ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อปี ๒๕๒๔
คุณกล่ำ (ถึงแก่กรรมแต่เยาว์วัย)
คุณแม่เถิง โลหิตดี (ถึงแก่กรรมปี ๒๕๔๓) สมรสกับคุณตาสงฆ์ ไชยกิจ (ถึงแก่กรรม) มีบุตรธิดา ๗ คน
ในจำนวนพี่น้องของท่านมีท่านผู้เดียวที่ดำรงอยู่ในสมณเพศ และกอปรด้วยศีลาจารวัตรอันงดงาม ทรงไว้ซึ่งคุณธรรมอันประเสริฐ เป็นที่เคารพสักการะบูชาของชาวพุทธอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ
ถิ่นฐานบ้านเดิม
ต้นตระกูลเดิมของท่านอยู่ที่จังหวัดมหาสารคาม ต่อมาพากันอพยพไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ในครั้งนั้นได้ตามกันมาหลายบ้านหลายครอบครัวด้วยกัน ต่างก็เดินทางด้วยเท้า ด้วยล้อ และเกวียน มุ่งหน้าหาดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์จนกระทั่งมาพบสถานที่อันเหมาะสมคือจังหวัดอุดรธานี จึงพากันพักอยู่ที่บ้านคำกลิ้ง บ้างก็ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นั่นเลย บ้างก็ย้ายออกไปอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ เช่น บ้านโนนทัน บ้านตาด เป็นต้น และเจริญสืบมา ท่านเล่าสาเหตุที่โยกย้ายจนมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่หมู่บ้านตาด ดังนี้
"... พวกที่มาจากมหาสารคามนั้น เดิมเป็นคนละหมู่บ้านๆ ตกลงกันเรียบร้อยแล้วก็ยกพวกมา มาตั้งรวมอยู่ด้วยกัน จนกลายเป็นอันเดียวกันหมด เลยเหมือนกับว่าญาติกัน มีเหตุมาจากแม่น้ำชีท่วม ถ้าเวลาท่วมก็ท่วมซะจนไม่มีอะไรจะกิน มันจะตาย ทนไม่ไหวก็เลยมาหาทำเลดูที่ตรงไหน เลยมาได้ตรงนี้ เลยเอาตรงนี้ ..
ถ้าว่าแล้งก็แล้งไปเสีย ถ้าว่าท่วมก็ท่วมไปเสีย มีแต่ท่าเสียท่าเดียวมาหลายปี มันเลยจะตาย คนไม่มีข้าวกินแล้ว ก็เลือกกระเสือกกระสนกัน จึงได้มาตั้งอยู่นี้ ทีแรก มาตั้งที่บ้านคำกลิ้ง  ก่อน ยกมากันมากอยู่นะ ไม่ใช่คนหนึ่งคนเดียวครอบครัวเดียวนะ ..
มันมาหลายบ้านรวมกัน มาตั้งเป็นบ้านคำกลิ้ง จากนั้นก็แยกออกมาเป็นบ้านตาด บ้านโนนทัน .. พอสงครามโลกครั้งที่ ๒ พวกทหารญี่ปุ่นพากันยกมาตั้งฐานทัพขึ้นใส่บ้านโนนทัน เลยยกบ้านโนนทันนี้แตกออกมาตั้งเป็นบ้านหนองใหญ่  บ้านหนองตูม    ทุกวันนี้... "
 
ประวัติเมืองอุดรธานี
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่บ้านเชียง อำเภอหนองหานและภาพเขียนสีบนผนังถ้ำที่อำเภอบ้านผือ พบว่า บริเวณพื้นที่ที่เป็นจังหวัดอุดรธานีในปัจจุบันเคยเป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ประมาณ 5,000-7,000 ปี มีอารยธรรมความเจริญในระดับสูงและอาจถ่ายทอดความเจริญนี้ไปสู่ประเทศจีนก็อาจเป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บ้านเชียงสันนิษฐานว่าอาจเป็นเครื่องปั้นดินเผาสีลายเส้นที่เก่าที่สุดของโลก
ภายหลังยุคบ้านเชียงพื้นที่นี้ก็ยังคงเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์สืบต่อมาจนกระทั่งสมัยประวัติศาสตร์ของประเทศไทย นับตั้งแต่สมัยทวารวดี (พ.ศ. 1200-1600) สมัยลพบุรี (พ.ศ. 1200-1800) และสมัยกรุงสุโขทัย (พ.ศ. 1800-2000) จากหลักฐานที่พบคือใบเสมาสมัยทวารวดีลพบุรี และภาพเขียนปูนบนผนังโบสถ์ที่ปรักหักพังบริเวณทิวเขาภูพาน ใกล้วัดพระพุทธบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ
ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี พื้นที่นี้ปรากฏในประวัติศาสตร์เมื่อราวปีจอ พ.ศ. 2117 พระเจ้ากรุงหงสาวดีได้ทรงเกณฑ์ทัพไทยให้ไปช่วยตีกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) โดยให้สมเด็จพระมหาธรรมราชากับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกทัพไปช่วยรบ แต่เมื่อกองทัพไทยมาถึงเมืองหนองบัวลำภูซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของเมืองเวียงจันทน์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชประชวรด้วยไข้ทรพิษ จึงยกทัพกลับไม่ต้องรบพุ่งกับเวียงจันทน์ และที่เมืองหนองบัวลำภูนี่เองสันนิษฐานว่าเคยเป็นเมืองที่มีความเจริญมา ตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีนั้น พื้นที่นี้ได้เกี่ยวข้องกับการศึกสงคราม กล่าวคือในระหว่างปี พ.ศ. 2369-2371 ได้เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ยกทัพเข้ามายึดเมืองนครราชสีมา ซึ่งมีผู้นำคือ คุณหญิงโม (ท้าวสุรนารี) กองทัพเจ้าอนุวงศ์ได้ถอยทัพมาตั้งรับที่เมืองหนองบัวลำภู และได้ต่อสู้กับกองทัพไทยและชาวเมืองหนองบัวลำภูจนทัพเจ้าอนุวงศ์แตกพ่ายไป กระทั่งในปลายรัชสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประมาณปี พ.ศ. 2411 ได้เกิดความวุ่นวายขึ้นในมณฑลลาวพวน เนื่องมาจากพวกฮ่อซึ่งกองทัพไทยได้ยกขึ้นไปปราบปรามจนสงบได้ชั่วคราว
ในปี พ.ศ. 2428 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พวกฮ่อได้รวมตัวก่อการกำเริบเสิบสานขึ้นอีกในมณฑลลาวพวนและฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และมีท่าทีจะรุนแรง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้ และเจ้าหมื่นไวยวรนาถเป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายเหนือ ไปทำการปราบปรามพวกฮ่อ ในเวลานั้นเมืองอุดรธานีก็ยังไม่ปรากฏชื่อ เพียงแต่ปรากฏชื่อ "บ้านหมากแข้ง" หรือ "บ้านเดื่อหมากแข้ง" สังกัดเมืองหนองคายขึ้นการปกครองกับมณฑลลาวพวน และกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้ได้เดินทัพผ่านบ้านหมากแข้งไปทำการปราบปรามพวกฮ่อจนสงบ
ภายหลังการปราบปรามฮ่อสงบแล้ว ไทยมีกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส เรียกว่า "กรณีพิพาท ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436)นับเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของสยาม ไทยต้องเผชิญกับภัยคุกคามการล่าอาณานิคม ของสองประเทศมหาอำนาจคือฝรั่งเศสและอังกฤษ ซึ่งมีนโยบายล่าดินแดนแถบเอเชีย เป็นอาณานิคม ฝรั่งเศสนั้นผนวกเอาดินแดนประเทศเวียดนามและเขมรเป็นของตน ส่วนอังกฤษก็ยึดเอาประเทศพม่าและมาเลเซีย ด้วยพระปรีชาญาณของรัชกาลที่ ๕ ในการเสด็จประพาสยุโรป ทำให้ฝรั่งเศสเกรงใจ จนต้องยอมให้ไถ่ถอนบ้านเมือง อันเป็นที่มาของการใช้เงิน “คลังหลวง” ที่รู้จักกันดีว่า “เงินถุงแดง” รวมทั้งได้ทรงวางระเบียบแบบแผน ในการปกครองหัวเมืองชายแดนเพื่อเผชิญกับปัญหานี้จึงทรงแต่งตั้งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยไปปฏิบัติราชการประจำต่างหัวเมือง และหัวเมืองหน้าด่านซึ่งถูกล่วงล้ำอธิปไตยได้โดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน
ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระเจ้าน้องยาเธอ พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นข้าหลวงใหญ่ (ซึ่งต่อมาภายหลัง ทรงสถาปนา พระยศเลื่อนเป็น กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม) พร้อมด้วยข้าราชการทหารตั้งอยู่ ณ เมืองหนองคาย เรียกว่า ข้าหลวงหัวเมืองลาวพวน รับผิดชอบเมืองใหญ่ ๑๓ เมือง เมืองขึ้น ๓๖ เมือง ซึ่งประกอบด้วย บางเมืองทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงด้วย ในขณะนั้น ฝรั่งเศสต้องการจะแบ่งดินแดนที่เคยเป็นของเวียดนาม ก็ต้องตกเป็นของฝรั่งเศสด้วย ทั้งได้ส่งเรือรบเข้าปิดล้อมอ่าวไทย บีบบังคับให้สยามลงนามในสนธิสัญญายอมรับสิทธิของฝรั่งเศสเหนือดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและให้ถอยกองกำลังทหารห่างจากชายแดนในรัศมี ๒๕ กิโลเมตร ภายในระยะเวลา ๑ เดือน
ด้วยเหตุนี้เอง พระเจ้าน้องยาเธอ พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวพวน จึงต้องย้ายที่บัญชาการมณฑลลาวพวนที่ตั้งอยู่ ณ เมืองหนองคาย พระองค์ได้ทรงเคลื่อนกองกำลังทหารและข้าราชบริพารลงมาทางใต้จนถึง "บ้านเดื่อหมากแข้ง" ในวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๓๖ ที่นี่มีชัยภูมิเหมาะสมอุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งน้ำ จึงทรงตัดสินพระทัยสร้างแปงเมือง ณ ที่นี้ และได้ทำหนังสือกราบทูลไปยังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทราบ ซึ่งพระองค์ทรงเห็นชอบที่ตั้งกองบัญชาการมณฑลลาวพวนแห่งใหม่นี้
พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ทรงวางแผนสร้างบ้านแปงเมือง อย่างจริงจัง ทรงวางผังเมืองและบัญชาการการก่อสร้างเมืองด้วยพระองค์เองได้ทรงสร้างศาลาว่าการเมือง ค่ายทหารและสถานที่ราชการส่วนวังที่ประทับได้ทรงสร้างใกล้กับต้นโพธิ์ใหญ่และทรงสร้างวัดขึ้นตรงข้าม กับบริเวณวังที่ประทับ ซึ่งมีโบราณสถานเก่าแก่อยู่เดิมแล้ว เพื่อเป็นพระอารามหลวงคู่บ้านคู่เมือง ทรงประทานนามวัดแห่งนี้ว่า "วัดมัชฌิมาวาส" เพื่อเป็นศูนย์กลางและศูนย์รวมจิตใจของชาวเมือง นับแต่นั้น บ้านหมากแข้ง จึงมีฐานะเป็นกองบัญชาการซึ่งมีการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาการตามลำดับ ดังนี้
เมื่อพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ได้ทรงจัดราชการบ้านเมือง มณฑลลาวพวน และวางระเบียบการปกครองหัวเมืองชายแดนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็เสด็จกลับกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.๒๔๔๒ ไปดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมและผู้บังคับบัญชาการทหารเรือ พร้อมกับทรงเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม" โดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ เป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวพวนองค์ต่อมา (พ.ศ.๒๔๔๒ - พ.ศ.๒๔๔๙)
ปี พ.ศ. ๒๔๔๒ เปลี่ยนชื่อมณฑลลาวพวนเป็นมณฑลฝ่ายเหนือ มีเมืองต่าง ๆ ในปกครอง รวม ๑๒ เมือง ปี พ.ศ.๒๔๔๓ เปลี่ยนชื่อมณฑลฝ่ายเหนือเป็นมณฑลอุดร แบ่งการปกครองเป็น ๕ บริเวณ คือ บริเวณหมากแข้ง บริเวณพาชี บริเวณธาตุพนม บริเวณสกลนคร และบริเวณน้ำเหือง ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองกมุทธาไสย (เมืองหนองบัวลำภู) เมืองกุมภวาปี เมืองหนองหาร อำเภอบ้านหมากแข้ง ตั้งเป็นเมืองจัตวา เรียกว่า "เมืองอุดรธานี" และเป็นที่ตั้งที่ว่าการมณฑลอุดรอีกด้วย
วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๐ พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร พร้อมกับกรมการเมือง ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนจัดพิธีตั้งเมืองขึ้น ณ สนามกลางเมือง มีการอ่านประกาศตั้งเมืองที่ปะรำพิธีและงานเฉลิมฉลอง รวม ๓ วัน ปี พ.ศ.๒๔๖๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้รวมมณฑลอุดร มณฑลอุบลราชธานี และมณฑลร้อยเอ็ด เป็นภาค เรียกว่า ภาคอีสาน ตั้งที่บัญชาการที่เมืองอุดรธานี และโปรดให้ยุบเลิก ในปี พ.ศ.๒๔๖๘
ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตย ในครั้งนี้ ได้ยกเลิกมณฑลต่าง ๆ มณฑลอุดรจึงถูกยกเลิกคงฐานะเป็นจังหวัดอุดรธานี จนกระทั่งปัจจุบันนี้
ตำนานการสร้างวัดมัชฌิมาวาสกล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงย้ายเมืองว่า
“ใช้เกวียนประมาณ ๒๐๐ เล่ม เป็นพาหนะเดินทางรอนแรมมาทางลำน้ำซวย (ลำน้ำสวยในปัจจุบัน) เสด็จในกรมหรือกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ทรงเห็นว่าภูมิประเทศบริเวณนั้นเป็นที่สูงๆ ต่ำๆ ไม่เหมาะที่จะสร้างเป็นเมืองใหญ่ได้ จึงทรงอพยพมาทางทิศใต้ห่างจากลำน้ำซวยประมาณ ๓๐ กิโลเมตร จนถึงบ้านเดื่อหมากแข้ง ได้พักกองเกวียนอยู่ใกล้ต้นโพธิ์ใหญ่ (ข้างวัดมัชฌิมาวาส) ทรงตรวจดูเห็นว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นชัยภูมิอันอุดมสมบูรณ์ด้วยห้วย หนอง คลอง บึง มีลำห้วยหมากแข้งซึ่งมีต้นน้ำจากภูพาน มีลำน้ำใสสะอาดไหลลงสู่ห้วยหลวง จึงตกลงพระทัยให้ตั้งกองบัญชาการ สร้างบ้านแปงเมือง ณ บริเวณนั้น เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๕๓๖) ควบคู่กันไปกับการก่อตั้งบ้านเมือง พระองค์ได้สร้างวังที่ประทับใกล้ต้นโพธิ์ใหญ่ (บริเวณที่เป็นสำนักงานสาธารณสุข จังหวัดอุดรธานีในปัจจุบัน) พร้อมทั้งสร้างวัดขึ้นตรงข้ามบริเวณวังที่ประทับ เพื่อเป็นพระอารามหลวงคู่บ้านคู่เมือง และเป็นศูนย์กลางของชาวเมือง พระองค์ทรงประทานนามวัดแห่งนี้ว่า วัดมัชฌิมาวาส”
จังหวัดอุดรธานี ปัจจุบันอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ๕๖๔ กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ ๑๑,๗๓๐ ตารางกิโลเมตร (ประมาณ ๗,๓๓๑,๔๓๘.๗๕ ไร่) และยังมีแหล่งอารยธรรมที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของประเทศ มีสภาพภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ จังหวัดอุดรธานีเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศและการท่องเที่ยวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งตอนบนและตอนล่าง
 
สภาพความเป็นอยู่สมัยนั้น
สมัยก่อน ณ บ้านตาดนี้เป็นป่าดงดิบ มีทั้งต้นยาง ตะเคียนทอง ประดู่ และต้นไม้อื่นๆ หลากหลายพันธุ์ มากทั้งปริมาณและขนาด สัตว์ป่าจึงมีชุกชุม ไม่ว่าจะเป็นหมูป่า เสือ ช้าง กวาง เป็นต้น ท่านเคยบรรยายสภาพความเป็นอยู่ในสมัยนั้นว่า
"…โอ๋ย…เป็นดงใหญ่ที่สุดเลยนะ ตั้งแต่กรมทหาร( ค่ายประจักษ์ศิลปาคม) มาเลยละ ตั้งแต่เราเป็นเด็กยังเห็นกรมทหารนี้เป็นดงทั้งนั้นนะ เขามาตั้งใหม่นะเนี่ย หลวงตาเกิดแล้วเขาถึงมาตั้งใหม่ แต่ก่อนกรมทหารอยู่ทางบ้านหนองสำโรง เขาเพิ่งย้ายมาทีหลัง แต่ก่อนเป็นดงทั้งหมด…มีแต่ดงช้าง ดงเสือ เต็มหมด…
แม้หลวงตามาบวชแล้วบ้านจั่น ก็ยังเป็นดงอยู่นะ มาใหม่ๆ บ้านคำกลิ้งอยู่กลางดงเลย ช้างลงกินน้ำตอนกลางคืนเต็มไปหมด เพราะฉะนั้นการทำมาหากินจึงสะดวก…หารอบบ้านเอาก็พอแล้ว สมัยนั้นการซื้อการขายมันก็ไม่มี
ตอนหลวงตาเป็นเด็ก เราจำได้ ใครได้หมูได้กวางมาตัวหนึ่งเขาก็กินกันทั้งหมู่บ้าน แจกกันทั้งบ้านเลยนะ ไม่มีการซื้อการขาย ส่งบ้านนั้นบ้านนี้…เขาหากินกันตามท้องไร่ท้องนา พวกอีเห็น กระจ้อน กระแต มันเต็มแถวนี้หมด พวกปูปลาอะไรไม่อดไม่อยาก
ตั้งแต่เรายังไม่บวชเนี่ย เสือโคร่งนี้แอบเข้าไปกัดวัว โอ๋ย ข้างต้นเสาเรือนเลยนะ ติดกับบ้านเลยนะ เพราะดงติดกับบ้าน สัตว์เลี้ยงตามบ้านเขาก็ไม่ได้ผูกไว้ ดังนั้นเสือมันพอกินได้มันก็กินทันที เพราะมันกินได้ง่ายกว่าสัตว์ป่า สัตว์ตามบ้านมันไม่ค่อยระวังตัว
ช้างมันก็เข้าไปกินในสวนเขา สวนก็ติดกับบ้านนั่นนะ มันกินพวกกล้วยพวกอะไรตอนกลางคืนดังโป๊กๆ เป๊กๆ เขาก็ไม่ว่าอะไรนะ…เฉยมาก ขนาดนั้นนะ ทางล้อทางเกวียนอะไรก็ไม่ค่อยได้ใช้ เพราะไม่ค่อยได้ไปมาหาสู่กัน ทำนาก็ทำพอกินเท่านั้น เพราะว่าไม่ได้ซื้อได้ขาย พอเสร็จสรรพการทำนาแล้ว เขาก็สนุกสนานกัน เพราะไม่ได้ทำงานอะไร
การซื้อการขายการรับจ้างอะไรไม่มี แต่ก่อนไม่มี แล้วใครจะมีเงิน ครัวเรือนหนึ่งมี ๙ บาท ๑๐ บาท ถือว่าเป็นธรรมดาแล้วนะ ถือว่ามีฐานะพอสมควร ถ้ามีเป็นร้อยเป็นชั่งเขาถือว่ามีมากจริงๆ เป็นคนมั่งมีในบ้านนั้น…"
ครอบครัวของท่านทำนาเป็นอาชีพหลัก และเพราะเหตุที่อยู่ท่ามกลางป่าดงเช่นนี้ จึงย่อมหนีไม่พ้นที่จะเจอะเจอสัตว์เหล่านั้น ฉะนั้นยามว่างจากนา พ่อของท่านซึ่งเป็นนายพรานที่มีชื่อเสียง จึงเข้าป่าล่าสัตว์อยู่เป็นประจำ เป็นธรรมดานายพรานย่อมชำนาญในการแกะรอยสัตว์ พ่อของท่านนอกจากจะชำนาญในทางแกะรอยสัตว์ ยังขึ้นชื่อลือชาในการแกะรอยคนด้วย นิสัยช่างสังเกตช่างพินิจพิจารณาจึงน่าจะถูกถ่ายทอดมาถึง "เด็กชายบัว"
หากสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งหล่อหลอมให้บุคคลมีอุปนิสัยหนักไปทางใดทางหนึ่งจริง การอยู่ท่ามกลางป่าเสือดงช้างและสัตว์ร้ายนานาชนิดที่เป็นภัยอันตรายรอบด้าน ย่อมสร้างให้คนอยู่ด้วยความไม่ประมาท มีจิตใจเด็ดเดี่ยวอาจหาญและอดทนเป็นเลิศ "เด็กชายบัว" ก็น่าจะรับผลนี้อย่างเต็มภาคภูมิ
สกุลชาวนา ผู้มีอันจะกิน
คุณแม่ของท่านนามว่า “แพง” ถือกำเนิดขึ้นที่บ้านตาดเป็นบุตรของคุณตาพรมมา (มิทราบนามสกุลท่าน) กับคุณยายบับภา ไชยพรมมา ซึ่งย้ายถิ่นฐานมาจากจังหวัดมหาสารคาม แต่พอคุณแม่แพงถือกำเนิดได้เพียงหนึ่งปีเศษเท่านั้น คุณยายบับภาก็เสียชีวิต และได้คุณยายลีซึ่งเป็นน้องสาวของคุณยายบับภาเป็นผู้เลี้ยงดู เมื่อครั้งเติบโตเป็นสาวพอที่จะมีครอบครัวแล้วทางบิดามารดาและญาติผู้ใหญ่ให้สมรสกับคุณพ่อทองดี โลหิตดี
ส่วนคุณพ่อทองดีนั้นถือกำเนิดที่บ้านคำกลิ้งเป็นบุตรของคุณปู่สามารถ โลหิตดี กับคุณย่าทุมมา (มิทราบนามสกุลเดิมท่าน) ซึ่งย้ายถิ่นฐานมาจากจังหวัดมหาสารคามด้วยเช่นกัน ครั้นเมื่อคุณแม่แพงสมรสกับคุณพ่อทองดีแล้วคุณพ่อทองดีก็มาอยู่ที่บ้านตาด ปลูกบ้านสร้างเรือนและมีบุตรธิดาด้วยกันหลายคน องค์หลวงตาก็ลูกคนที่ ๒ ในจำนวนนี้
แม้ท่านจะถือกำเนิดเป็นลูกชาวไร่ชาวนา แต่หากพูดถึงฐานะการเงินของสกุลของท่านแล้ว ก็ไม่ได้ต่ำต้อยกว่าใครในละแวกบ้านใกล้เรือนเคียง จัดเป็นอันดับหนึ่งในหมู่บ้านนั้นก็ไม่น่าจะผิดไป เพราะคุณตาของท่านประสบผลดีในการค้าขายจากนิสัยที่ขยันขันแข็งและฉลาด ท่านเคยเล่าความเป็นมาไว้บ้างดังนี้
"…พออายุเราได้ ๑๑ ปี คุณตาก็ตายจาก .. แม่เล่าให้ฟังว่า คุณตาเป็นคนฉลาด... ในเรื่องความขยันก็จนกระทั่งเขาร่ำลือทั้งบ้านเลยล่ะ แล้วมาได้เมียสกุลนี้ (สกุลของยาย) คือสกุลนี้เขาก็เป็นสกุลมั่งคั่ง ลูกสาวเขาก็สวยงาม คุณตาเลยมาได้กับลูกสาวคนนี้ (คุณยาย) เขายอมยกให้เพราะเห็นว่าคุณตาเป็นคนขยัน แต่งงานแต่งการกันแล้วก็มาได้ลูกสาวคนเดียวคือโยมแม่
คุณตานี้รูปร่างลักษณะเดียวกับเรา ไม่ใหญ่โตนัก เป็นคนค้าขาย ทำคนเดียวแกนะ คนทั้งบ้านมีเป็นพ่อค้าอยู่คนเดียว แปลกอยู่ ซื้อนั้นซื้อนี้ซื้ออยู่คนเดียวไม่หยุดไม่ถอย ในป่านั้นส่วนมากมักจะซื้อของป่านะ พวกหนังสัตว์ พวกอะไรๆ เกี่ยวกับเรื่องของป่านี่ละซื้อมาๆ ไปขาย เอากำไรๆ อยู่คนเดียวเงียบๆ .. นี่แหละพวกหนังอีเก้งหนังอะไรต่ออะไรเอาไปขายๆ ทำอย่างนี้อยู่ตลอดประจำมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เวลาคุณตาจะซื้อวัวซื้อควาย ก็ซื้อมาราคา ๒๐- ๓๐ บาท เอามาขายตัวละเท่านั้นเท่านี้ ได้กำไร ๒- ๓ บาทก็เอา... แต่ก่อนวัวควายราคา ๓๐ บาทนี้ถือว่าแพงมากนะ ส่วนมากจะ ๑๕- ๑๖ ไปถึง ๒๐ บาท ที่เรียกว่าควายตัวนี้สวยงามมาก คุณตาก็ซื้อมาขาย...
พอขายได้แล้วก็ไม่ได้ซื้ออะไร... ได้มาเท่าไหร่ไม่รู้ หากขายอยู่อย่างนั้นตลอด... มีแต่เก็บกับเก็บ... เงินแต่ก่อนเป็นเงินเหรียญ เหรียญบาท มันจึงมีมากขึ้น ใส่เป็นถุงยาวๆ ๘๐ บาทเป็นมัดหนึ่ง เขาเรียก ๑ ชั่ง... แม่เล่าให้ฟังว่า คนแต่ก่อนถือเงินเป็นสำคัญมาก ประหยัดมาก ไม่ใช่เป็นนักจ่ายนะ ไม่ได้ สุรุ่ยสุร่ายอย่างทุกวันนี้ .. แม่นี้เป็นนักประหยัด ยกให้เลย คุณตามอบเงินให้แม่หมด เพราะมีลูกสาวคนเดียว ส่วนคุณยายตายตั้งแต่แม่ยังเป็นเด็กอยู่...
นี้ละ มรดกจึงมาตกทางนี้มาก แม่จึงได้มีฐานะมาตั้งแต่โน้น ... แต่ไม่ให้ใครทราบง่ายๆ นะ... ทางนี้ไม่มีที่จะพูดอะไรๆ คนโบราณเป็นอย่างนั้น มีแต่เก็บแต่หาอยู่อย่างนั้น พูดออกมาเขาจะหาว่าโอ้อวดเสีย โบราณเราถืออย่างนั้น ถือแบบปกเอาไว้ ปิดเอาไว้
แม่เอาเงินมาเทใส่ขันใหญ่ๆ ให้เห็น จึงได้ทราบชัดเจนว่า ฐานะของเราไม่ใช่เล่นเหมือนกันนะ เป็นขันลงหิน เงินนี้เต็มเลย ๒ ขัน ๓ ขัน เอามาสรงน้ำ
เสร็จแล้วก็เอาใส่ถุง ถุงละชั่ง เป็นถุงผ้านะ... เราจึงรู้ว่าพ่อแม่มีเงินมาก เรียกว่าฐานะเป็นที่ ๑ ของหมู่บ้านนี้เลย คุณตาเป็นผู้มอบมรดกให้ ถึงได้มั่งมีอย่างนั้น ถ้าธรรมดาแล้ว โอ๋ย ไม่มีละ…"
คำทำนายของคุณตา
ในขณะที่แม่ตั้งครรภ์ท่านอยู่นั้น ได้ปรารภขึ้นในครอบครัวและวงศาคณาญาติว่า
"... ธรรมดาทารกในครรภ์ เมื่อเติบใหญ่ขึ้นมาต้องดิ้นบ้างไม่มากก็น้อยพอให้แม่รู้สึก แต่กับลูกคนนี้แปลกกว่าคนอื่น ตรงที่นอนนิ่งเงียบเหมือนไม่มีลมหายใจ จนบ่อยครั้งทำให้แม่คิดตกอกตกใจว่า ‘ไม่ใช่ตายไปแล้วเหรอ? ทำไมจึงเงียบผิดปกตินัก’
ครั้นเวลาจะดิ้นก็ดิ้นผิดทารกทั่วๆ ไป คือดิ้นเสียจนแม่เจ็บในท้อง แต่พอเลิกดิ้นแล้วก็กลับเงียบผิดปกติอีกเหมือนกับว่า ‘คงจะตายไปแล้วละมัง? ’
 
ตามไปดูถิ่นฐานบ้านเดิมองค์หลวงตา
ต้นตระกูลขององค์หลวงตา ได้อพยพจากเมืองมหาสารคาม มาที่บ้านคำกลิ้งและแยกมาตั้งบ้านตาด ก่อนที่จะมีการก่อตั้งเมืองอุดรธานีคืออยู่ในช่วงประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ โดยบ้านตาดก่อตั้งก่อนเมืองอุดรธานีประมาณ ๑ ปี มีผู้ใหญ่บ้านคนแรก คือ หลวงคำแหง วังคำแหง ต่อมาได้เป็นกำนันตำบลบ้านตาด
ส่วนการสืบค้นถิ่นฐานบ้านเดิมขององค์หลวงตาที่จังหวัดมหาสารคามนั้น เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๔ คณะของหลวงปู่ณรงค์ อาจาโร แห่งวัดป่ากกสะทอนได้เดินทางไปที่บ้านแคน (หรือบ้านแคนพระบุหรือพระบู๋) ตำบลแคน อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ได้ความว่า ที่นาซึ่งองค์หลวงตากล่าวว่าน้ำท่วมตลอดเวลานั้น ปัจจุบันมีนางพานทอง หุปดง เป็นเจ้าของ มีเนื้อที่ประมาณ ๒๔ ไร่ ที่ดินติดลำน้ำเสียว เดิมในฤดูฝนน้ำจะท่วมตลอดฤดู ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ พืชที่ขึ้นได้ดีคือกอไผ่หนามที่ชอบขึ้นตามลำห้วย โดยนางพานทองเล่าว่า ยายคำพา วังดง ผู้เป็นยายของนางพานทองได้ซื้อที่ดินดังกล่าวจากเจ้าของเดิมในราคา ๒๐ บาท เมื่อยายคำพาเสียชีวิต นางมุกมารดาของนางพานทองได้รับมรดกสืบมาจนกระทั่งนางมุกเสียชีวิต นางพานทองจึงรับมรดกตกทอดและเป็นเจ้าของที่ดินในปัจจุบัน ส่วนเจ้าของเดิมซึ่งขายที่ดินให้ยายคำพานั้นจะชื่อใดไม่ปรากฏ
ในช่วงที่องค์หลวงตาครองธาตุขันธ์อยู่และอยู่ในช่วงระหว่างการไถ่ชีวิตโคกระบือนั้น องค์หลวงตาได้เมตตาแจกโคกระบือมาที่หมู่บ้านแคนนี้หลายสิบตัว และองค์หลวงตากล่าวกับชาวบ้านแคนผู้รับโคกระบือในทำนองว่า บ้านแคนนี้เป็นบ้านเดิมของญาติๆ องค์หลวงตาต้องให้โคกระบือจำนวนมากเป็นพิเศษ
 
ครั้นพอถึงระยะเจ็บท้องจะคลอด ก็เจ็บท้องอยู่ถึง ๓ วันก็ไม่เห็นว่าจะคลอดแต่อย่างใด ตอนเจ็บท้องอยู่นั้นก็ชนิดจะเอาให้ล้มให้ตายเลย เสร็จแล้วก็หายเงียบไปเลยจนกระทั่งคิดว่าไม่ใช่ตายไปอีกแล้วหรือ? แล้วก็ดิ้นขึ้นมาอีก…"
องค์หลวงตากล่าวถึงเหตุการณ์ในระยะนี้ว่า
"...โยมแม่เล่าให้ฟัง ลูกทุกคนที่อุ้มท้องผ่านมานี้ ไม่มีใครลำบากเหมือนเรา มีเราคนเดียวที่ทุกอย่างผิดปกติไปหมดไม่ได้เหมือนใคร กว่าจะได้เกิดมีเหตุการณ์ให้กระเทือนไปหมดทั้งครอบครัว .. (อย่างเช่น)ลูกชายคนหัวปีชื่อคำไพ อันนี้มีนิสัยอย่างหนึ่ง มันดุกดิกอยู่ในท้องแม่น่ะ บางทีจนได้เอาผ้าปิดเอาไว้กลัวคนอื่นมองเห็นลูกดิ้นอยู่ในท้อง โยมแม่ว่าอย่างนั้นนะ มันไม่อยู่เป็นสุขว่างั้น ดุกดิก ๆ อยู่อย่างงั้น ตึ๊กตั๊ก ๆ อยู่ในนั้น จนพูดกับพ่อ
‘เอ! พ่อมันเป็นยังไงลูกข้อยถึงมาเป็นจั่งซี้ ดิ้นกระด้อกระเดี้ยแท้’ (แปลความว่า เอ พ่อมันเป็นยังไงลูกในท้องถึงเป็นแบบนี้ ดิ้นมากจริงๆ )
‘ช่างหัวมันเถาะ มันเป็นตามนิสัยของมันดอก’
‘มันก็โพดแท้ดี๊ เฮาจนได้เอาผ้าปิดไว้ย่านคนเห็น มันดิ้นจนท้องกระเทือน ยุบยับ ๆ จั่งซี้’ (มันก็เหลือเกินจริงๆ จนต้องได้เอาผ้าปิดไว้กลัวคนจะเห็น ลูกดิ้นจนท้องกระเทือนยุบๆ ยับๆ เลยนี่)
‘คนมันเป็นจั่งซั้น นิสัยมันเป็นอย่างนั้น ช่างหัวมันเถอะ’ ..
เวลาเราจะมาเกิด แม่บอกว่ามีเรื่องแปลกๆ เช่น ตอนอยู่ในท้อง บางครั้งไม่ดีดไม่ดิ้น นิ่งเงียบเชียบสนิทเหมือนคนตายแล้ว แต่บางครั้งกลับดีดดิ้นเสียจนนึกว่าจะตายแล้วเหมือนกัน ยิ่งจวนใกล้วันจะคลอดเข้ามาเท่าไรยิ่งแสดงอาการหนักทุกอย่างเลย จนสุดท้ายเวลาจะคลอดมันก็ไม่ยอมคลอด..."
บางครั้งแม่ต้องร้องเรียกหาคุณตาของท่านว่า
‘อีพ้อ! มาคลำเบิ่งท้องข้อยแน ลูกข้อยบ่แมนมันตายในท้องละบ๊อ? มิดออนซอนอยู่หลายมื่อ มิดอิงติงอยู่หลายวัน บ่มีดิ้นมีด่อยเลย บ่อแมนลูกข้อยตายละบ๊อ?’   (แปลความว่า ‘พ่อ..มาคลำดูท้องฉันหน่อย ลูกฉันไม่ใช่มันตายในท้องแล้วหรือ? เงียบสนิทอยู่หลายวัน ไม่มีไหวติงเลย ไม่ใช่ลูกฉันตายแล้วหรือ?’)
คุณตาก็ว่า ‘เฮ่ย! มันบ่เป็นหยังดอก เขามีลูกกันทั้งบ้านทั้งเมืองเขาบ่เห็นเป็นหยัง?’ (ไม่เป็นอะไรหรอก คนเขาก็มีลูกกันทั้งบ้านทั้งเมือง เขาไม่เห็นเป็นอะไร?)
แม่ก็ตอบคุณตาว่า ‘มีมันก็บ่คือข้อยตั๊วล่ะ’ (เขามีลูกกันมันก็ไม่เหมือนลูกฉันนะ)
หลังจากลูกในท้องนิ่งเงียบเชียบสนิทอยู่หลายวัน ในที่สุดก็ดิ้นสุดแรงเกิด แม่ก็เรียกหาคุณตาอีกว่า...
‘โอ้ย! ข้อยจะตายละอีพ๊อ มาคลำเบิ่งท้องข้อยแน ยามลูกในท้องมันดิ้น มันดิ้นหลายเดี๋ยวหนิ๊ มันบ่ดิ้นธรรมดา มันดิ้นคือท้องจะระเบิด ลูกข้อยมันตายแล้วบ๊อ’ (พ่อ...ฉันจะตายแล้ว มาคลำดูลูกในท้องให้ฉันด้วย พอลูกในท้องดิ้น มันก็ดิ้นจนเกินไป มิใช่ดิ้นธรรมดา ดิ้นเหมือนว่าท้องจะระเบิด ลูกฉันไม่ใช่ตายไปแล้วหรือ)
ในช่วงเวลานี้พ่อและแม่ของท่านเวลาฝันมักจะฝันขัดแย้งกันตลอด พ่อมักฝันแต่เรื่องของผู้ชาย เช่น ฝันว่าได้ปืน หรือเห็นผู้ชายถือปืน ส่วนแม่มักฝันแต่เรื่องของผู้หญิง เช่น ฝันเห็นตลับขี้ผึ้ง หรือเครื่องแต่งเนื้อแต่งตัวของผู้หญิง และในที่สุดถึงคราวที่จะมาเกิด ท่านเล่าว่า
"...โยมพ่อฝันว่า ‘ได้มีดโคก คือ มีดที่มีด้ามเป็นงา ฝักมันเป็นเงิน มีปลายแหลมคม’
โยมแม่ได้ฟังดังนั้นจึงพูดแย้งขึ้นว่า ‘อู๊ย! ฉันไม่ได้ฝันอย่างนั้น ฉันกลับฝันว่า ได้ต่างหูทองคำ เวลาใส่ต่างหูอันนี้ อู้ย! มันช่างงดงามหยดย้อยอะไรปานนั้น งามมากถึงขนาดอดใจที่จะไปส่องกระจกดูตัวเองไม่ได้ เมื่อส่องดูก็ยิ่งสวยงามแวววาวประทับจับใจ’..."
และด้วยเหตุนี้ คุณตาจึงได้ทำนายฝันของพ่อและแม่ไว้ว่า
"เออ! ลูกมึงคนนี้ กูว่ามันต้องเป็นผู้ชาย มันเกิดมามีทางเดินให้เลือกอยู่ ๒ ทาง
๑) ถ้ามันไปทางชั่วแล้วพังหมดเลยว่ะ ความโหดเหี้ยม มหาโจรสู้มันไม่ได้ มันยังเป็นนาย เป็นหัวหน้ามหาโจรอีก จะให้จับมันไปเข้าคุกตะรางไม่มีทาง ต้องฆ่ามันเท่านั้นถึงจะจับได้ แล้วมันจะไม่ยอมตายอยู่ในเรือนจำนะสู มันจะตายแบบไม่มีป่าช้าสู้กับเจ้าหน้าที่อยู่ในป่าในเขา ต้องตายอยู่ในป่า ฟัดกันกับเจ้าหน้าที่เขาเพียงเท่านั้น
๒) ถ้ามันไปทางดีแล้วถึงไหนถึงกัน จะดีแบบสุดโต่ง ตรงกันข้ามกับฝ่ายชั่ว...
ชอบไปทางไหนเรียกว่าขาดเลยทีเดียว เป็นคนจิตใจหนักแน่น ลงได้ทำอะไรแล้ว ต้องจริงทุกอย่าง ไม่มีเหลาะๆ แหละๆ …"
เมื่อทารกคลอดออกมาปรากฏว่ามีสายรกพันคอออกมาและยังมีลักษณะที่ต่างไปจากเด็กทั่วไป องค์หลวงตากล่าวถึงเหตุการณ์ในตอนนั้นดังนี้
"... โยมแม่เล่าว่า ‘พอเราตกคลอดออกมาแล้ว .. มีสายรกพันคอ เงียบเฉยไม่มีเสียงร้องแม้แต่น้อย ผิดกับเด็กทั่วๆ ไป เขาจึงเอาน้ำสาดใส่นิดหนึ่ง แทนที่มันจะร้อง กลับไม่มีเสียงออกมาเลยแม้แต่น้อย’
โยมตาได้ทำนายความเป็นไปไว้ ๓ อย่าง คือ
๑. สายโซ่ หมายถึง ไปทางโจรขโมย ... ถ้าเป็นโจร ก็เป็นประเภทคุกตะรางแตก
๒. สายกำยำ หรือสายสะพานปืน หมายถึง เป็นนายพรานเดินตามรอยพ่อ ... ถ้าเป็นพรานจะมีความชำนิชำนาญลือลั่นป่า
๓. สายบาตร หมายถึง จะได้ออกบวชเป็นพระ ... ถ้าเป็นนักปราชญ์ก็จะเหยียบแผ่นดินสะเทือน…’
พอเราตกคลอดออกมามีสายรกพันคอ โยมตาเห็นดังนั้นจึงรีบแก้เคล็ด สะเดาะเคราะห์ให้เป็นมงคลอย่างยิ่ง โดยแกร้องพูดให้พรในทางดีแก่เราขึ้นทันทีว่า
‘โอ้! รกพันคอ นี่เป็นสายบาตร สายบาตร สายทางธรรม นี่สายบาตรๆ สูดูนี่! สายบาตร สายบาตรๆ เด็กน้อยคนนี้มันจะได้บวชเป็นพระ แล้วก็จะได้เป็นนักปราชญ์ นี่คือ ทางสายบาตร’…"
เหมือนไม่มีวัน "กล้า"
คุณตารักหลานคนนี้มาก จะเป็นผู้ดูแลด้วยตนเองทีเดียว คอยจุดไต้ส่องดูหลานทั้งคืน ไม่อยากให้ลูกสาวต้องมาเป็นกังวล เพราะทั้งห่วงหลานก็ห่วง ห่วงลูกสาวคนเดียวก็ห่วง ไม่อยากให้ต้องลำบากคอยลุกขึ้นดู คุณตาเลยคอยดูอยู่ทั้งคืน ดูแล้วดูเล่าคอยส่องอยู่อย่างนั้นบ่อยครั้ง พอมาดูอีกทีหนึ่ง ปรากฏว่าไฟจากไต้เลยตกใส่ตะกร้าลุกไหม้ผ้าอ้อมหลานเลย
เมื่อหลานเติบโตขึ้น คุณตาก็จะมีอุบายสอนหลานอยู่เนืองๆ มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อเห็นหลานน้อยกินมะยมหรือกระท้อนเข้าไปแล้วกลืนเม็ดเข้าไปด้วย คุณตากลัวว่าเม็ดอาจจะติดคอได้ เพราะหลานยังเล็กเกินไป จึงบอกหลานว่า
"ระวัง! กลืนลงไปทั้งเม็ด เดี๋ยวมันจะไปเกิดเป็นต้นอยู่ในท้อง ใบก็จะงอกออกทางจมูกทางปาก รากจะงอกออกทางก้น ระวังให้ดี! เดี๋ยวจะตายได้นะ"
หลานได้ยินเช่นนั้นเกิดความกลัวจนถึงกับร้องไห้เสียใหญ่โต จากนั้นมาไม่กล้ากลืนเม็ดมะยมนั้นอีกเลยจวบจนโตขึ้นจึงได้รู้เรื่อง
อีกครั้งหนึ่ง ในตอนที่ท่านยังเด็กๆ อยู่นั้น จัดว่าเป็นคนขี้กลัวมากคนหนึ่ง คงจะเป็นเพราะผู้เฒ่าผู้แก่เคยพูดถึงเรื่องผีเรื่องปอบหรือเรื่องสัตว์เรื่องเสือให้ฟังมาก่อน เพราะแม้เวลาจะไปขับถ่าย ยังต้องให้น้องๆ เป็นเพื่อนคอยเฝ้าอยู่ใกล้ๆ กันนั้นอยู่ตลอด
"อย่าไปไกลกูหลาย…"
จากนั้นก็บอกให้น้องคนหนึ่งอยู่หน้า อีกคนหนึ่งอยู่หลัง เมื่อได้อยู่ตรงกลางเป็นที่สบายใจแล้วจึงยอมถ่าย
สิ่งนี้ทำให้เห็นชัดว่า แต่เดิมคนเราอาจเป็นคนขี้กลัวมาก่อนปานว่าจะไม่มีความกล้าได้เลย แต่เมื่อได้รับการฝึกฝนในระยะต่อๆ มาแล้ว ย่อมสามารถพลิกนิสัยได้อย่างสิ้นเชิงกลายเป็นนักต่อสู้ที่องอาจไม่หวั่นเกรงต่อสิ่งใดทั้งนั้น
ไม่กินของดิบ
ทางอีสานในตอนนั้นความรู้ทางโภชนาการยังไม่ค่อยเจริญนัก ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงชอบกินอาหารสุกๆ ดิบๆ แม้คุณพ่อของท่านก็เช่นกัน ด้วยความรักของพ่อเมื่อได้อะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ก็อยากจะให้ลูกได้ลองกินดูบ้าง
แต่สำหรับเด็กชายบัวนั้น เป็นมาแต่เล็กแต่น้อยแล้ว คือจะไม่ยอมกินอาหารสุกๆ ดิบๆ เลย แม้พวกปลาร้าอย่างนี้ หากยังดิบอยู่ ก็จะไม่ยอมเอาเข้าปากโดยเด็ดขาดด้วยเหตุผลว่า "มันคาว" แต่แล้ววันหนึ่ง พ่อไปล่าไก่ป่ามาได้แล้วนำมาทำเป็นเหมือนป่นปนน้ำเหลวๆ จากนั้นให้ท่านลองชิมดู ในวันนั้นใจพ่อคิดอยากทดสอบดูว่า ลูกชายคนนี้จะไม่ยอมกินของดิบๆ จริงๆ หรือ เพราะก็เห็นเด็กคนอื่นรวมทั้งพี่ๆ น้องๆ ก็กินกันได้เป็นปกติ ไม่เห็นมีใครบ่นว่าเหม็นคาวแต่อย่างใดเลย
การทดสอบหาความจริงของพ่อจึงเริ่มขึ้น หลังจากปรุงอาหารดิบสูตรพิเศษเสร็จแล้วจึงยกออกมาวาง และลูกก็คงจะมองสีสันและลักษณะดูแปลกตาไป จึงยกขึ้นมาดมแล้วถามอย่างไม่ค่อยวางใจเท่าไหร่นักว่า
"มันสุกแล้วจริงเหรอ? ไม่ได้หลอกข้อยเหรอ? " ( "ข้อย"หมายถึง "ผม")
"ไม่ได้หลอกหรอก กินเถอะลูก ทำให้สุกแล้ว"
ความที่หวังดี ทั้งก็อยากทดสอบดูว่าลูกคนนี้จะไม่ยอมกินจริงๆ หรือ ทำไมมันจะแปลกกว่าพี่น้องคนอื่นๆ นักเล่า ?
ลูกไม่แน่ใจจึงถามย้ำเข้าไปอีกว่า
"ไม่หลอกจริงๆ เหรอ? "
"ไม่ ไม่หลอกหรอก" แต่แท้ที่จริงแล้วผู้ใหญ่ร่วมกันหลอกเด็กเสียเต็มประตู
เมื่อผู้ใหญ่ต่างก็ยืนยันเช่นนั้น ก็เลยเอาข้าวเหนียวปั้นเป็นคำน้อยๆ แล้วจิ้มอาหารดิบสูตรพิเศษเข้าปาก จากนั้นก็เคี้ยวไว้สักพักหนึ่งแล้วก็อมไว้ ไม่ยอมกลืนแต่อย่างใด แค่อมๆ ไว้เท่านั้น แล้วก็จั้มคำที่สอง ก็ทำในลักษณะเดิมอีกคือพอเอาใส่ปากแล้วเคี้ยวอยู่พักหนึ่งแต่ก็ไม่ยอมกลืน ยังคงอมไว้เหมือนเดิม เหตุการณ์ในตอนนี้คุณตาแอบสังเกตเห็นโดยตลอด
พอคำที่สามเท่านั้น คราวนี้หลานอาเจียนแทบเป็นแทบตายชนิดในท้องมีอะไรเท่าไหร่ก็เอาออกมาหมดเกลี้ยงเลย ถึงตอนนี้คุณตาเห็นท่าไม่ดีเสียแล้วจึงรีบเข้าไปลูบหลังพร้อมพูดปลอบขวัญหลานด้วยความสงสารเป็นที่สุดว่า
"โอ๋ ลูกเอย ตาหลอกลูก จริงๆ นะ แหละ ตาขอโทษนะ ตาอยากทดสอบดูลูกว่า ลูกเป็นยังไง บางทีพอตาหลอกให้กินก่อนแล้วเดี๋ยวต่อไปลูกก็คงจะกินเป็นเหมือนคนอื่นๆ เขา"
หลานตอบว่า "ก็ข้อยบอกแล้วว่ามันคาว มันกินไม่ได้จริงๆ "
ถึงตอนนี้องค์หลวงตาได้เล่าย้อนหลังถึงความรู้สึกในทันทีที่ชิมอาหารปรุงรสพิเศษของพ่อไว้ด้วยว่า ‘โหย มันยังไงไม่รู้นะ มันพุ่งเข้าไปข้างใน อาเจียนแตกออกมา วันนั้นยุ่งใหญ่เลยไม่ได้หลับได้นอน เลย’
น้องๆ ของท่านกล่าวถึงเหตุการณ์ในวันนั้นจากคำบอกเล่าของแม่อีกทีหนึ่ง ผลปรากฏว่าในคืนนั้นคุณตาเลยไม่เป็นอันหลับอันนอน สงสารหลาน เห็นหลานกินข้าวไม่ได้ ต้องคอยเทียวลุกไปดูหลานอยู่ตลอด เที่ยวหาฝ้ายมาผูกแขนผูกมือให้หลานถึง ๓ ครั้ง ๓ หน ทั้งปลอบขวัญทั้งเป่าหัวให้หลานอยู่อย่างนั้น เรียกว่ามีวิชาอะไรก็จะขุดจะลากออกมาใช้ให้หมดสิ้น เพราะอยากให้หลานหายโดยเร็ว
ในเรื่องนี้ แม้เมื่อท่านโตขึ้นแล้วก็ตาม หากเห็นน้องๆ พากันกินของดิบ ท่านก็มักจะดุเอาบ้างเหมือนกัน เช่น คราวหนึ่งน้องกำลังกินส้มตำผสมกุ้งสดๆ กัน อยู่ ท่านเห็นเข้าก็เลยดุเอาว่า
"เอาไปทำให้สุกเสียก่อน"
น้องตอบว่า "โอ๊ย แค่กุ้งดิบมันไม่มีเลือดมียาง มันไม่คาวหรอก จะเป็นอะไรไป"
ท่านก็ยังคงยืนยันตามเดิมเหมือนเมื่อตอนยังเล็กว่า "มันคาว"
เรื่องนี้องค์หลวงตาเมตตาอธิบายในภายหลังว่า "นิสัยนี้มันเป็นเองไม่มีใครสอน ของดิบกินไม่ได้ พวกลาบพวกก้อย แม้ที่สุดปลาซิวตัวเล็กๆ ก็กินไม่ได้ กินของดิบได้แต่กุ้ง แต่ต้องกุ้งตัวเล็ก ตัวใหญ่ก็กินไม่ได้มันคาว เขาป่นกุ้งนี้กินได้ นอกนั้นพวกปลาซิวนี้กินไม่ได้เลย นิสัยทุกอย่างนี้เป็นเอง ไม่มีใครบอก มันเป็นในนิสัยเองไม่มีใครสอน จนถึงขนาดว่าพ่อต้องทดลองดูทุกอย่าง ก็ยังอาเจียนออกมาต่อหน้าต่อตา"
อุบายฝึกหลาน คำสอนของตา
เมื่อท่านเติบโตขึ้นพอปีนป่ายได้แล้ว คุณตามักมีอุบายฝึกให้หลานชายทั้ง ๒ คน ( คือพี่ชายและตัวท่าน) ปีนขึ้นต้นไม้แข่งกัน หากว่าใครปีนขึ้นไปถึงกิ่งนั้นกิ่งนี้ได้ก่อน คุณตาก็จะให้รางวัล ปรากฏว่า ท่านเป็นผู้ชนะพี่ชายทุกครั้งไป สำหรับของรางวัลก็คือผลไม้ป่าบ้าง หรือข้าวจี่ บ้าง คุณตาจะให้เพียงปั้นเดียวเท่านั้น ไม่ได้ให้อะไรมาก
เมื่อคนน้องได้รางวัลมาแล้ว คุณตาจะคอยแอบสังเกตดูอยู่ห่างๆ ตลอดมา พบว่าน้องจะแบ่งของรางวัลนั้นให้พี่ชายทุกครั้งไป และให้มากกว่าตัวเองเสียอีก คุณตาไม่เคยเห็นน้องหวงเลย จนต้องได้มาพูดกับแม่ของท่านว่า
"บัวนี่ มีน้ำใจมีความเมตตาแท้ๆ นะ มันรู้จักสงสาร
พี่ชายมันปีนสู้ไม่ได้ มันเลยเอาให้พี่ชายมันกินมากกว่า แทนที่ว่ามันผู้ไปปีนได้ จะกินมากกว่าพี่ชาย มันกลับกินน้อยกว่าพี่ชาย
ดูซิมันมีน้ำใจนะไอ้นี่ มันแปลกนะ แปลกทุกอย่าง"
ทั้งๆ ที่คุณตาก็ให้ความรักแก่หลานทุกคนพอๆ กัน แต่คงเป็นด้วยอุปนิสัยที่มีน้ำจิตน้ำใจเช่นนี้นี่เอง ทำให้คุณตามักมีข้อชมเชยหลานคนนี้อยู่เสมอๆ
นิสัยอีกอย่างหนึ่งของหลานคนนี้ก็คือ ตั้งแต่เด็กแต่เล็กมาแล้ว ชอบที่จะเล่นกับสัตว์ เฉพาะอย่างยิ่งคือสุนัข ยิ่งตัวไหนอ้วนๆ ดำๆ ด้วยแล้วยิ่งชอบหยอกเล่นด้วย จนถึงกับมีบางครั้งที่ทำให้แม่ต้องได้ดุได้ว่าเอาบ้าง อย่างไรก็ตาม แม้จะชอบหยอกสุนัขอยู่บ่อยๆ แต่ท่านจะไม่ยอมตีหรือแกล้งมันให้เจ็บ ตรงกันข้าม หากเห็นน้องๆ แกล้งมันคราวใด ท่านจะดุจะว่าทันที
องค์หลวงตาเคยกล่าวถึงเหตุการณ์ในตอนนี้ด้วยว่า
"...เราชอบเล่นกับหมาเป็นประจำ นิสัยกับหมาถูกกันแต่ไหนแต่ไรมา จนกระทั่งโตเป็นหนุ่มก็ยังเล่นอยู่อย่างนั้นแหละ หมาจะเรียบร้อยขนาดไหนครั้นมาได้รับการอบรมจากเราแล้วดื้อหมด เล่นกับหมาจนกระทั่งมันเหนื่อย มันเพลีย พอหลุดมือเราปั๊บวิ่งหนีเข้าป่าเลย คือ ลูกหมาเขาไม่อยากเล่นกับเรา เขาเหนื่อย
แม่มาเห็นก็ว่าขึ้นเลยว่า ‘เลี้ยงหมาตัวไหนไว้ มีเท่าไร เท่าไร ดื้อเหมือนกันหมด หยอกแต่กับหมา เล่นแต่กับหมา’ เราฟังแม่พูดแล้วก็เฉย เพราะมันก็เป็นอย่างที่แม่ว่าจริงๆ ก็เราเล่นกับมัน จะไม่ให้มันดื้อได้อย่างไร..."
อีกเรื่องหนึ่งสมัยที่ท่านยังเป็นเด็กอยู่ มีคนมาขอใบพลูกับแม่ ในคราวที่เขามาขอแม่ แม่มักจะให้ทุกอย่างไม่เคยเห็นปฏิเสธเลย แต่พอมีความจำเป็นไปขอเขาบ้าง ทุกครั้งเขากลับไม่เคยให้เลย เรื่องนี้หลานๆ มักได้ยินคุณตาสอนเป็นข้อเตือนใจว่า
"เขาไม่ให้ครั้งที่ ๑ ก็อย่าโกรธให้เขา บางทีของมันอาจไม่พอให้ แล้วก็คนเก่านั้นแหละ ให้ไปขอเขาอีกครั้งที่ ๒ เผื่อว่าเขาได้อะไรมา เช่น พวกของป่า ของอะไรๆ ก็ตาม
ถ้าหากครั้งที่ ๒ นี้ก็ไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งไปโกรธให้เขา บางทีเราอาจไปขอเขาทีหลังไม่ทันคนอื่น ของมันเลยไม่พอกัน
ให้ลองกับคนๆ นี้อีกเป็นครั้งที่ ๓ ถ้าไม่ได้ก็เลิกซะ แต่ว่าอย่าโกรธให้เขานะ อย่าไปโกรธให้เขา"
คุณตาดัดนิสัยด้วย "อ้อย" เป็นเหตุ
ป้าฝ้ายเป็นญาติกับครอบครัวของท่านบ้านอยู่ใกล้ๆ กันนั้น ป้าฝ้ายมีสวนอ้อยที่เป็นเหตุให้ท่านในวัยเด็กต้องได้กินอ้อยคลุกเคล้าน้ำตาดังนี้
"...ป้าฝ้ายกับเราเป็นญาติกัน แกเป็นสาวสวยงามมาก ผิวขาวเหมือนฝ้าย คนเขาจึงเรียก "ป้าฝ้าย" แกมีกิริยานิ่มนวล แกมาเจอกับเด็กอย่างเรา ... ตอนนั้นเราเป็นเด็กอายุ ๖ ปี พี่ชายอายุ ๗ - ๘ ปีอยู่บ้านตาด … เราจำได้ทุกสิ่ง ...
วันหนึ่งเดินผ่านออกไปทางบ่อน้ำ แล้วก็ไปทุ่งนา ผ่านสวนอ้อยแม่ป้าฝ้าย มันอยู่ข้างๆ ทาง อ้อยก็ลำใหญ่น่ากินเสียเหลือเกิน เราจึงออกปากชวนพี่ชายว่า
‘พี่...ขโมยอ้อยเขาไปกินกันเถอะ’
จึงพากันลอดรั้วเข้าไปขโมยตัดอ้อยแม่ป้าฝ้าย ดึงกระชากลากออกมาคนละลำ ... พอดีในวันนั้นป้าฝ้ายไม่อยู่ แกไปทุ่งนา ... ขณะที่เรากับพี่กำลังกุลีกุจอลอดรั้วกลับออกมา แกก็มาพบเข้าพอดี จึงถามขึ้นว่า
เด็กเหล่านี้สูทำไมมาขโมยอ้อยกูหล่ะ’ ป้าฝ้ายพูดพร้อมกับอมยิ้ม เพราะเห็นว่าทั้งสองยังเด็กเกินไปที่จะถือสีถือสา
เราก็ตอบไปแบบโวหารเด็กโวหารโจรว่า ‘ผมไม่ได้ขโมยอ้อยป้านะ ผมเดินผ่านไปผ่านมา ผมเห็นอ้อยผมอยากกินอ้อยมาก จึงให้พี่ชายเข้าไปตัดอ้อย ตัดแล้วจะแบกไปบอกป้าแล้วจึงจะกลับไปบ้านกัน เผอิญป้าผ่านมาพบพอดี ถ้าอย่างนั้น ป้าก็เอาคืนไปเสียเถอะ’
‘โอ๊ย กูไม่เอาละ สูตัดมาแล้ว สูก็เอาไปกินเสีย’ ป้าพูดใจดีอย่างนั้น เรากับพี่ก็ยิ้มแต้เลย
พอกลับไปบ้าน ก็ไปอวดโยมตาละซิว่า ‘ได้ไปขโมยอ้อยป้าฝ้ายกับพี่ชาย’
พอโยมตาได้ทราบดังนั้น... วันต่อมาก็เดินด้อมไปหาป้าฝ้าย ไปบ้านเขาก็เพราะกลัวหลานของตัวจะเสียคน ถ้าส่งเสริมเดี๋ยวหลานมันจะกลายเป็นขโมย เพราะฉะนั้น โยมตาจึงไปบอกเขาว่า
‘เด็กเหล่านั้นมันไปขโมยอ้อยสูเมื่อวานสูรู้ไหม?’
ป้าฝ้ายตอบว่า ‘รู้.. แต่พวกเด็กเขาไม่ได้ขโมยนะน้า เขาบอกว่าเขาหิวอ้อยมาก เขาตัดอ้อยแล้วเขาจะแบกมาขอที่บ้านนี่ก่อน แล้วพวกเด็กถึงจะไปบ้านเขา’
โยมตาก็ว่า ‘พวกเด็กมันขโมยอ้อยสู สูรู้ไม่ทันมัน มันพูดกับกูชัดเจนแล้วว่ามันขโมย มันโกหกสู’
ทางฝ่ายป้าฝ้ายแกก็ไม่ถือสานะ แกบอกว่า ‘โอ๊ย! ช่างหัวมันเถอะ ประสาเด็ก’
ทางฝ่ายโยมตา ได้เอาเรื่องขโมยอ้อยนี้มาขู่ดัดนิสัยเรา ด้วยเสียงแข็งๆ โดยแกล้งบอกพวกญาติๆ ว่า ‘พวกสูไปหาพวกเครื่องอาหารการบริโภคใส่พกใส่ห่อไว้ให้เด็กสองตัวนี่ซิ เดี๋ยวตำรวจเขาจะมาจับมันมัดไปติดคุก เพราะมันไปขโมยอ้อยเขามา’…"
พอหลานบัวได้ฟังดังนั้นก็เกิดความกลัวขึ้นมาจับใจ จึงวิ่งร้องห่มร้องไห้กระโดดขึ้นไปหลบบนบ้านเข้าห้องปิดประตู ครั้นพอเข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในห้องก็คิดกลัวอีกว่า
‘อยู่ในห้องแคบๆ แบบนี้..ตำรวจเขายิ่งจะมาจับเอาตัวไปได้ง่าย’
พอคิดได้อย่างนี้ก็ตกใจรีบกระโดดลงบ้านฟาดวิ่งเตลิดเปิดเปิงลงทุ่งกลางนาหาที่หลบซ่อนตัวแบบกะว่าจะไม่ให้ใครตามหาตัวเจอเลยก็ว่าได้
ท่านว่าคราวนั้นคุณตาดัดนิสัยสันดานหลานชายอย่างเต็มที่ เพราะกลัวหลานรักจะเสียผู้เสียคน ถ้าไปแก้ต่างให้หลานจะกลายเป็นการส่งเสริมแล้วเด็กจะเสียคนได้ ทั้งที่โดยปกติธรรมดานิสัยของท่านเองไม่เป็นเช่นนี้ จะมีก็เพียงตอนหิวอ้อยตอนนี้ตอนเดียวเท่านั้นก็เลยพาให้โกหกผู้ใหญ่ได้เก่งทีเดียวว่า ‘ไม่ได้ขโมย’
ตอนไม่รู้ ก็ผิดบ้าง
พอรู้แล้ว ไม่ยอมให้ผิด
ปกติอุปนิสัยเด็กชายบัวเป็นที่รักของคนทั่วไปทั้งผู้ใหญ่และเพื่อนฝูงวัยเดียวกัน เพราะที่เป็นเด็กมีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือการงานผู้อื่นอยู่เสมอ หากไปไร่ไปสวนกับใครก็ตามมักจะช่วยเหลือทุกอย่างที่จะช่วยได้ เช่น ช่วยทำการทำงาน ช่วยหาบช่วยถือสิ่งของ ใครๆ ก็เลยรักทั้งนั้น ไม่มีใครคิดหวงข้าวหวงของอะไร
ชีวิตของเด็กชายบัวมิได้มีสิ่งใดผิดแผกแตกต่างจากเพื่อนฝูงวัยเดียวกัน แต่เล็กแต่น้อยก็ให้ความเคารพในพระศาสนา มีความเลื่อมใสในพระในเณรมาโดยตลอด ในตอนเด็กก็ชอบใส่บาตรกับผู้ใหญ่ เมื่อเข้าเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาแล้ว เด็กชายบัวก็รับผิดชอบในการเล่าเรียนดี จะมีบางครั้งที่ซุกซนบ้างตามประสาวัยที่กำลังรักสนุกเพลิดเพลิน แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงอะไรนัก เช่นครั้งหนึ่งท่านยกเอาเรื่องสมัยเด็กมาสอนนักเรียนว่า
"…นี่หลวงตาบัวเคยเป็นนักเรียนมาแล้วนี่ เป็นนักเรียนเป็นยังไงละ วันไหน ขี้เกียจเรียนหนังสือก็หาอุบายลาไปเลี้ยงน้อง
‘วันนี้ลาเอาน้องครับ พ่อแม่หนีหมด’ ว่ายังงั้นนะ ‘พ่อแม่บอกดูน้องให้ด้วย’ นั่น ว่าไปยังงั้นนะ ครูเขาก็ต้องอนุญาตนะสิ ใช่ไหมละ
พอครูอนุญาต ที่แท้ก็เผ่นแน่บเข้าป่าหายจ้อยไปเลย.. เคยเป็นแล้วจึงเอามาพูด …อย่าให้เป็นนะเด็กเหล่านี้ หลวงตามันเคยเป็นมาแล้ว... มันไม่ดี จึงได้เอามาสอนลูกสอนหลาน...
วันหนึ่งๆ นี้ ขาดโรงเรียนไป ขาดวิชาไป บางทีเขาโน้ต จดวิชาอะไรต่ออะไรนี้ เราไม่ได้จดกับเขา แล้วถ้าเราจะไปโน้ตหรือจดวันหลังเช่นนี้ก็จะเสียเวลาไปอีกมากมาย แล้วถ้าครูสอนอะไรมันก็ไม่ได้เรื่องได้ราว เพราะวันนั้นเป็นวันที่เราขาดโรงเรียน นั้นแหละ
เพราะฉะนั้นพอโตขึ้นมา พอรู้เรื่องรู้ราวแล้ว... รู้จักผลรู้จักประโยชน์ในการศึกษาเล่าเรียนแล้ว ทีนี้... โอ๊ย ไม่ยอมให้ขาดเรียนเลยนะ หมายถึงว่าตอนเล็กกว่านั้นมันเคยเถลไถล พอโตขึ้นมาพอรู้ภาษีภาษาบ้าง... เป็นไม่ยอม
แม้แต่พ่อแม่ให้ลาเวลาจำเป็นนี้ยังไม่ยอมลา มันจะขาด... ถ้าไปแล้วมันต้องเสียวิชานี้... วันนี้ครูจะสอนอันนั้นๆ บอกไว้เลย ถ้าไปแล้ว จะไม่ได้เรียนไม่ได้ฟังวิชานี้... "
โดยปกติท่านเป็นคนรักกฎระเบียบ รักษาคำพูดและเคารพเชื่อฟังผู้หลักผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์มาแต่เดิม จะไม่ยอมทำสิ่งใด ให้เป็นที่หนักอกร้อนใจแก่ท่าน จึงไม่เคยถูกดุด่าว่ากล่าวรุนแรงอะไร หากจะมีอยู่บ้างก็คือ
ครั้งหนึ่ง ระหว่างที่ผู้ใหญ่กำลังนั่งพูดคุยกันอยู่นั้น ท่านก็เดินเข้าไปในบริเวณกองไม้ซึ่งอยู่สูงกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ดูเหมือนว่าท่านไม่ให้ความเคารพ ครูใหญ่เห็นดังนั้น คิดจะสอนท่านจึงพยายามมองสบตา และส่งสายตาเตือนให้รู้ตัว ท่านก็เลยรีบลงมา
เมื่อผู้ใหญ่ไปแล้ว ครูก็พูดด้วยความเมตตา บอกให้ทราบเหตุผลว่า
‘บัวเอ๊ย อย่าขึ้นนั่งสูงกว่าผู้ใหญ่นะ อย่างนั้นมันดูไม่งาม’
ในตอนนั้นท่านไม่ทันคิดว่ามันไม่เหมาะไม่ควร ต่อเมื่อครูทำสัญญาณบอกดังกล่าว ท่านจึงทราบและรีบปฏิบัติตามทันทีด้วยความเชื่อและเคารพในเหตุผล
เด็กชายบัวผู้เกรงกลัวบาป
มีอยู่ครั้งหนึ่งในวัยเด็กขององค์หลวงตาซึ่งท่านยังจำได้ไม่เคยลืมเลือน ท่านเล่นซุกซนชนิดที่เพื่อนรุ่นพี่ด้วยกันยังรับไม่ได้ ครั้งนั้นเด็กชายบัวเห็นพวกผู้ใหญ่เขาตัดต้นมะอึกเป็นต้นไม้พุ่มมีหนามกอใหญ่ๆ ทิ้งไว้ข้างทาง เกิดนึกสนุกอยากแกล้งคนจึงไปลากกิ่งไม้มะอึกที่มีหนามมาขวางทางเดินไว้ เพื่อนรุ่นพี่ที่ไปด้วยกันเห็นเข้าจึงถามขึ้นว่า
‘มึงจะทำอะไรนี่’
‘เอามาขวางทางคนเดินนะสิ’ เด็กชายบัวตอบ
‘มึงเอามาหาพ่อมึงอะไร มึงไม่รู้จักหรือว่าไม้มันมีหนาม มันกีดขวางทางคนเดิน?’
‘รู้..แต่กูจะทำ คนเขาเดินมา เขาจะด่าก็ช่างหัวเขา กูสนุกของกู’ เด็กชายบัวตอบไปตามประสาเด็กๆ ไม่รู้เรื่องกำลังซุกซน
‘มึงเอาออกไป๊..เดี๋ยวนี้’ หนุ่มรุ่นพี่ขู่เด็กชายบัวให้เอาออกโดยเร็ว
และแล้วในที่สุดเด็กชายบัวก็ยอมเป็นผู้เอาออกแต่โดยดี
เรื่องนี้ท่านอธิบายถึงอุปนิสัยในวัยเด็กของท่านเองว่า "นิสัยนี้เป็นนิสัยของมันเองก็คือนิสัยกิเลสนั่นแหละ จิตใจคนเรามันมีเป็นขั้น...เป็นขั้น...ในเวลานั้นไม่ได้นึกถึง พุทโธ ธัมโม สังโฆ อะไร หนักเบาอะไรๆ ไม่นึกถึง มันดิ้นไปตามกิเลส ที่เป็นนิสัยดั้งเดิมของมันเอง"
เกี่ยวกับการใช้ภาษาในการพูดคุยสนทนากันของคนในสมัยเมื่อท่านยังเด็ก องค์หลวงตาเคยกล่าวถึงไว้แบบขำขันว่า "ก็เราเป็นลูกชาวนา พ่อแม่ทำไร่ทำนา ไม่ได้พาซื้อพาขายอะไร จึงไม่ได้ชำนิชำนาญในเรื่องตลาดภาษิตภาษาสังคมต่างๆ ไม่ค่อยเข้าใจ พวกกันก็ต้องพูดภาษาชาวนาไปเลย (หัวเราะ) "
ด้วยเหตุนี้เองการพูดจากันระหว่างพี่น้องเพื่อนฝูงซึ่งมีความสนิทสนมคุ้นเคยกันในสมัยนั้นจึงมักใช้ภาษาเป็นแบบกันเองไม่ได้ถือเป็นคำหยาบคายอะไรเป็นภาษาชาวบ้านทั่วไป ไม่ใช่ภาษาคนเมืองที่ต้องใช้เพื่อการติดต่อซื้อขายเป็นการเป็นงานประจำระหว่างกัน
อีกเรื่องหนึ่งในวัยเด็กขององค์หลวงตาที่ท่านไม่เคยลืมเลือนเลยเป็นการพูดคุยกันระหว่างผู้ใหญ่ ๒ คน ครั้งนั้นท่านได้ยินผู้ใหญ่เขาพูดคุยกันเป็นเชิงทีเล่นทีจริง คนหนึ่งเป็นคนใจบุญสุนทาน อีกคนหนึ่งใจบาปชอบเข้าป่าเข้าเขาหายิงเนื้อยิงสัตว์ หาจับปูจับปลาเป็นประจำอยู่อย่างนั้นตลอด คนที่ใจบุญก็ชอบทำบุญทำทาน วันพระวันเจ้า ถ้าวัดใกล้บ้านไม่มีพระก็ไปทำบุญทำทานวัดอื่น ในวันพระไม่เคยละเว้น ทีนี้เวลาจะไปวัดก็เลยมาชวนเพื่อนอีกคนว่า
‘เพื่อน... เพื่อน วันนี้เราจะไปวัด ไปวัดด้วยกันไหม’
‘อู๊ยๆ วันนี้กูไม่ไปแหละ มึงไปวัดแล้วมึงได้บุญกุศล มึงไปสวรรค์แล้ว มึงจะได้ไม่มาแย่งหาสัตว์ หาฆ่าเนื้อฆ่าปลากับกู กูจะสนุกหาตกปูตกปลาไม่มีใครมาแย่งกู’
ท่านเล่าถึงความรู้สึกในครั้งนั้นว่า ทั้งๆ ที่เราเป็นเด็ก ทำไมมันจึงไม่ลืม สิ่งที่มันไม่ลืม ไม่เคยลืมเลยนะ คำพูดอย่างนี้เราได้ยินจริงๆ เต็มหูเราเลย เราอุทานในใจว่า
‘โอ๊ย! ผู้เฒ่าทำไมพูดอย่างนี้ คนทั้งโลกเขารักบุญรักกุศล รักการให้ทาน เอ๊ะ! ทำไมแกจึงพูดอย่างนี้ได้ จะเป็นลักษณะคำพูดมันมีทีเล่นทีจริงก็ตาม แต่มันก็ไม่น่าจะเอามาพูด’
เรื่องในวัยเด็กทั้งสองเรื่องนี้สะท้อนถึงความสามารถในการแยกแยะผิดชอบชั่วดีตั้งแต่ยังเล็กของท่านแม้จะเป็นวัยที่ยังมีความซุกซนอยู่ไม่น้อยก็ตาม สิ่งนี้บ่งบอกถึงคุณธรรมที่ฝังอยู่ลึกในใจท่านทำให้ท่านในวัยเด็กรู้สึกได้ว่าการพูดจาของผู้ใหญ่เช่นนี้มันเป็นความเสียหาย และจะนำมาซึ่งความเสียหายต่อไปในอนาคตอย่างแน่แท้
คติธรรมมักจดจำไม่ลืม
แก้หน้าให้พี่ชาย
ในสมัยนั้นโรงเรียนอยู่ตรงวัดร้างบริเวณป่าสักทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านตาด ในช่วงที่เรียนหนังสืออยู่นั้น โรคอหิวาต์กำลังระบาด ครูจึงเขียนกลอนไว้สอนเด็กนักเรียนให้ท่องจำว่า
อหิวาต์กำเริบ ล้างมือก่อนเปิบ ด้วยน้ำประปา
ผักดิบผักสด งดเสียดีกว่า หากใช้น้ำท่า จงต้มเสียก่อน
อาหารหวานคาว เมื่อกินทุกคราว เลือกแต่ร้อนๆ
อาหารสำส่อน จำไว้ใคร่สอน กินไม่ดีเอย"
บทท่องจำบทนี้แม้จะท่องจำมาตั้งแต่สมัยเด็กนานมาแล้วก็ตาม องค์หลวงตาก็ยังสามารถจดจำได้อย่างแม่นยำตลอดมา ท่านเคยให้เหตุผลไว้เช่นกันว่า
"อันไหนที่มันติดใจแล้วมันจะจำได้ไม่ลืม เป็นคติธรรมดี จึงทำให้จำได้แม่นยำ
ชีวิตในวัยเรียนของท่านนั้น ท่านเป็นเด็กนักเรียนที่ตั้งอกตั้งใจเรียน มีความรับผิดชอบสูง จะเห็นได้จากผลการเรียนที่ดีเยี่ยมของท่าน คือ
ประถม ๑ สอบได้ที่ ๒ ประถม ๒ สอบได้ที่ ๑ ประถม ๓ สอบได้ที่ ๑
ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงนี้ว่า
"พ่อแม่มีลูกหลายคน แต่ไปเรียนหนังสือพร้อมกัน ๓ คน สมัยนั้นเด็กอายุ ๑๐ ปี เขาให้เข้าโรงเรียน ถ้าต่ำกว่านั้นเขาไม่นับเข้าในบัญชี ..
เรายังไม่ลืมนะ เขาให้เป็นลูกเสือ ไปซื้อชุดลูกเสือ .. เราเป็นน้องก็จริง แต่เรียนสูงกว่าพี่ พี่ได้ชุดลูกเสือ เราเป็นน้องเรียนชั้นสูงกว่าพี่ก็ควรจะได้เช่นเดียวกัน ตกลงเราทั้งสองก็ได้พร้อมกัน ราคาฟาดเสียตั้ง ๗ บาท เงิน ๗ บาทในสมัยนั้นไม่ใช่เล่นๆ ฝังใจลึกมาก
พ่อบอกว่า ‘อุ๊ย! กูก็มีเงินเท่านี้แหละ กูหามาได้สองสามวัน สูก็เอาไปหมด’
เรายังจำฝังใจไม่ลืม เวลาไปสอบ .. ไอ้เราได้ที่หนึ่งเสมอ ส่วนบักคำไพผู้เป็นพี่ชาย ขาดเพียงคะแนนเดียวก็จะสอบผ่าน คือว่าคะแนนถึงสิบจึงจะสอบผ่าน มันสอบได้เพียงเก้าคะแนน จึงสอบตก เราจึงแซงขึ้นไปเรียนชั้นสูงกว่า พี่ชายเราเซ่อๆ นะ เวลาไปเรียนหนังสือ…"
การเรียนหนังสือในตอนนั้นก็ไม่ได้มีฝากั้นแบ่งแยกเป็นห้องๆ ดิบดีอะไร ทำให้มองเห็นกันและได้ยินเสียงครูข้างๆ ห้องสอนหนังสือนักเรียนชัดเจน เหตุนี้เองทำให้มีเรื่องน่าขบขันเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่เรียนหนังสือ อย่างเช่นวันหนึ่ง พี่ชายของท่านไปเรียนหนังสือและครูให้ไปเข้าแถว หากว่าใครเป็นคนที่ยืนอยู่อันดับแรกก็นับ..หนึ่ง สอง สาม ไปตามลำดับ
ในวันนั้นพี่ชายของท่าน (ชื่อคำไพ) อยู่ในอันดับที่สิบเอ็ด พอเพื่อนนับถึงคนที่สิบ อันดับต่อไปเป็นพี่ชายของท่านและจะต้องนับเลข "สิบเอ็ด" พี่ชายกลับมัวแต่อ้าปากค้าง อ้า...อ้า... อ้าปากค้าง...อยู่อย่างนั้นนับไม่ได้หน้าไม่ได้หลังอะไร เป็นที่รำคาญใจและอับอายแก่น้องยิ่งนัก น้องซึ่งอยู่ในวัยเด็กกว่าและไปอยู่แถวๆ นั้นพอดี จึงตะโกนบอกพี่ชายในทันทีว่า
"สิบเอ็ด สิบเอ็ด สิบเอ็ด ตอบเร็วๆ ๆ ๆ สิพี่"
พี่ชายได้ยินเสียงน้องก็รีบตอบในทันทีว่า "สิบเอ็ด ด ด ด"
ท่านจะเล่าถึงเหตุการณ์นี้ในวัยเด็กระหว่างพี่ชายกับตัวท่านเองด้วยความขบขันทุกครั้งไป และอีกเรื่องหนึ่งท่านเล่าถึงพี่ชายทำขายหน้าตอนอยู่โรงเรียนขณะท่านกำลังเรียนอยู่ชั้น ป.๑ และพี่ชายของท่านก็เรียนหนังสืออยู่ห้องติดกันดังนี้
"...พี่ชายเรายังไม่ได้หน้าได้หลังอะไร ทีนี้เวลาครูถามเรื่องง่ายๆ มันน่าจะคิดได้ แต่มันกลับคิดไม่ได้ ทำให้เป็นเรื่องยาก เช่นครูถามขึ้นว่า ‘คำไพ ค้างคาว ภาษาอีสานเรียกอะไร?’
พี่ตอบว่า "เจียครับ"
ทีนี้ครูถามย้อนกลับอีกว่า "แล้ว เจีย ภาษากลางเรียกว่าอะไร?"
แทนที่พี่จะตอบว่าเรียกว่า "ค้างคาว" แกก็ย้อนกลับไม่เป็นนะ มันโง่จะตาย (หัวเราะ) เพื่อนเขาหลอกให้ตอบแบบไหนมันก็ว่าไปตามเขาหมด พอครูถามยํ้าๆ อีก
เจียเรียกว่าอะไร .. เจียเรียกว่าอะไร .. คำไพ เจียเรียกว่าอะไร?’
พวกเพื่อนๆ ที่นั่งอยู่นั่นหลอกมัน แอบกระซิบบอกเรียกว่า ดังวีก
พี่จึงเหลียวมองโน้นมองนี้ แล้วก็ตอบครูตามเขาทันทีว่า ‘เรียกว่าดังวีกครับ (แปลว่าจมูกวิ่น)’ …"
ทันทีที่พี่ชายหลงเชื่อตอบคุณครูตามคำกระซิบของเพื่อนๆ ผลปรากฏว่าทั้งครูและเพื่อนในห้องนอกห้องต่างพากันส่งเสียงหัวเราะสนั่นโรงเรียน เด็กชายบัวในครั้งนั้นจึงทั้งจะหงุดหงิดทั้งจะขบขันปะปนกันไป ได้แต่คิดว่าเราเป็นน้องแท้ๆ เราคิดได้แล้ว นี่ครูเพียงให้แปลย้อนหลังเท่านั้น พี่ชายกลับทำไม่ได้
เคารพเชื่อฟังครูบาอาจารย์
ต่อมาเมื่อจบชั้นประถม ๓ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของการศึกษาภาคบังคับในเวลานั้นแล้ว ท่านก็ไม่ได้ศึกษาในชั้นต่อๆ ไปอีก ในช่วงที่เป็นนักเรียนอยู่นั้น ท่านเป็นที่รักที่วางใจของคุณครูอยู่ไม่น้อย
สังเกตได้ชัดเจนก็คือ เวลาไปไหนมาไหน คุณครูมักพาไปด้วย คงจะเป็นเพราะอุปนิสัยช่างสังเกต ขยันขันแข็ง ถึงคราวจะใช้จะวานอะไร ก็คล่องแคล่วว่องไว และเข้าใจกาลใดควรไม่ควร
สิ่งนี้ทำให้คุณครูให้ความสนิทสนมเป็นกันเองกับท่านตลอดมา แม้ภายหลังท่านจะเข้าสู่เพศบรรพชิตแล้วก็ตาม แต่การติดต่อสัมพันธ์ก็มิได้จืดจางห่างเหินแต่อย่างใดเลย
คุณครูชาลี สิงหะสุริยะ เป็นครูใหญ่โรงเรียนประชาบาลบ้านตาดในระยะนั้น เป็นผู้ที่ท่านกล่าวถึงเสมอมาด้วยความชื่นชมและซาบซึ้งในพระคุณไม่เสื่อมคลายว่า
"…ท่านเป็นครูของอาตมา เป็นครูตั้งแต่อาตมายังเป็นนักเรียน ท่านเป็นครูที่ดีจริงๆ หายากมาก อาตมารักและเคารพครูของอาตมาคนนี้มาก ซึ่งความจริงแล้วอาตมามีครูที่สอนไม่รู้กี่คน ตั้งแต่ชั้นนั้นชั้นนี้ ตั้งแต่ ก ไก่ ก กา ก็มีครูท่านนี้แหละที่อาตมาติดใจมากที่สุด รักมากที่สุด เคารพมากด้วย ไปไหนชอบเอาไปด้วยนะนี่ ท่านชอบเอาไปด้วย
โอ…หายากนะนี่ คนไม่ลืมเนื้อลืมตัว คือครูคนนี้แหละ ไม่ลืมเนื้อลืมตัวเลย เข้านอกออกในได้หมด ไม่ถือสีถือสา ถือยศถาบรรดาศักดิ์ ความประหยัดนี่เก่งมากทีเดียว ไม่สุรุ่ยสุร่าย ไม่ลืมเนื้อลืมตัว การเล่นเกะกะเกเรไม่มีเลย ไปไหนมาไหนเรียบๆ
ชอบทำบุญให้ทานเป็นประจำนิสัย และเป็นคนกว้างขวางมาก ไม่เห็นแก่ตัว เพื่อนฝูงรักมาก ช่วยเหลือคนไม่กลัวหมดกลัวสิ้น แต่ตัวเองรับทานและใช้สอยน้อย ประหยัดดีหายาก อาตมารักท่านมาก
โอ... หายากมาก อาตมารักมาแต่ไหนแต่ไร จนกระทั่งทุกวันนี้แหละ ความรักของอาตมา ความเห็นบุญเห็นคุณ ไม่เคยจืดจางไปเลย ฝังลึก อาตมาไม่ค่อยเหมือนใครง่ายๆ ครั้นว่าลงก็ลงจริงๆ ครั้นว่าไม่ลงก็ไม่ลงนะ ครั้นว่าลงก็ลงจนกระทั่งวันตาย ไม่มีอะไรมาแก้ให้ตกดอก
นี่ก็ลงแท้ๆ ลงเชื่อว่าเป็นครูของอาตมา ให้กำเนิดวิชาความรู้อาตมามาโดยตลอด กิริยามารยาท การปฏิบัติตนอย่างไร อาตมาได้ยึดเป็นคติเป็นตัวอย่างมาตลอด เหมาะสมกับที่เป็นครู…"
หยอกล้อประสาพี่น้อง
ย้อนมากล่าวถึงความผูกพันประสาพี่น้องในครอบครัว เริ่มต้นด้วยเรื่องที่น้องๆ เล่าถึงอุปนิสัยและความจริงจัง ของท่านในวัยหนุ่มว่า
"... ท่านเป็นคนดุเพราะนิสัยเป็นคนจริงจัง ทำให้น้องๆ เกรงกลัวอยู่ไม่น้อยทีเดียว บางทีถ้าหากท่านไม่อยู่หรือออกไปนอกบ้าน จะรู้สึกโล่งอกโล่งใจ แต่ถ้ากลับมาเมื่อใด ต้องได้แอบบอกกันว่า
นั่นๆ บัวมาแล้วๆ ’…"
โดยมากน้องๆ จะเกรงท่านมากเป็นพิเศษก็คือช่วงที่กำลังทำงาน เพราะท่านจะทำจริงทำจังมาก น้องๆ จะมัวมาหยอกมาเล่นกันไม่ได้ ท่านจะดุทันที
 
ครูชาลีเริ่มรับราชการปี ๒๔๖๘ ในตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนประชาบาลบ้านตาด อำเภอเมือง อุดรธานี
๒๑ มีนาคม ๒๔๗๑ ครูประชาบาลโรงเรียนเสนาบำรุง (ปัจจุบันโรงเรียนค่ายประจักษ์ศิลปาคม) อำเภอเมือง อุดรธานี
๒๔๗๓ ครูใหญ่โรงเรียนเสนาบำรุง และโรงเรียนย้ายไปอยู่วัดโยธานิมิตรเป็นเวลา ๖ ปี
๑ มิถุนายน ๒๔๗๗ ครูใหญ่โรงเรียนบ้านบ่อน้อย อุดรธานี เป็นเวลา ๔ เดือน
๑ กันยายน ๒๔๗๗ ครูใหญ่โรงเรียนบ้านตาด อุดรธานี เป็นเวลา ๔ ปี
.. ๗ กรกฏาคม ๒๕๑๐ ลาออกก่อนเกษียณอายุราชการ
ด้านการศาสนา ปี ๒๔๖๖ คุณพ่อของครูชาลีได้ถวายที่ดินเพื่อสร้างวัดโยธานิมิตร นับจากนั้นครูชาลีได้ทะนุบำรุงวัดโยธานิมิตรเรื่อยมา หลังจากท่านพระอาจารย์มหาบัว บวชเป็นพระแล้ว ครูชาลีได้ไปกราบนมมัสการท่านพระอาจารย์มหาบัวอยู่เป็นเนืองนิจ
 
แม้ท่านจะจริงจังขนาดนั้น แต่อย่างไรก็ตามจะเป็นเฉพาะเวลางานเท่านั้น ถ้าเป็นช่วงปกติกันเองพี่ๆ น้องๆ ท่าน กลับชอบหยอกล้อน้องๆ เล่น ดังเหตุการณ์ในวันหนึ่ง
ตอนนั้นท่านมีอายุประมาณ ๑๘- ๑๙ ปี ขณะที่น้องๆ กำลังวิ่งเล่นกันอยู่นั้น ท่านก็คิดหาอุบายหยอกน้อง โดยเก็บมะละกอมา ขณะเดินผ่านน้องๆ ก็พูดขึ้นว่า
"จะยากอะไร ตำบักหุ่ง"
จากนั้นก็ขึ้นไปบนบ้าน แล้วก็ทำท่าตำส้มตำเสียงโขลกครกดัง โป๊กๆ ๆ อยู่ครู่หนึ่ง สักประเดี๋ยวก็เรียกน้องๆ ขึ้นไปกินส้มตำ
"กูตำแล้ว จะกินก็มาเด้อ กูตำแล้ว รีบมาๆ กูตำบักหุ่งเสร็จแล้ว มาเอาลงไปกิน"
ว่าดังนี้แล้วก็ทำท่าไปยืนอยู่ใกล้ๆ ครัวไฟ และไม่ยอมหันหน้ามาทางน้องๆ อีกด้วย จากนั้นก็เอาใบตองมาห่อส้มตำที่เพิ่งโขลกเสร็จแล้วก็วางไว้
น้องส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เพิ่งเล่นกันมาเหนื่อยๆ จึงต่างมุ่งมาที่ห่อส้มตำด้วยความดีใจว่าจะได้กินกัน พอคว้าได้ก็หัวเราะเริงร่าวิ่งลงมาข้างล่างเพื่อจะได้เปิดออกมากินพร้อมๆ กัน
พอเปิดห่อใบตองออกเท่านั้น ก็ได้ยินเสียงแหลมๆ ร้องประสานกันขึ้นทันทีว่า
"ว้าย เขียดตะปาด"
น้องๆ ผงะจาก "เขียดตะปาดตาโปนๆ " ในห่อด้วยกลัวว่ามันจะโดดออกมาเกาะ และต่างพากันวิ่งหนีไปคนละทิศละทาง วงส้มตำจึงล้มสลายไปโดยฉับพลัน ท่ามกลางเสียงหัวเราะงอหายตามมาอีกยกใหญ่ๆ
ความรักของพ่อ
เวลาที่พ่อพาลูกๆ เข้าไปในป่า พ่อจะคอยแนะคอยเตือนถึงวิธีการรักษาและป้องกันตัวจากภัยอันตรายรอบด้าน โดยเฉพาะพวกสิงสาราสัตว์ประเภทต่างๆ เช่นคราวหนึ่งพ่อพาลูกๆ ไปเก็บลูกเร่ว  (เป็นไม้ล้มลุก มีเหง้า คล้ายต้นข่า ผลใช้ทำยา) ที่ขึ้นอยู่ตามป่า เพราะขายได้ราคาดี ดังนี้
"... เวลาเข้าดง ระหว่างเดินไป ให้ใช้สายตาคอยสังเกตดูแถวๆ ขอนไม้นะ เสือมันมักจะหมอบอยู่ข้างๆ ขอน ถ้าเห็นมันให้รีบวิ่งมาหาพ่อนะ .. ก่อนจะเก็บลูกเร่ว ให้สังเกตดู สิ่งรอบข้างว่า มีงูมีสัตว์ร้ายหรือไม่ ถ้าไม่มีก็รีบเก็บลูกเร่วได้
ตอนเข้าในดงในป่าลึกๆ โน่น ให้มองดูต้นไม้ที่เด่นๆ สังเกตว่ากิ่งไม้มันยื่นไปทางทิศไหน ตะวันออกหรือตะวันตก ให้สังเกตทิศของดวงอาทิตย์ด้วย ให้จำไว้ เวลากลับจะได้ไม่หลงทาง…"
พ่อมักจะพาท่านไปตีผึ้งอยู่บ่อยๆ (โดยตอกทอยฝังเป็นขั้นๆ ไว้ในเนื้อไม้ จากนั้นก็ปีนขึ้นไปเอารังผึ้ง) บางครั้งก็เอาน้องของท่านไปด้วย ในคราวที่พาลูกไปพ่อจะบอกหนทางไปกลับให้ลูกรู้จักหมดและจำให้ได้
เรื่องนี้น้องๆ ของท่านเคยเล่าไว้ว่า
"…พ่อพาท่านไปตีผึ้งบ่อยๆ บางที ก็เอาน้องไปด้วย พ่อจะบอกทางหมดว่าทางนี้ไปนั้น ทางนั้นจะไปนั้น ส่วนลูกมักกลัวเสือจึงต้องได้เหลียวดูอยู่ตลอด
ถ้าไปเอาผึ้งพุ่ม (ผึ้งโพรง)... เมื่อไปถึงทางแยก พ่อจะบอกว่า
‘ทางเส้นนี้ไปหนองปากด่านนะ ออกบ้านคำกลิ้งนะ ไปทางนี้ไปเข้าดงใหญ่ดงหลวงไปได้เตลิดเลยนะ ถ้าไปทางที่เรามานี้จะคืนกลับบ้านเรานะ’
ท่านบอกไว้หมด พาไปไหนก็จะบอกไว้หมดเรื่องหนทาง .. พ่อคงจะคิดเผื่อไว้ว่า หากปีนพลาดพลัดตกต้นไม้ตาย ลูกก็จะไม่รู้หนทางคืนกลับบ้านได้ จึงต้องบอกกันไว้ก่อน .. พ่อเป็นคนปีนขึ้นไปตีผึ้ง ปีนเก่ง เป็นทั้งพราน เป็นทั้งหมอผึ้งด้วย…"
ในสมัยก่อนยังไม่มีธนาคาร เวลามีเงินมีทอง เขามักจะเอาไปฝังดินไว้ พ่อของท่านบางทีเวลาไปดงไปป่าก็จะเอาเงินไปด้วยทีละชั่ง แม้เข้าป่าล่าสัตว์ก็เอาติดตัวไปด้วย เวลาลงอาบน้ำในหนอง ก็จะเอาเงินไปซ่อนไว้ในพุ่มไม้ก่อน
การที่พ่อต้องเก็บต้องหา ต้องระแวดระวังทรัพย์สมบัติดังกล่าว ก็ด้วยเหตุผลที่พ่อเคยบอกลูกๆ ว่า
"โอ๊ย… สาธุ พ่อทำอะไรก็หาไว้เผื่อลูกเผื่อเต้าทั้งนั้นแหละ ตัวเองไม่รู้ว่าจะได้อยู่ได้กินยังไงก็ช่างไม่ว่า ขอแต่ให้ลูกได้อยู่ได้กินมีความสุขก็พอ"
Thailand Web Stat